กระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประเทศเราโชคดี ที่มี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พระประมุขของชาติ ที่ทรงพระปรีชาสามารถ และเข้าพระราชหฤทัยประโยชน์ของทรัพยากรทุกประเภทอย่างลึกซึ้ง จนเกิดโครงการ "พัฒนา" ในพระราชดำริเป็นตัวอย่าง ให้หน่วยงานรัฐบาล และเอกชน ดำเนินตามจนบรรลุความสำเร็จมากมาย ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัส ให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรวัฒนธรรมประเภทโบราณสถาน และโบราณวัตถุไว้ด้วย เพื่อให้ช่วยกันอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าไว้ถึง ๒ ครั้งด้วยกัน
ครั้งแรกในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนิน เปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๐๔ มีความดังนี้ "โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถาน ทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นของมีคุณค่า และจำเป็น แก่การศึกษาค้นคว้า ในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี เป็นเครื่องแสดงความรุ่งเรืองของชาติไทย ที่มีมาแต่ในอดีตกาล สมควรจะสงวนรักษาให้คงถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล มีผู้กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีผู้สนใจ และหาซื้อโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ส่งออกไปต่างประเทศกันมาก ถ้าต่อไปภายหน้า เราจะต้องไปศึกษา หรือชมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของไทยเราเองในต่างประเทศ ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า และน่าอับอายมาก เราจึงควรจะขวนขวาย และช่วยกันหาทางรวบรวมโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุของเรา แล้วจัดสร้างพิพิธภัณฑสถาน เก็บรักษาไว้จะเป็นการดีที่สุด" | |||
เจดีย์สามองค์ใน จ.กาญจนบุรี ที่ชายแดนไทย-พม่า เป็นฝีมือช่างมอญ | |||
กระแสพระราชดำรัสครั้งที่ ๒ เป็นผลจากเหตุการณ์ระคายพระราชหฤทัยในวโรกาส เสด็จประพาสอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ ซึ่ง ม.ล. ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้น เขียนไว้ในวารสาร "จันทรเกษม" ฉบับที่ ๕๔ ประจำเดือนกันยายน-ตุลาคม ๒๕๐๖ ว่า "...ได้ทอดพระเนตรเห็นอาคารสมัยใหม่หลังหนึ่ง สร้างขึ้นบนที่ ซึ่งเคยเป็นซากโบราณสถาน มีพระราชดำรัสว่า การสร้างอาคารสมัยนี้ คงจะเป็นเกียรติ สำหรับผู้สร้างคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้น เป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย"
ม.ล. ปิ่น กล่าวต่อไปว่า "...เมื่อได้ยินกระแสพระราชดำรัสนั้น ก็รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงเตือนสติคนไทย ที่นิยมความเจริญทางวัตถุ ยิ่งกว่าความเจริญทางจิตใจ โบราณวัตถุสถานเหล่านี้ มีคุณค่าล้นเหลือ ถ้าไม่มีให้เราเห็นแล้ว ทำอย่างไรเราจึงจะเข้าใจแจ่มแจ้งว่า บรรพบุรุษของเราเคยทำอะไร อย่างไร และอยู่ที่ไหน ซึ่งสรุปได้ว่า การสร้างชาติ ประกอบด้วยคุณธรรม ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาถึงเราในทุกวันนี้ ถ้าโบราณวัตถุสถานเหล่านั้น สูญสิ้นไปหมด ความรู้สึกอย่างที่ข้าพเจ้ารู้สึก ก็จะเลือนลางลง เมื่อคนเราไม่มีอะไรผูกมัดทางจิตใจแล้ว ก็ย่อมจะนึกถึงประโยชน์ส่วนตน หรือเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นธรรมดา อยู่เอง" "...ในการที่มีโบราณวัตถุสถาน และปูชนียสถานอยู่เป็นอันมาก ถ้าเรารู้จักวิธีนำมาใช้ เกี่ยวกับการอบรมจิตใจ ของเยาวชน ก็จะเป็นประโยชน์มาก..." |