เล่มที่ 27
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ปัจจุบันการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมบริการที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก รวมทั้งประเทศไทยด้วย และได้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งวิธีการจัดการการท่องเที่ยว ให้ขยายตัวมากขึ้นตามลำดับ


การนั่งช้างเที่ยวชมธรรมชาติเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว

            ถึงแม้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จะให้ผลดีทางด้านเศรษฐกิจ แต่ก็ก่อให้เกิดผลกระทบ ในทางลบได้มาก หากไม่ระมัดระวัง ผลกระทบในทางลบที่สำคัญมากมี ๒ ประการคือ ประการแรก ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ในแหล่งท่องเที่ยว และประการที่ ๒ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชุมชน ในท้องถิ่น ที่มีแหล่งท่องเที่ยวตั้งอยู่

            ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น นักท่องเที่ยวไม่ช่วยกันระมัดระวังรักษาสิ่งแวดล้อม มีการทิ้งขยะเกลื่อนกลาดไม่เป็นที่เป็นทาง เด็ดหรือทำลายพืชพรรณไม้ ขีดเขียนตามผนังถ้ำหรือโขดหินให้เกิดความสกปรก ทำลายปะการังใต้น้ำ โรงแรมปล่อยน้ำเสียลงในแหล่งน้ำ รวมทั้งมีการปลูกสร้างอาคารที่ไม่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม สกปรกรกรุงรัง หรือรุกล้ำที่สาธารณะ


การเก็บขยะใต้น้ำเป็นการช่วยดูแลทรัพยากรการท่องเที่ยวใต้ทะเลมิให้เกิดความเสื่อมโทรม

            ความเดือดร้อนที่ชุมชนในท้องถิ่น อาจได้รับจากการท่องเที่ยว ได้แก่ ความไม่สะดวกต่างๆ อันเนื่องมาจาก นักท่องเที่ยวเดินทางมาเป็นจำนวนมาก เช่น ปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาเสียงรบกวน และปัญหาค่าครองชีพในท้องถิ่นสูงขึ้น

            ได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีผลกระทบในทางลบน้อยที่สุด โดยให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และช่วยกันอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวให้คงสภาพที่ดีต่อไปนานๆ ในขณะเดียวกันก็ให้ชุมชนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว ร่วมกับหน่วยงานทั้งของรัฐ และของเอกชน เพื่อจะได้ดูแลทรัพยากรการท่องเที่ยวในท้องถิ่นของตนอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จากการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในด้านต่างๆ ด้วย แนวคิดนี้เป็นที่มาของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งได้เริ่มแพร่หลายไปในประเทศต่างๆ นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นต้นมา และองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ พ.ศ. ๒๕๔๕ (ค.ศ. ๒๐๐๒) เป็นปีสากลแห่งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วย


การพัฒนาการท่องเที่ยวควรดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่ดีด้วย

การพัฒนาการท่องเที่ยวควรดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่ดีด้วย

            การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หมายถึง การท่องเที่ยวที่มีผลต่อเนื่องไปในระยะเวลายาวนาน มีจุดเน้นที่สำคัญคือ จะต้องดูแลทรัพยากรการท่องเที่ยว ให้ใช้ประโยชน์ได้ต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน มิใช่เพียงเพื่อคนในรุ่นปัจจุบันเท่านั้น และต้องให้มีการร่วมมือกันทุกระดับ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภาค และระดับท้องถิ่น ในการวางแผนการพัฒนาและการจัดการการท่องเที่ยวร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ชุมชนในท้องถิ่น ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากทรัพยากรการท่องเที่ยวในท้องถิ่นของตนอย่างเป็นธรรมด้วย


การท่องเที่ยวเชิงนิวศที่มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเรียนรู้วัฒนธรรมในท้องถิ่น

            ส่วนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หมายถึง การท่องเที่ยว ที่มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป โดยการกระตุ้น ให้นักท่องเที่ยวช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม และตระหนัก ในคุณค่าของมรดกทางธรรมชาติ และทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น ร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น

            จากหลักการสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ๒ ประการดังกล่าว เชื่อว่าเป็นแนวทางที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เจริญเติบโตต่อไปได้ในอนาคต โดยลดผลกระทบในทางลบให้เหลือน้อยลง ปัจจุบันได้มีรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศปรากฏให้เห็นแล้วในหลายพื้นที่ของประเทศไทย และคงจะขยายตัวมากยิ่งขึ้นในระยะเวลาต่อไป