เล่มที่ 13
ธนาคาร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธนาคารกลาง เป็นสถาบันการเงิน ที่มีบทบาทสำคัญมากในระบบเศรษฐกิจ และการเงินของประเทศ เพราะเป็น ธนาคารกลางของประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน้าที่หลัก ในการควบคุมดูแลระบบการเงินของประเทศ ให้ดำเนินไปอย่างเรียบร้อยเหมาะสม และมีระเบียบ ทำให้ภาวะการเงินของประเทศอยู่ในภาวะสมดุล ไม่ปล่อยให้ปริมาณเงินหมุนเวียนมาก หรือน้อยจนเกินไป การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย มิได้มุ่งหวังกำไรดังเช่นสถาบันการเงินอื่น และไม่รับฝากเงิน หรือให้กู้ยืมเงินกับประชาชนทั่วไป
ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานใหญ่
ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานใหญ่
ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๘๕ โดยได้รับเงินจากรัฐบาลเป็นทุนเริ่มแรกจำนวน ๒๐ ล้านบาท การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการธนาคารแห่งประเทศไทย ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดเกี่ยวกับกิจการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพึงกระทำ กิจการที่ห้ามกระทำในฐานะที่เป็นธนาคารกลางของประเทศ ผู้บริหารสูงสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลการดำเนินงานโดยทั่วไปของธนาคาร ให้เป็นไปตามกฎหมาย ผลการดำเนินงานสุทธิในแต่ละปี ของธนาคาร เมื่อกันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินสำรอง สำหรับงานของธนาคารเองแล้ว ส่วนที่เหลือจะนำส่งเป็นรายได้ของรัฐบาลทุกปี
ห้องมั่นคงสำหรับเก็บธนบัตรเมื่อพิมพ์เสร็จแล้ว
ธนาคารแห่งประเทศไทยสาขาภาคเหนือ จังหวัดลำปาง
ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร และมีสาขาในส่วนภูมิภาคอีก ๓ แห่ง คือ สาขาภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และสาขาภาคเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ในจังหวัดอื่นๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีสาขาเปิดทำการอยู่ ธนาคารพาณิชย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง อาจจะติดต่อกับคลังจังหวัด หรือคลังอำเภอได้ ในฐานะผู้แทน ของธนาคารแห่งประเทศไทยในท้องถิ่นนั้นๆ นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร เพื่อพิมพ์ธนบัตรออกใช้เอง ทำให้ไม่ต้องสั่งพิมพ์จากต่างประเทศ ดังเช่นที่เคยทำมาในสมัยก่อน

ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกภายใต้พระราช บัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๘๕ กำหนดประเภทธุรกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทย อันเป็นธนาคารกลางพึงกระทำ ๒ ประการ คือ

๑. การออกธนบัตรและการพิมพ์ธนบัตร
๒. การเป็นธนาคารของรัฐบาลและของ\ธนาคารพาณิชย์

การออกธนบัตรและการพิมพ์ธนบัตร

รัฐบาลไทยได้จ้างบริษัทโทมัส เดอ ลา รู ของอังกฤษพิมพ์ธนบัตรไทย และเริ่มนำธนบัตรออกใช้อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๕ และได้หันมาพิมพ์เองในประเทศ และให้ญี่ปุ่นจัดพิมพ์ให้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นได้ยาตราทัพเข้ามาในประเทศไทย หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ บริษัทโทมัส เดอ ลา รู ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถกลับมาพิมพ์ธนบัตรให้ประเทศไทยได้ รัฐบาลได้ว่าจ้างบริษัททิวดอร์ของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้จัดพิมพ์ให้ จนถึง พ.ศ.๒๔๙๐ ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งรับหน้าที่ในการจัดพิมพ์ธนบัตรของรัฐบาล จึงได้หวนกลับไปว่าจ้างบริษัทโทมัส เดอ ลา รู ของอังกฤษ จัดพิมพ์ธนบัตรไทยอีกครั้ง จนกระทั่งมีการตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นในประเทศไทย ในปี พ.ศ.๒๕๑๒ จึงได้เริ่มพิมพ์ธนบัตรเองในประเทศสืบมาจนทุกวันนี้

ธนบัตรแบบหนึ่ง รุ่น ๒ ด้านหน้า ชนิดราคา ๕๐ บาท (แก้ไขจากธนบัตร ชนิดราคา ๑ บาท) กว้าง ๑๐.๕ เซนติเมตร ยาว ๑๖.๕เซนติเมตร ออกใช้ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕)

การออกธนบัตรจะต้องเป็นไปตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อให้ธนบัตรเป็นที่เชื่อถือของประชนชน นั่นคือ เป็นไปตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติเงินตรา

ธนบัตรแบบหก ชนิดราคา ๒๐ บาท ด้านหน้าใช้รูปพานรัฐธรรมนูญเป็นลายน้ำ (ในวงกลมสีขาว)
ออกใช้เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
ตามพระราชบัญญัติเงินตรา ธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำธนบัตรออกใช้ได้ใน ๒ กรณี คือ

