เล่มที่ 27
เทคนิคการผลิต ไม้ผลนอกฤดู
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ถ้าเราเดินไปในตลาด เราจะพบแผงจำหน่ายผลไม้หลายชนิดที่มีสีสวย และจัดวางไว้อย่างดึงดูดใจให้ซื้อมาลองชิม ผลไม้ที่มีวางจำหน่ายตลอดปี คือ กล้วย มะละกอ แต่บางฤดูจะมีส้ม ลำไย เงาะ มังคุด ทุเรียน ลางสาด มะม่วง วางจำหน่ายสลับช่วงเวลากันตลอดปี


เมื่อถึงหน้าลำไย มีลำไยหลายพันธุ์วางจำหน่ายเต็มตลาด มีราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ ทุเรียนที่ปกติมีราคาแพงมาก พอถึงหน้าทุเรียน ชาวสวนก็ขนทุเรียนมาจำหน่ายดาษดื่นไปหมด ทุเรียนมีราคาถูกจนชาวสวนขาดทุน


ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น นักวิชาการเกษตรจึงคิดค้นเทคนิคการผลิตไม้ผลนอกฤดู โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของต้นไม้ และความรู้ทางเทคโนโลยี ทำให้ไม้ผลผลิดอกออกผลนอกฤดูกาล เพื่อสร้างรายได้ที่ดีให้แก่ชาวสวน และประชาชนได้รับประทานผลไม้ที่ต้องการนอกฤดู ยิ่งไปกว่านั้น ยังช่วยส่งเสริมการจำหน่ายผลไม้ออกสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างสม่ำเสมอ

ไม้ผลมีพฤติกรรมการออกดอก และผลิตผลในฤดูกาลไม่เหมือนกัน บางชนิดผลิตผลทั้งปี เช่น กล้วย มะละกอ มะพร้าว ฯลฯ แต่บางชนิดผลิตผลในบางช่วงของปี และมากกว่าปีละ ๑ ครั้ง เพราะชาวสวนสามารถบังคับให้ออกดอกในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ เช่น องุ่น ส้ม เป็นต้น ไม้ผลหลายชนิดผลิตผลเพียงปีละ ๑ ครั้ง ในฤดูกาลที่จำเพาะ เช่น ทุเรียน มังคุด ลางสาด ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วงส่วนใหญ่ เป็นต้น ดังนั้น ถ้าต้องการผลิตผลนอกฤดูกาล ชาวสวนต้องควบคุมการออกดอก และการผลิตผลของต้นไม้ประเภทนั้นๆ


การออกดอกของไม้ผล

สิ่งที่ควบคุมการออกดอกของไม้ผล มี ๒ ประการ คือ ปัจจัยภายใน ได้แก่ อายุของต้นไม้ สายพันธุ์ และสารเคมี ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต ส่วนอีกประการหนึ่งคือ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้นในดิน ปริมาณแสง เป็นต้น

การควบคุมปัจจัยภายใน

๑. อายุการผลิตผล

ไม้ผลที่ชาวสวนขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดนั้น ใช้เวลานานกว่าจะเติบโตออกดอกครั้งแรก เช่น มังคุด อาจต้องรอเวลาถึง ๑๐ ปี แต่ถ้าขยายพันธุ์โดยติดตา ทาบกิ่ง เวลาการเติบโต และผลิดอกออกผลจะเร็วขึ้น เช่น มะม่วงที่ตามปกติต้องรอให้เติบโตถึง ๖ ปี ก็เหลือเพียง ๒ - ๓ ปีเท่านั้น ยิ่งถ้าใช้สารเร่งบางชนิด เพียงกิ่งเล็กๆก็มีดอกและติดผลแล้ว


