เล่มที่ 14
การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การเก็บและถนอมพืชอาหารสัตว์

การเก็บและถนอมพืชอาหารสัตว์ จัดทำเพื่อเตรียมไว้สำหรับเป็นอาหารสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่ขาดแคลนหญ้าสด ทำได้ ๒ วิธี คือ ทำหญ้าแห้ง และหญ้าหมัก การทำหญ้าแห้งหรือหญ้าหมัก เป็นกรรมวิธีรักษาคุณค่าอาหารของพืชอาหารสัตว์ ไม่ให้สูญเสียมากเกินไป หากทำได้หญ้าจะมีคุณภาพดี และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

๑. การทำหญ้าแห้ง

            หญ้าแห้งเป็นอาหารสัตว์ที่ทำจากหญ้าหรือถั่ว โดยการไล่ความชื้นออก จนเหลือไม่เกินร้อยละ ๑๕ เป็นการรักษาคุณภาพของหญ้าไว้ สำหรับเป็นอาหารสัตว์ โดยเฉพาะใช้เป็นอาหาร ในยามที่ขาดแคลนหญ้าสด ในการทำทุ่งหญ้าหรือปลูกพืชอาหารสัตว์ จะต้องคำนึงถึง หรือกำหนดแผนการทำหญ้าแห้งไว้ด้วยเสมอ ขั้นตอนการทำหญ้าแห้งมีดังนี้

            ๑.๑ การเลือกพันธุ์หญ้า

            เลือกหญ้าต้นเล็ก ใบดก เพื่อสะดวกต่อการผึ่งแดดไล่ความชื้น เช่น หญ้ารูซี หญ้ากรีนแพนิค หรือโรด และถั่วเกรแฮม เป็นต้น

            ๑.๒ การเตรียมอุปกรณ์

            อุปกรณ์ประกอบด้วย อุปกรณ์ตัดหญ้า มัดฟ่อนหญ้า อุปกรณ์เกลี่ยหญ้าสำหรับผึ่งแดด และโรงเก็บหญ้าแห้ง ส่วนการผลิตหญ้าแห้งเป็นอุตสาหกรรม หรือเพื่อจำหน่าย ต้องใช้เครื่องจักร เช่น รถแทรกเตอร์ เพื่อใช้กับเครื่องตัดหญ้าขนาดใหญ่ เครื่องเกลี่ยหญ้ามีราคาสูงมาก ไม่เหมาะกับเกษตรกรรายย่อย ส่วนเกษตรกรรายย่อย ฟาร์มขนาดเล็กที่มีโค ๔-๕ ตัว อาจใช้อุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น เคียวคราดเกลี่ยหญ้าทำด้วยไม้ลังไม้สำหรับอัดฟ่อนหญ้า และเชือกสำหรับมัดฟ่อนหญ้า