๑. แลกกับธนบัตรชำรุด
๒. แลกกับสินทรัพย์ในจำนวนที่เท่ากัน สินทรัพย์จำนวนนี้หมายถึง ทองคำ เงินตราต่างประเทศ หลักทรัพย์ต่างประเทศ หลักทรัพย์รัฐบาลไท ยและหลักทรัพย์อื่น จำนวนสินทรัพย์ทั้งหมดส่วนที่เป็นทองคำ เงินตราต่างประเทศ และหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมด จะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐ ของธนบัตรที่นำออกใช้ทั้งสิ้น

ธนบัตรที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำออกใช้ เป็นธนบัตรของรัฐบาลมีคำว่า รัฐบาลไทย อยู่บนธนบัตร ตามกฎหมายตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถออกธนบัตรของตนเองได้ เรียกว่า บัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทยออกบัตรธนาคารครั้งแรก เป็นธนบัตรฉบับละ ๖๐ บาท ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ และออกในโอกาสพิเศษ คือ ในโอกาสมหามงคลเฉบิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ บุคคลทั่วไปจึงไม่นำออกใช้ ส่วนธนบัตรชนิดราคาอื่นๆ ยังเป็นธนบัตรของรัฐบาลเช่นเดิม

บัตรธนาคารชนิดราคา ๖๐ บาท ด้านหน้า กว้างและยาวด้านละ ๑๕.๙ เซนติเมตรบัตรธนาคารชนิดราคา ๖๐ บาท ด้านหน้า กว้างและยาวด้านละ ๑๕.๙ เซนติเมตร

การเป็นธนาคารของรัฐบาลและของธนาคารพาณิชย์

ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะที่เป็นนายธนาคารให้รัฐบาล ให้บริการรับฝากเงินจากกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากการชำระค่าภาษี และเงินกู้ยืม มาฝากเข้าบัญชีรอไว้ สำหรับใช้จ่าย นอกจากนั้นยังบริการรับฝากเงิน จากหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ และให้รัฐบาลกู้เงิน เพื่อชดเชย เมื่อรายจ่ายของรัฐบาลสูงกว่ารายรับ ซึ่งเรียกว่า การขาดดุลงบประมาณแผ่นดิน
ธนบัตรชำรุด
ธนบัตรชำรุด
ธนาคารแห่งประเทศไทยให้บริการแก่ธนาคารพาณิชย์ในด้านการรับฝากเงิน การให้กู้ยืมเงิน และให้บริการอื่นๆ ในลักษณะเดียวกับที่ธนาคารพาณิชย์ให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคารเอง ดังนี้

๑. การรับฝากเงินจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ

ธนาคารพาณิชย์จะมีบัญชีเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อใช้ในการหักบัญชีชำระหนี้สินระหว่างธนาคาร และมีจำนวนเงินเหลืออยู่ในบัญชีเงินฝากจำนวนหนึ่ง ตามข้อกำหนดของกฎหมาย

เหรียญเงินบาทชนิดราคาต่าง ๆ ออกใช้หมุนเวียนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๙เหรียญเงินบาทชนิดราคาต่างๆ ออกใช้หมุนเวียนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๙

๒. การให้กู้ยืมเงินแก่ธนาคารพาณิชย์

และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์โดยมีพันธบัตรรัฐบาล ที่ธนาคารพาณิชย์ถืออยู่วางเป็นประกันการชำระเงินกู้ และการให้กู้ยืม โดยรับช่วงซื้อลดตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่เกิดจากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น การส่งออก อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และเหมืองแร่ เท่ากับเป็นการให้กู้ยืมแก่ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว โดยผ่านธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีวิธีการให้กู้ยืมเงินวิธีอื่นแก่ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่นๆ ตามความเหมาะสม เป็นครั้งคราวไป
ตั๋วสัญญาใช้เงิน
ตั๋วสัญญาใช้เงิน
ในระยะไม่นานมานี้ คือ ในช่วง พ.ศ. ๒๕๒๒ - ๒๕๒๕ เป็นต้นมา ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มให้บริการรับฝากเงิน และให้กู้ยืมเงิน แก่บริษัทเงินทุนเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการให้บริการแก่ส่วนราชการ และธนาคารพาณิชย์ ตามที่ปฏิบัติมา ตั้งแต่แรกตั้งธนาคาร
นอกจากการรับฝากเงิน และให้กู้ยืมเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีบริการอื่นอีก คือ การจัดตั้งสำนักหักบัญชี เพื่อเป็นศูนย์กลาง ในการที่ธนาคารต่างๆ จะนำเช็ค (cheque) ดราฟต์ (draft) และตราสารอื่นใดที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงิน เมื่อทวงถาม หรือครบกำหนด มาแลกเปลี่ยน และหักบัญชีกัน
เช็ค
เช็ค
นอกจากหน้าที่ที่ระบุไว้ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีหน้าที่อื่น ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง ที่สำคัญคือ ให้เป็นผู้ดูแล และตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ การควบคุม และตรวจสอบมีวัตถุประสงค์หลัก คือ พยายามดูแลแทนผู้ฝากเงิน ที่นำเงินไปฝากไว้กับสถาบันการเงินดังกล่าวว่า สถาบันการเงินนั้น ได้นำเงินไปจัดการผลประโยชน์อย่างรัดกุม และมีฐานะการดำเนินงานที่มั่นคง ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ที่อาจจะส่งผล ทำให้ผู้ฝากไม่ได้รับเงินฝากคืน