เล่มที่ 18
กฎหมายกับสังคมไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนในสังคม

            ดังกล่าวมาแล้วว่า ในสังคมที่สลับซับซ้อน เช่น สังคมในรัฐสมัยใหม่ จำเป็นจะต้องมีกฎหมายออกมามากมาย เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ มีทั้งส่วนที่เป็นเรื่องเฉพาะ และเรื่องทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันโดยตรง เช่น

พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙

กำหนดให้ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวต้องไปแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่

พระที่นั่งอนันตสมาคม

กรณีที่มีเด็กเกิด

  • กรณีที่มีเด็กเกิดในบ้าน เจ้าบ้านต้องแจ้งภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เด็กเกิด ถ้าอยู่นอกเขตเทศบาลให้ไปแจ้งต่อกำนัน ณ ที่ทำการกำนันประจำตำบล กรณีเด็กเกิดนอกบ้าน เช่น เกิดที่บ้านญาติ เกิดในรถหรือเรือโดยสาร หรือเกิดในป่า ผู้ที่มีหน้าที่แจ้งการเกิดคือ มารดาของเด็ก หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย โดยไปแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่เด็กเกิด หรือท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ในโอกาสแรกภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่เด็กเกิด ในกรณีจำเป็นที่ไม่อาจแจ้งได้ภายในกำหนด ให้แจ้งภายในเวลาไม่เกิน ๑๕ วัน นับแต่วันที่อาจแจ้งได้

การคลอดลูกในโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะดำเนินการแจ้งให้ และจะออกใบรับรองการเกิดให้บิดามารดา 
  • กรณีที่มีคนตาย คนตายในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่มีคนตายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย ถ้าไม่มีเจ้าบ้าน ให้ผู้ที่พบศพไปแจ้งภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลาพบศพ กรณีตายนอกบ้านให้บุคคลที่ไปกับผู้ตาย หรือผู้พบศพ แจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลาตายหรือพบศพ หรือจะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจที่สะดวกกว่าก็ได้
  • การย้ายที่อยู่ เจ้าบ้านจะต้องไปแจ้งการย้ายที่อยู่ต่อนายทะเบียนท้องที่ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันย้ายออก กรณีย้ายเข้า เจ้าบ้านจะต้องไปแจ้งภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันย้ายเข้าเช่นกัน
อนึ่ง การแจ้งการเกิด การตาย การย้ายที่อยู่ ผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งจะมอบหมายให้ผู้ใดไปแจ้งแทนตนก็ได้ 

กรณีที่มีคนตาย

การเกณฑ์ทหาร

พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖

            กำหนดให้บุคคลที่มีสัญชาติไทย ซี่งมีอายุครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน ๗๐ ปี บริบูรณ์ ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน (ยกเว้นบุคคลที่ได้รับยกเว้น ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๗ ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัตินี้) การยื่นคำขอทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ไปยื่นเรื่อง ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอในท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ ภายในกำหนด ๙๐ วัน นับแต่วันที่มีอายุครบกำหนด ๑๕ ปีบริบูรณ์ เมื่อได้รับบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว หากมีการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล ผู้ถือบัตรต้องขอเปลี่ยนบัตรภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุล อนึ่ง บัตรประจำตัวประชาชนมีอายุ ๖ ปี เมื่อบัตรหมดอายุให้ใช้บัตรนั้นต่อไปได้จนถึงวันครอบรอบวันเกิด จากนั้นต้องไปขอเปลี่ยนบัตรใหม่ ภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันครอบวันเกิด ในกรณีบัตรสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด ในสาระสำคัญ ผู้ถือบัตรต้องขอเปลี่ยนบัตรภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่บัตรหาย หรือถูกทำลาย หรือกรณีที่บัตรชำรุด

พระราชบัญญัติการรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗

            ชายไทยทุกคน เมื่อมีอายุย่างเข้า ๑๘ ปี ในพ.ศ. ใด ให้ไปแสดงตน เพื่อลงบัญชีทหารกองเกินภายใน พ.ศ. นั้น โดยไปแจ้งต่อสัสดีอำเภอที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ ถ้าไม่สามารถไปด้วยตนเองได้ จะให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะ และเชื่อถือได้ไปแจ้งแทนก็ได้
ทหารกองเกิน เมื่อมีอายุ ๒๑ ปี ใน พ.ศ. ใด ต้องไปแสดงตน เพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตนภายใน พ.ศ. นั้น ผู้ใดไม่สามารถจะไปรับหมายเรียกด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะ และเชื่อถือได้ ไปรับหมายเรียกแทน และทหารกองเกิน ซึ่งถูกเรียก จะต้องมาให้คณะกรรมการตรวจเลือก ทำการตรวจเลือกตามวันเวลาที่ทางราชการกำหนด โดยนำใบสำคัญทหารกองเกิน บัตรประจำตัวประชาชน และหลักฐานการศึกษา มาแสดงด้วย มิฉะนั้นจะมีโทษตามกฎหมาย
บุคคลที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องไปแสดงตัว เพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน ได้แก่

            ๑. สามเณรซึ่งสอบเปรียญได้แล้ว
            ๒. ผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างควบคุมหรือคุมขังของเจ้าพนักงาน

บุคคลบางประเภทแม้จะได้ไปลงบัญชีทหารกองเกินไว้ แต่ได้รับการยกเว้นไม่ถูกเรียก ต้องมารับการตรวจเลือก เช่น พระภิกษุ สามเณร นักบวช ผู้ที่อยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหาร ครู บุคคลที่ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ฯลฯ

            นอกจากพระราชบัญญัติที่กำหนดหน้าที่ให้คนในสังคมต้องถือปฏิบัติแล้ว รัฐยังได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของสุขภาพส่วนบุคคล ตลอดจนความสงบสุข และความเป็นธรรมในสังคมโดยส่วนรวมด้วย ดังนั้น จึงได้ออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองในเรื่องดังกล่าว เช่น กฎหมายควบคุมอาหารและยา กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายแรงงาน กฎหมายประกันสังคม และกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็ได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทางเศรษฐกิจ เช่น กฎหมายป้องกันการค้ากำไรเกินควร กฎหมายเกี่ยวกับการลงทุน เหล่านี้เป็นต้น