เล่มที่ 2
บรรยากาศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            อุตุนิยมวิทยา คือ วิทยาศาสตร์ของบรรยากาศ และปรากฏการณ์ต่างๆ ของอากาศ เช่น ฝน พายุ ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ เป็นต้น อุตุนิยมวิทยาเป็นวิชาสาขาหนึ่งของวิชาภูมิฟิสิกส์ (geophysics) การศึกษาอุตุนิยมวิทยาต้องอาศัยวิชาคำนวณฟิสิกส์ และข้อมูลที่ได้จากการตรวจอากาศตามระดับต่างๆ บนพื้นดิน และตามบริเวณต่างๆ ของโลก

            อุตุนิยมวิทยา แบ่งออกเป็นสาขาใหญ่ๆ ได้ดังต่อไปนี้คือ
  • อุตุนิยมวิทยาไดนามิก (dynamic meteorology)
  • อุตุนิยมวิทยาแผนที่อากาศ (synoptic meteorology)
  • ภูมิอากาศ (climatology)
อุตุนิยมวิทยาไดนามิกและอุตุนิยมวิทยาแผนที่อากาศ

            การศึกษาอุตุนิยมวิทยาไดนามิก และอุตุนิยมวิทยาแผนที่อากาศเป็นการศึกษาปรากฏการณ์ หรือลักษณะอากาศปัจจุบัน หรือในระยะเวลาใกล้ๆ ซึ่งเรียกว่า "กาลอากาศ" (weather) ในการศึกษาอุตุนิยมวิทยาไดนามิก ต้องอาศัยการศึกษากฎ และทฤษฎีกลศาสตร์ของของเหลว (fluid mechanics of hydrodynamic) เพื่อที่จะนำมาอธิบายพฤติการณ์ของบรรยากาศในขณะนั้น และเพื่อการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า ส่วนการศึกษาอุตุนิยมวิทยาแผนที่อากาศนั้นอาศัยการศึกษาข้อมูลตรวจอากาศจากบริเวณกว้างๆ เพื่อที่จะทราบสภาวะของบรรยากาศและเพื่อการพยากรณ์อากาศล่วงหน้าเช่นกัน หรืออาจกล่าวได้ว่าอุตุนิยมวิทยาไดนามิก เป็นการศึกษาด้านทฤษฎี ส่วนอุตุนิยมวิทยาแผนที่อากาศเป็นการศึกษาลักษณะของอากาศในปัจจุบัน หรือประจำวัน ซึ่งเรียกว่า "กาลอากาศ"

ภูมิอากาศ

            ภูมิอากาศ หมายถึง การศึกษาสภาพของบรรยากาศ ลมฟ้าอากาศ หรืออากาศประจำถิ่นของบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เพื่อที่จะนำไปช่วยในการพยากรณ์อากาศ และนำไปใช้เป็นประโยชน์ในกิจการต่างๆ จากคำอธิบายนี้ จะเห็นได้ว่า ภูมิอากาศก็คือ ผลเฉลี่ยระยะยาวของอุณหภูมิ ฝน ลม และสารประกอบอุตุนิยมวิทยาอื่นๆ ของกาลอากาศนั่นเอง หรืออาจจะกล่าวได้ว่า กาลอากาศ คือ พฤติการณ์หรือปรากฏการณ์ของกาลอากาศปัจจุบัน ส่วนภูมิอากาศเป็นผลเฉลี่ยของกาลอากาศในระยะยาว (ตามธรรมดาตั้งแต่ ๓๐ หรือ ๓๕ ปีขึ้นไป) ตัวอย่างเช่น วันนี้ กาลอากาศของกรุงเทพมหานครมีฝนตก ส่วนกรุงเทพมหานครนั้น อยู่ในภูมิอากาศของโซนร้อนและชื้น เป็นต้น

