เล่มที่ 16
การอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สมบัติวัฒนธรรม

            เมืองไทยมั่งคั่งด้วยทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ที่บรรพบุรุษสร้างไว้เป็นสมบัติวัฒนธรรม หรือมรดกวัฒนธรรมตกทอดมาถึงเรา เป็นจำนวนมาก ไม่แพ้ประเทศใดในโลก ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ด้วยจำนวนประชากร หรือเนื้อที่ขนาดไหนก็ตาม

            มองไปรอบๆ ตัว สิ่งที่เรามี เราเป็นเจ้าของนั้น มีลักษณะเฉพาะตัว หรือเอกลักษณ์ แทบจะทั้งนั้น และนั่นเอง ที่ทำให้เราเป็นเรา เขาเป็นเขา ไม่ใช่เราเป็นส่วนหนึ่งของเขา หรือเขาเป็นส่วนหนึ่งของเรา ทุกคนมีเอกลักษณ์ หมายตลอดรวมไปทุกกลุ่ม ทุกสังคมเมือง และทุกประเทศ

            สมบัติวัฒนธรรมอันมากมีของเรา ปรากฏย้อนหลังไปเป็นหมื่นเป็นแสนปีมาแล้ว เริ่มแต่มีคนมาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นครอบครัว แล้วรวมเป็นกลุ่มหลายกลุ่ม เป็นหมู่บ้าน แล้วเป็นเมือง เป็นแคว้น จนเป็นประเทศชาติต่อมา จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นประจักษ์พยาน ที่สะท้อนให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งได้ว่า ดินแดนที่เป็นประเทศเราคงอุดมสมบูรณ์พอตัว จึงได้มีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ มาตั้งถิ่นฐานทำกิน ต่อเนื่องกันไม่ขาดระยะ ดังปรากฏเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ และโบราณคดี
ผลิตผลทางความคิดอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อประโยชน์ใช้สอยนานัปการของมนุษย์ เช่น เตาทุเรียง เป็นต้น
ผลิตผลทางความคิดอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อประโยชน์ใช้สอยนานัปการของมนุษย์ เช่น เตาทุเรียง เป็นต้น
            จากนิยามที่กล่าวแล้ว เห็นได้ว่า สิ่งที่เป็นและเกี่ยวข้องกับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานนั้น มีมากมาย ทั้งที่เป็นของที่คนสร้างหรือดัดแปลงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ ที่ทำด้วยหิน โลหะ ไม้ ฯลฯ ที่เป็นเครื่องมือ หรืออาวุธ (ขวาน มีด หอก ค้อน เบ็ด ฉมวก) ของใช้สอย (ถ้วย ชาม ผ้า) เครื่องประดับ (กำไล สร้อย ลูกปัด ต่างหู ฯลฯ) ประติมากรรม ฯลฯ ที่พบ หรืออยู่ตามที่ต่างๆ ที่นับเป็นโบราณสถาน แหล่งโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจเป็นถ้ำ เพิงผา บ้านเรือน วัง หรือวัด ก็ได้ แต่ในประเทศเรา โบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียน ส่วนมากเป็นศาสนสถาน หรือปูชนียสถานในอดีตหลายแห่ง ที่ใช้สอยสืบต่อกันมาแต่ต้น จนปัจจุบัน...ไม่เคยตาย เรียกตามข้อเท็จจริง ของการใช้สอยว่า "อนุสาวรีย์ที่ยังมีชีวิต" ส่วนที่เลิกใช้ประกอบพิธีแล้ว จนกลายเป็นโบราณสถานจริงๆ เรียก "อนุสาวรีย์ที่ตายแล้ว"

            โบราณสถาน หรือแหล่งโบราณคดีของประเทศเรา แบ่งตามสมัยได้เป็น ๒ สมัย คือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์สมัยหนึ่ง และสมัยประวัติศาสตร์อีกสมัยหนึ่ง แต่ละสมัยแบ่งย่อยออกไปได้อีกมากมาย

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

            หมายถึง สมัยที่ มนุษย์ยังไม่มีตัวหนังสือสำหรับบันทึกเรื่องต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษรนั่นเอง

สมัยประวัติศาสตร์


            หมายถึง สมัยที่มนุษย์ บันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ และความรู้สึกนึกคิด เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว

แต่ถ้าแบ่งตามการใช้สอย ก็อาจแบ่งแหล่งโบราณคดีได้เป็น

            ๑. แหล่งที่อยู่อาศัย (มีคูคันดิน หรือไม่มี)
            ๒. แหล่งพิธีกรรม (สุสาน ศาสนสถาน)
            ๓. แหล่งอุตสาหกรรม (เตาเผาถ้วยชาม แหล่งโลหะกรรม เหมืองแร่ แหล่งสกัดหิน ฯลฯ)

            ผลการศึกษาแหล่งเหล่านี้ ทำให้สามารถประมวลความเป็นมา ของประเทศได้ทุกสมัย หลายเรื่องหลายเหตุการณ์ แม้จะขาดรายละเอียดอยู่มากก็ตาม เพราะการศึกษาบางแหล่งของเรา ทำได้เพียงหยาบๆ และแหล่งจำนวนมากถูกทำลายไปแล้ว