เล่มที่ 9
เวชศาสตร์ฟื้นฟู
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            การแพทย์สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศไทย เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจาก มีทหารจำนวนมาก ได้รับบาดเจ็บ พิการ แขนขาด้วน ไม่สามารถช่วยตนเองได้ พลตรี นายแพทย์ขุนประทุมโรคประหาร ซึ่งขณะนั้น รับราชการอยู่ในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ประดิษฐ์แขนขาเทียมให้แก่ทหาร และมีการฝึกออกกำลัง เพื่อให้กล้ามเนื้อ ที่บาดเจ็บ กลับแข็งแรงใช้งานได้ดีขึ้น

ห้องกายภาพบำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

            พ.ศ. ๒๔๙๐ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฟื่อง สัตย์สงวน ได้เริ่มต้นให้การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู โดยใช้เครื่องมือ อบด้วยไฟฟ้า กับผู้ป่วยที่มีการอักเสบของข้อกล้ามเนื้อและเอ็น ตลอดจนทำแขนขาเทียมสำหรับผู้ป่วยที่ถูกผ่าตัดแขนขาทิ้ง

            พ.ศ. ๒๔๙๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซื้อเครื่องมือรักษาผู้ป่วยโรคโปลิโอ และเครื่องมือรักษาการอักเสบต่างๆ โดยใช้คลื่นเสียง

ห้องกายภาพบำบัด โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

            พ.ศ. ๒๕๐๘ เริ่มตั้งโรงเรียนกายภาพบำบัด คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และต่อมา มีการก่อตั้งหน่วยกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลอื่นๆ ด้วย มีแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด และเจ้าหน้าที่ต่างๆ ทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยพิการ ได้มีโอกาสฟื้นฟู ความสามารถของร่างกาย และมีสุขภาพจิตที่ดี

            การแพทย์สาขานี้ สามารถนำมาฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย แก่ผู้ป่วยกระดูกหัก ผู้ป่วยข้ออักเสบ ผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยที่นอนอยู่นานๆ ผู้ป่วยโปลิโอ โดยใช้การออกกำลัง ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง และช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานดีขึ้น การนวด การดึง และการดัด เพื่อลดการบวม ลดความเจ็บปวด ทำให้บริเวณที่ติดยึด สามารถเคลื่อนไหวได้ดีกว่าเดิม และอาจใช้วิธีการรักษา ด้วยความร้อน และความเย็น เพื่อทำให้หายเร็วขึ้น หรืออาจบำบัดรักษา ด้วยกระแสไฟฟ้า เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ไม่ทำงาน ลีบช้าลง และทำให้โลหิต และน้ำเหลือง ไหลเวียนดีขึ้น นอกจากนั้น ยังมีการทำมือเทียม ขาเทียม และการบำบัดรักษาสุขภาพจิตแก่ผู้ป่วยพิการด้วย