เครื่องมัดฟ่อนหญ้าแห้ง
๑.๓ ช่วงเวลาการตัดหญ้า

            เริ่มทำในช่วงปลายฤดูฝน ไม่มีฝนตก เพราะว่าการทำหญ้าแห้งจะต้องผึ่งแดดจนแห้ง ตัดหญ้าในระยะที่ยังไม่ติดดอก หรือเริ่มติดดอก เพราะว่าถ้าใช้หญ้าแก่จนติดเมล็ด จะได้หญ้าแห้งคุณภาพต่ำ มีกากมากเกินไป คุณค่าอาหารน้อย เมื่อตัดแล้ว ผึ่งแดดไว้ ๒ วัน ใช้คราดเกลี่ยกลับหญ้า และผึ่งแดดทิ้งไว้ ๑-๒ วัน ไม่ควรผึ่งแดดนานกว่านี้ เพราะจะทำให้คุณค่าอาหารลดลง หญ้าจะมีสีซีด ไม่มีสีเขียว อย่างไรก็ตาม จะต้องผึ่งแดด ให้ความชื้นลดลง เหลือไม่เกินร้อยละ ๑๕ ซึ่งตรวจได้หยาบๆ โดยสุ่มตัวอย่างหญ้ามากำ และบิดดู ถ้าหากไม่มีน้ำเยิ้มออกมาก็ใช้ได้ เมื่อผึ่งได้ที่แล้ว จึงคราดรวมกอง และมัดเป็นฟ่อนๆ โดยใช้ลังไม้มีเชือกหรือลวดสำหรับมัด เมื่อมัดฟ่อนแล้ว จึงนำเข้าโรงเก็บ เพื่อป้องกันมิให้ถูกฝน เพราะจะเน่าเสียหาย การผึ่งแดด หรือลดความชื้นหญ้าแห้งเป็นเรื่องสำคัญ หากในหญ้าแห้งมีความชื้นมากเกินร้อยละ ๒๐ จะทำให้เกิดความร้อนในโรงเก็บหญ้า หญ้าขึ้นรา เน่า และอาจเกิดไฟไหม้ได้
ในฟาร์มใหญ่ๆ ที่ผลิตหญ้าแห้งจำหน่าย จะใช้เครื่องอัดฟ่อนหญ้าอัตโนมัติ ที่ใช้กับรถแทรกเตอร์ เครื่องดังกล่าว จะเก็บเกลี่ยหญ้าเข้าสู่เครื่องมัดฟ่อน และมัดหญ้าเป็นฟ่อนๆ พร้อมกันในเครื่องเดียวกัน โดยใช้รถแทรกเตอร์ลากจูง ในขณะรถเคลื่อนที่ เครื่องดังกล่าวก็มัดฟ่อนหญ้า และส่งออกมาเป็นฟ่อนๆ ด้วย

            หญ้าแห้งที่มีคุณภาพดี ควรมีสีเขียวเหลืออยู่พอประมาณ ไม่เป็นสีซีดแบบฟางข้าว หญ้าแห้งที่มีสีเขียวเหลืออยู่มากแสดงว่า มีสารวิตามินอยู่มากด้วย โดยเฉพาะสารแคโรทีน ที่ให้วิตามินเอ ซึ่งสำคัญมาก เพราะในฤดูแล้งจะแก่แห้ง สัตว์ได้รับวิตามินเอไม่เพียงพอ ดังนั้นถ้ามีหญ้าแห้งคุณภาพดี จะช่วยบรรเทาได้บ้าง นอกจากนั้นหญ้าแห้งที่ดี ควรมีใบหญ้าปนอยู่มาก มีก้านน้อย มีสิ่งแปลกปลอมน้อย กลิ่นหอมแบบกลิ่นหญ้าแห้ง ไม่ใช่กลิ่นหญ้าเน่า หรือกลิ่นรา

เครื่องตัดหญ้า

            การทำหญ้าแห้ง เพื่อจำหน่าย อาจทำโดยการอบหญ้าจากโรงงานหญ้า แทนการผึ่งแดด ซึ่งจะได้หญ้าแห้งคุณภาพดี เพราะว่าสามารถตัดหญ้าช่วงที่หญ้ากำลังมีคุณค่าอาหารสูงได้ ไม่ต้องรอจนหมดฤดูฝน

            เราใช้หญ้าแห้งเลี้ยงสัตว์ โดยจัดหารางหญ้าแห้งไว้ในคอกโค หรือในทุ่งเลี้ยงสัตว์ แล้วใส่หญ้าแห้งให้กินตลอดเวลา หลังจากให้อาหารแล้ว โคจะเลือกกินเอง