ทำไมเราจึงต้องศึกษาอุตุนิยมวิทยา

            อากาศซึ่งหุ้มห่อโลกของเราเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งอย่างหนึ่งสำหรับการดำรงชีวิต เพราะมนุษย์จำเป็นต้องใช้อากาศสำหรับหายใจจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ นอกจากนี้ธุรกิจประจำวันเกือบทุกๆ อย่างของมนุษย์ย่อมขึ้นอยู่กับภาวะของอากาศเสมอ ในธุรกิจบางอย่างภาวะของอากาศมีส่วนข้องอยู่ด้วยเพียงเล็กน้อย แต่ในธุรกิจบางอย่าง ภาวะของอากาศมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่มาก บางครั้งอากาศอาจจะทำให้เกิดภัยอันตรายและความเสียหายได้มาก หรืออาจจะทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ฉะนั้นไม่ว่าเราจะประกอบอาชีพอะไร อากาศย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชีพนั้นเสมอไม่มากก็น้อย เช่น

            ถ้าเราเป็นเกษตรกร เราย่อมอยากจะทราบว่า ดินฟ้าอากาศในบริเวณนั้นๆ เป็นอย่างไร มีฝนมากน้อยเพียงใด การกระจายของฝนตกเป็นอย่างใด และพืชที่เราจะทำการเพาะปลูกนั้น เหมาะสมกับสภาวะของอากาศในบริเวณนั้นหรือไม่

            ถ้าเราทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบิน เราย่อมต้องการทราบสภาวะของอากาศในขณะที่จะออกบิน เพราะความปลอดภัยในการเดินทาง ขึ้นอยู่กับสภาวะของอากาศด้วย บริการอุตุนิยมวิทยาสำหรับการบินจึงมีไว้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร และอีกประการหนึ่งเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินอากาศ ข่าวอุตุนิยมวิทยานั้นมีประโยชน์ต่อการบินหลายอย่าง นับตั้งแต่การวางแผนการบินสำหรับระยะทางไกลจนถึงการให้คำแนะนำชี้แจงลักษณะอากาศแก่นักบินทุกๆ ครั้งที่บิน สำหรับการบินระหว่างประเทศ หน่วยอุตุนิยมมีบริการข่าวอากาศ ซึ่งจัดทำเป็นแผนที่และภาพต่างๆ พร้อมด้วยคำอธิบายชี้แจงและแนะนำอย่างย่อๆ เพื่อให้ความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่และนักบิน เพราะในการพิจารณาถึงสภาวะอากาศสำหรับเส้นทางบินนั้น สารประกอบอุตุนิยมวิทยา เช่นอุณหภูมิ ทิศ และความเร็วลม ทัศนวิสัย ความสูงของฐานเมฆ ความปั่นป่วนของอากาศ เหล่านี้มีผลกระทบกระเทือนต่อประสิทธิภาพของเครื่องบิน บางครั้งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตหรือทำให้ทรัพย์สินเสียหายได้อย่างมาก

ภาวะอากาศเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ทุกด้าน
            การดำเนินกิจการของโครงการอวกาศก็เช่นกันต้องอาศัยการพยากรณ์อากาศอย่างแม่นยำ เพราะการที่จะส่งจรวดขึ้นไปต้องอาศัยลักษณะอากาศที่ดี ไม่มีพายุแรงหรือฝน และการที่นักบินอวกาศจะกลับลงมายังพื้นดินได้เจ้าหน้าที่ของศูนย์อวกาศบนพื้นดิน ต้องเตรียมหาบริเวณพื้นที่ที่อากาศดี ไม่มีฝน ไม่มีพายุรุนแรง มิฉะนั้นอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตของนักบินอวกาศได้
            ในบางครั้งลักษณะอากาศที่เลวร้ายได้นำผลเสียหายมาสู่ประเทศชาติต่างๆ ได้เสมอ เช่น พายุไต้ฝุ่น เป็นต้น เมื่อพายุไต้ฝุ่นนี้ผ่านไปในบริเวณใด อาจะทำให้ประชาชนในบริเวณนั้นเสียชีวิตเป็นจำนวนร้อย และทรัพย์สมบัติเสียหายเป็นเงินหลายร้อยล้านบาทได้ เช่น เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ พายุไซโคลนพัดเข้าประเทศบังคลาเทศ ทำให้ประชาชนตายประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ คน