๒. สายพันธุ์

ไม้ผลแต่ละชนิดมีหลากหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ออกดอกติดผลช้า บางสายพันธุ์ก็ออกดอกเร็ว เช่น มะม่วงมีมากกว่า ๒๐๐ สายพันธุ์ ที่รู้จักแพร่หลาย คือ มะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงแก้ว มะม่วงอกร่อง มะม่วงเขียวเสวย และมะม่วงแรด ต้นมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ จะออกดอกได้ง่ายกว่ามะม่วงเขียวเสวย ผลมีรูปทรงสวยงาม เมื่อสุกมีผิวสวย และมีรสชาติหวานอมเปรี้ยวนิดๆ ดังนั้น มะม่วงน้ำดอกไม้จึงเป็นผลไม้ที่ชาวสวนนิยมปลูก เพื่อเป็นสินค้าส่งออก และได้มีการคัดเลือกสายพันธุ์อย่างดี

๓. สารฮอร์โมนพืช

สารเคมี หรือฮอร์โมนพืชบางชนิด มีผลเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต และการออกดอกของไม้ผล บางชนิดกระตุ้นให้ต้นไม้เติบโต และออกดอกเร็ว และบางชนิดไปกระตุ้นกิ่งใบให้งาม แต่ไม่ออกดอก ชาวสวนจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับสารเหล่านี้ และสามารถใช้เร่งดอกอย่างได้ผล


การทาบกิ่ง

การควบคุมปัจจัยภายนอก

แม้ว่าชาวสวนได้เลือกพันธุ์ไม้ และใส่สารฮอร์โมนพืช เพื่อควบคุมการออกดอกแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะต้องควบคุมปัจจัยภายนอก ที่เป็นสภาพแวดล้อมของไม้ผลนั้นด้วย ปัจจัยภายนอกได้แก่

๑. อุณหภูมิ

อากาศร้อน หนาวเย็น อบอุ่น มีผลต่อการออกดอกของไม้ผล ต้นไม้ที่ขึ้นในเขตร้อน ถ้าผ่านฤดูหนาว ซึ่งไม่จำเป็นต้องหนาวจัดมาช่วงเวลาหนึ่ง พออากาศอุ่นขึ้น ต้นไม้จะเริ่มออกดอกทันที แต่ไม้ผลในเขตหนาว เช่น แอปเปิล สาลี่ ต้องผ่านฤดูหนาวจัด อุณหภูมิต่ำมากๆ อาจถึงจุดเยือกแข็ง พอเข้าฤดูใบไม้ผลิ อากาศอุ่นขึ้น ต้นไม้ก็จะออกดอกสะพรั่ง


การติดตา

๒. น้ำ

น้ำส่งผลให้ดินมีความชุ่มชื้น ถ้าชาวสวนรดน้ำต้นไม้ประเภทไม้ผลมากเกินไป ต้นไม้จะแตกกิ่งใบมาก แต่ไม่มีดอก ชาวบ้านเรียกกันว่า บ้าใบ ไม้ผลเขตร้อนจึงออกดอกได้ดีเมื่อขาดน้ำ และมีอุณหภูมิต่ำในช่วงเวลาหนึ่งที่เหมาะสม ชาวสวนจึงงดให้น้ำในช่วงเวลาปลายฤดูฝน พอย่างเข้าฤดูหนาวที่แล้ง ต้นไม้จึงออกดอกมาก การงดน้ำเพียงช่วงเวลาหนึ่ง จึงเป็นเทคนิคเร่งให้ไม้ผลออกดอกได้ดี

๓. แสง

ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปจะมีผลต่อช่วงเวลากลางวัน และกลางคืนในแต่ละเขต ด้านภูมิศาสตร์ ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน ฤดูร้อนจึงมีช่วงเวลากลางวันยาว หรือได้รับแสงสว่างยาวนาน พืชบางชนิดจึงออกดอก เราเรียกพืชประเภทนี้ว่า พืชวันยาว ส่วนพืชที่ออกดอกได้ แม้พื้นที่นั้นมีช่วงเวลากลางวันไม่นานนักเรียกว่า พืชวันสั้น ดังนั้น ถ้าจะควบคุม และกระตุ้นให้ต้นไม้ออกดอก จึงต้องควบคุมจำนวนชั่วโมงที่ต้นไม้ได้รับแสงเต็มที่