๒. การทำหญ้าหมัก

            หญ้าหมักหมายถึง พืชสดที่ผ่านการหมัก เพื่อรักษาธาตุอาหารในพืช ไม่ให้เน่าเปื่อย ทำนองเดียวกับผักดองมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย ใช้เป็นอาหารโคกระบือในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่ขาดแคลนหญ้าสด การรักษาเนื้อเยื่อพืชไม่ให้เน่าเปื่อย เกิดจากกระบวนการ ซึ่งอาศัยเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด เช่น บัคเตรีในกลุ่มเล็กโตบะซิลัส บัคเตรีกลุ่มนี้ จะย่อยแป้งในต้น ใบ หรือเมล็ดพืช และเปลี่ยนให้เป็นกรด เรียกว่า กรดแล็กติก กรดที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสารที่ช่วยรักษาเนื้อพืชไม่ให้เน่า การหมักแบบนี้ เกิดขึ้นในที่อับอากาศ โดยใช้หลุมหมักซึ่งเรียกว่า ไซโล การทำหญ้าหมัก มีกระบวนการตรงข้ามกับการทำหญ้าแห้ง เพราะการทำหญ้าแห้ง อาศัยกระบวนการไล่ความชื้นออกจากพืช แต่การทำหญ้าหมัก ต้องการรักษาความชื้นไว้ การทำหญ้าหมักต่างจากปุ๋ยหมักตรงที่ การทำปุ๋ยหมักนั้น เชื้อราจุลินทรีย์จะย่อยสลายเนื้อเยื่อของพืชจนเน่าเปื่อย ปลดปล่อยแร่ธาตุให้พืชดูดซึมเป็นปุ๋ยได้ การทำหญ้าหมักมีขั้นตอนดังนี้

เกษตรกรกำลังเปิดหลุมหญ้าหมักแบบร่องในดิน

            ๒.๑ การเลือกพันธุ์หญ้า

            ควรเลือกพันธุ์หญ้าที่มีแป้งและน้ำตาลมาก เช่น ต้นข้าวฟ่าง ข้าวโพด พืชทั้ง ๒ ชนิดนี้ทำหญ้าหมักได้หญ้าคุณภาพดีมาก นอกจากนั้นอาจใช้หญ้าเนเปียร์ หญ้ามอริชัส หรือหญ้าอื่นๆ ที่มีลักษณะอวบน้ำ แต่การใช้ต้นหญ้าเหล่านี้ จำเป็นจะต้องเติมกากน้ำตาลด้วย เพราะว่าหญ้าเหล่านี้มีแป้งเป็นส่วนประกอบน้อย ทำให้มีอาหารสำหรับเชื้อบัคเตรีไม่เพียงพอ ทำให้การหมักได้ผลไม่ดีพอ

            ๒.๒ การเตรียมอุปกรณ์

            อุปกรณ์ทำหญ้าหมักประกอบด้วย อุปกรณ์การตัดและหั่นหญ้า หลุมหมัก วัสดุคลุมปิดหลุม เช่น แผ่นผ้าพลาสติก หรือดิน กากน้ำตาล และอุปกรณ์สำหรับขนหญ้าลงหลุมหมัก

หลุมหญ้าหมักแบบใช้พลาสติกคลุมเหนือผิวดิน

            อุปกรณ์การตัดและหั่นหญ้า ฟาร์มขนาดเล็ก อาจใช้มีดตัดหั่นหญ้าเป็นชิ้นเล็กๆ แต่ฟาร์มขนาดใหญ่มีจำนวนโคมาก จะใช้เครื่องตัดหั่นหญ้าโดยเฉพาะ อุปกรณ์ดังกล่าว ใช้กำลังงานจากรถแทรกเตอร์ มีใบมีดตัดต้นพืช และหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วมีเครื่องพ่นชิ้นหญ้าออกจากเครื่อง กล่าวคือ ในอุปกรณ์ชิ้นเดียวกัน จะทำงานทั้งการตัดต้นพืช หั่นเป็นชิ้น และพ่นออกจากเครื่อง โดยอัตโนมัติ แต่ราคาสูงมาก

            ๒.๓ การเตรียมหลุมหญ้าหมัก

หลุมหญ้าหมักมีหลายแบบ เช่น แบบปล่อง แบบร่องในดิน แบบรางบนผิวดิน หรือแบบใช้ผ้าพลาสติกคลุมเหนือผิวดิน

