บรรยากาศทำหน้าที่เป็นร่มกำบัง
นอกจากความสำคัญหลายประการของอากาศ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว บรรยากาศยังทำหน้าที่เป็นร่ม บังรังสีที่ร้อนแรงจากดวงอาทิตย์ โดยบรรยากาศชั้นสูงได้ดูดรังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) ไว้เกือบหมด รังสีคลื่นสั้นนี้เป็นอันตรายต่อพืช และผิวหนังของมนุษย์ ยิ่งกว่านั้นในเวลากลางคืน บรรยากาศ ซึ่งมีไอน้ำอยู่ด้วย ยังทำหน้าที่เป็นร่ม หรือหลังคากั้นความร้อน ซึ่งจะหนีออกไปจากโลกได้ด้วย ถ้าหากว่าไม่มีบรรยากาศแล้วอุณหภูมิของโลกคงคล้ายอุณหภูมิของดวงจันทร์ คือ ในเวลากลางวันอุณหภูมิสูงสุดของโลกอาจจะพุ่งขึ้นสูงกว่า ๑๐๐ องศาเซลเซียส* และในเวลากลางคืนอุณหภูมิต่ำสุดของโลกจะดิ่งลงต่ำถึง -๑๘๐ องศาเซลเซียส ในลักษณะเช่นนี้บรรยากาศจึงทำหน้าที่คล้ายกับเรือนกระจก ที่ใช้ปลูกต้นไม้เมืองร้อนในเขตหนาว คือ เรือนกระจกยอมให้รังสีคลื่นสั้นจากดวงอาทิตย์ผ่านเข้ามาได้ แต่จะกั้นความร้อนของโลกซึ่งเป็นรังสีคลื่นยาวไม่ให้ออกไปจากเรือนกระจก ฉะนั้น ภายในเรือนกระจกจึงอบอุ่นอยู่เสมอ สามารถทำให้ต้นไม้เมืองร้อน เติบโตในเขตหนาวได้
นอกจากนี้แล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า บรรยากาศยังทำหน้าที่เป็นตะแกรงใส หรือเครื่องรับการตกของอุกกาบาต แล้วทำให้อุกกาบาตเกิดการเผาไหม้ด้วย ในวันหนึ่งๆ อาจจะมีผงอุกกาบาตตกมายังโลกได้ถึง ๑๐๐ ล้านเม็ด อุกกาบาตนี้มีตั้งแต่เม็ดเล็กมากๆ จนถึงขนาดใหญ่ แต่ส่วนมากอุกกาบาตเหล่านี้ จะถูกเผาไหม้หมดไป ด้วยความร้อน ซึ่งเกิดจากการเสียดสีกับบรรยากาศ
กลจักรบรรยากาศ
ดวงอาทิตย์ โลก บรรยากาศ และไอน้ำ ทั้ง ๔ สิ่งนี้ เป็นองค์ประกอบใหญ่ของกลจักรบรรยากาศ (atmospheric engine) อันมหึมา ซึ่งทำให้เกิดการหมุน เวียน (circulation) และเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ของ บรรยากาศหรือกาลอากาศ (weather phenomena) ขึ้น ในโลกของเรา ดวงอาทิตย์ทำหน้าที่คล้ายเป็นเตา เชื้อเพลิง ส่งความร้อนมายังพื้นโลก บริเวณพื้นโลก ที่ได้รับความร้อนมากกว่า เช่น ที่บริเวณศูนย์สูตร ก็จะทำให้บรรยากาศของบริเวณนั้นร้อนขึ้น เกิดการ ขยายตัว และลอยสูงขึ้นไป อากาศในบริเวณพื้นโลก ที่ได้รับความร้อนน้อยกว่าและเย็นกว่าก็จะเคลื่อนตัว เข้ามาแทนที่ กรรมวิธีนี้ทำให้เกิดการหมุนเวียนของ อากาศขึ้น นอกจากนี้แล้ว การหมุนรอบตัวของโลก ประมาณทุกๆ ๒๔ ชั่วโมง การเอียงของแกนหมุน ของโลก การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ประมาณ ๓๖๕ ๑/๒ วัน รวมทั้งคุณสมบัติและความแตกต่างของ ผิวพื้นดินและพื้นน้ำของโลก ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะทำให้การหมุนเวียนของบรรยากาศ ภูมิอากาศ และปรากฏการณ์ของบรรยากาศเกิดความยุ่งยากขึ้น นานาประการ และแตกแยกออกไปเป็นหลายต่อ หลายชนิด เช่น ลม ฝน พายุฟ้าคะนอง พายุไต้ฝุ่น เป็นต้น
* เซลเซียส (Celsius) ชื่อหน่วยอุณหภูมิ เดิมเรียกว่า เซนติเกรด ต่อมาเปลี่ยนเป็นเซลเซียส เพื่อเป็นเกียรติคุณแก่ แอนเดอรส์ เซลซิอัส (Anders Celsius, ค.ศ. ๑๗๐๑ - ๑๗๔๔, นักดาราศาสตร์ชาวสวีเดน) ผู้คิดมาตราอุณหภูมิเซลเซียสขึ้น