            หลุมแบบปล่อง ก่อด้วยคอนกรีตสูง ๒-๓ เมตร หรือมากกว่า ส่วนความจุมีตั้งแต่ ๑๐-๒๐ ตัน แล้วแต่ขนาดของฟาร์ม หลุมแบบร่องในดินเป็นแบบที่ต้องขุดร่องลึกตามที่ต้องการ และสร้างผนังคอนกรีตเป็นร่อง ป้องกันดินพังทลาย ความกว้าง และความยาวหลุม ขึ้นกับขนาดของฟาร์ม หรือจำนวนสัตว์ที่เลี้ยง ส่วนหลุมแบบรางบนผิวดินมีลักษณะเช่นเดียวกับแบบร่องในดิน แต่สร้างบนผิวดินแทน ปัจจุบันนิยมทำแบบรางบนผิวดิน เพราะสะดวกต่อการทำงาน เช่น การขนหญ้าลงหมัก การกลบดิน และการไหลของน้ำเสีย

            ๒.๔ การตัดหญ้า

            เริ่มจากการตัดต้นข้าวโพด หรือข้าวฟ่าง โดยเลือกตัด เมื่อพืชเหล่านี้เริ่มมีเมล็ดอ่อนๆ เนื้อในเมล็ดยังมีลักษณะเหนียวข้น ไม่ถึงกับเป็นเมล็ดแข็ง ถ้าเลยระยะนี้ไปจะมีกากมาก และน้ำตาลในลำต้นมีน้อย อาหารของบัคเตรีไม่พอ การหั่นต้องหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดยาว ๓-๕ นิ้ว เพื่อสะดวกต่อการอัดให้แน่น จากนั้นก็ขนลงหมักในหลุมที่เตรียมไว้แล้ว อัดหญ้าให้แน่นจนเต็มหลุม แล้วจึงกลบหลุมโดยใช้เศษพืชทับรองชั้นหนึ่ง แล้วใช้ดินกลบทับจนแน่น ป้องกันอากาศเข้าออก การหั่นหญ้า และการอัดหญ้าให้แน่นเป็นขั้นตอนสำคัญมาก ถ้าหั่นหญ้ายาวเกินไป ทำให้การอัดไม่แน่น ไล่อากาศออกไม่หมด อากาศเข้าออกได้จะทำให้เชื้อราเจริญ และหญ้าเน่ากลายเป็นปุ๋ยหมัก

แผนภาพตัดขวางแสดงหลุมหญ้าหมัก
แบบรางบนผิวดิน

            ถ้าใช้หญ้าชนิดอื่น เช่น หญ้าขน หญ้าเนเปียร์ จะต้องใช้กากน้ำตาลละลายน้ำ ประพรมทุกครั้ง ที่ขนหญ้าสดลงหมักในหลุม โดยใช้กากน้ำตาล ๓๐ กิโลกรัมต่อหญ้า ๑,๐๐๐ กิโลกรัมละลายน้ำแล้วพรมให้ทั่ว กากน้ำตาลจะเป็นอาหารของบัคเตรี ที่ช่วยในการหมัก เมื่อกลบดินทิ้งไว้ ๓-๔ สัปดาห์ ก็จะเริ่มเป็นหญ้าหมัก

            หญ้าหมักที่ดีควรมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นผักดอง หรือมะม่วงดอง สีเขียวอ่อน ไม่ดำคล้ำมีค่าความเป็นกรดประมาณ ๔.๓-๔.๔ คุณค่าอาหารจากหญ้าหมักที่ทำด้วยข้าวฟ่าง คิดเป็นร้อยละดังนี้ ความชื้น ๗๐.๔ โปรตีน ๒.๘ ไขมัน ๑.๓ กาก ๘.๗ แป้ง ๑๔.๗ เถ้า ๒.๑ และความเป็นกรด ๔.๕

            เนื่องจากหญ้าหมักมีรสเปรี้ยวกว่าอาหารอื่นๆ การใช้เลี้ยงโคจึงมีขีดจำกัด โดยปกติแนะนำให้ใช้หญ้าหมัก ๓-๓.๕ กิโลกรัมต่อน้ำหนักโค ๑๐๐ กิโลกรัม ใส่รางให้กินภายหลังให้อาหารข้นแล้ว