ปรัชญาการศึกษาของประเทศไทยนั้นมีพื้นฐาน มาจากพุทธปรัชญา และแบบวิถีชีวิตของพุทธศาสนิกชนอยู่มาก ดังนั้น การศึกษาของไทยแต่เดิม จึงเป็นไปเพื่อให้คนดำรงตน ตามแบบอย่างที่ดีทางศีลธรรม มีปัญญาเลี้ยงชีพได้ และดำเนินชีวิตใน สังคมอย่างสงบ ดังตัวอย่างปรากฏในกระแสพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง การศึกษาของประเทศสยามเมื่อ ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ความว่า | |
นักเรียนในสมัยรัชกาลที่ ๕ | |
"...ความประสงค์จำนงหมายในการสั่งสอนฝึกหัดกันนั้น ให้มุ่งต่อผลสำเร็จดังนี้คือ ให้เป็นผู้แสวงหาศิลปวิชา เครื่องอบรมความสามารถ และความประพฤติชอบ ให้ดำรงรักษาวงศ์ตระกูลของตน ให้โอบอ้อมอารีแก่พี่น้อง ให้มีความกลมเกลียวร่วมทุกข์ร่วมสุขกันระหว่างสามีภริยา ให้มีความซื่อตรงกันในระหว่างเพื่อน ให้รู้จักกระเหม็ดกระแหม่เจียมตัว ให้มีเมตตาจิตแก่ผู้อื่นทั้งปวง ให้อุดหนุนสาธารณประโยชน์อันเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด ให้ปฏิบัติตนตามพระราชกำหนดกฎหมาย เมื่อถึงคราวจะต้องช่วยชาติ และบ้านเมือง ให้มอบกายสวามิภักดิ์กล้าหาญ และด้วยจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อยู่ทุกเมื่อ เมื่อใดความรู้สึกต่อหน้าที่เหล่านี้ทั้งปวงหมดได้เข้าฝังอยู่ในสันดานจนปรากฏด้วยอาการกริยาภายนอกแล้ว เมื่อนั้นความสั่งสอนฝึกหัดเชื่อว่าสำเร็จ และผู้ใดได้เล่าเรียนถึงผลสำเร็จเช่นนี้แล้ว ผู้นั้นเชื่อว่าเป็นราษฎรอันสมควรแก่ประเทศสยามยิ่งนัก..." | |
นักเรียนในสมัยรัชกาลที่ ๕ | ปัจจุบันนี้ การศึกษาของไทยมีแนวโน้มที่มุ่งพัฒนาชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ให้มีความสุข และอยู่ดีกินดี ให้เยาวชนไทยมีความรู้ และความคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงตน และธำรงชาติ รู้จักคิดแก้ปัญหา แสวงหาสิ่งใหม่ที่ถูกต้องอย่างมีเหตุผล เป็นพลเมืองดี มีคุณธรรม และเป็นกำลังที่แข็งแกร่งมั่นคง ของชาติไทย |
การศึกษาของไทยมีประวัติสืบเนื่องมาแต่สมัย ล้านนาไทย สุโขทัย และสมัยกรุงศรีอยุธยา โรงเรียน ของไทยในสมัยนั้นคือ วัด พระสงฆ์เป็นครูสอนวิชาการ คือ อ่าน เขียน คิดเลข และศึกษาพระศาสนา มีการสอนวิชาพิเศษ เช่น วิชาแพทย์แผนโบราณ วิชาช่างศิลป์ โหราศาสตร์ และวิชาป้องกันตัว เป็นต้น ต่อมาวัดยิ่งมีความสำคัญทางการศึกษามากขึ้น กุลบุตรทั้งหลายที่ต้องการเรียนหนังสือ บิดามารดาจะนำไปฝากไว้กับสมภารเจ้าวัด ให้รับใช้พระสงฆ์ หรือบวชเป็นสามเณร และพระภิกษุ ตามลำดับ เรียกว่า "บวชเรียน" ได้เรียนหนังสือไทย บาลี ขอม หัดคิดเลข ฝึกวิชาช่าง และวิชาชีพต่างๆ | |
สามเณรเรียนหนังสือกับพระภิกษุในสมัยโบราณ | |
ส่วนเด็กหญิงได้เรียนวิชาการฝีมือและการเรือนกับมารดาที่บ้าน นับว่า การศึกษาของไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ หนักไปทางวิชาอักษรศาสตร์ และวิชาช่างเป็นส่วนใหญ่ หนังสือแบบเรียนเล่มแรกของไทยเท่าที่มีปรากฏให้เห็น คือ หนังสือจินดามณี ซึ่งพระโหราธิบดีแต่งขึ้น ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช | |
เด็กหญิงเรียนร้อยมาลัยกับมารดา | |
การฝึกอาชีพในครอบครัวนั้น ได้มีการฝึกฝน และถ่ายทอดกันจากต้นตระกูลมาสู่ลูกหลาน ครอบครัวไทยจึงมีตระกูลช่าง และหมู่บ้านที่ประกอบอาชีพทางช่างอยู่มาก เช่น หมู่บ้านบาตร หมู่บ้านช่างหล่อ หมู่บ้านดอกไม้ (ดอกไม้ไฟ) เป็นต้น |
พระมหากษัตริย์ไทยทุกรัชกาลได้ทรงทำนุบำรุงการศึกษา ทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดมา พระบรมมหาราชวังได้เป็นแหล่งวิชาการชั้นสูงในด้านอักษรศาสตร์ ศิลปกรรม และหัตถกรรม ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การศึกษายังได้รับการอุปการะจากพระราชวัง และวัดอยู่มาก พระราชวังเป็นสถานศึกษาของเจ้านาย และลูกหลานข้าราชการ ส่วนวัดเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่กุลบุตรทั่วไป ดังจะเห็นได้จากการที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และใน พ.ศ. ๒๓๗๙ ทรงมีพระราชโองการให้จารึกโคลงโลกนิติ และตำรายาแพทย์หลวงลงบนแผ่นหินอ่อน สำหรับประดับบนกำแพงและเสา ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม | พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) |
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงจัดการศึกษาให้เป็นระบบโรงเรียน เพื่อให้ประชาชนทั่วไป มีโอกาสส่งบุตรหลานมาเรียนได้มากขึ้น โดยมุ่งฝึกหัดเล่าเรียน เพื่อจะให้รู้หนังสือ รู้จักคิดเลข และรู้ขนบธรรมเนียมราชการ พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๑๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์สอนหนังสือไทย ในพระอารามหลวงทุกอาราม และทรงประกาศตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ |
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ | ผู้ที่เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรกของโรงเรียนหลวง อันเป็นโรงเรียนแห่งแรกของประเทศไทย คือ หลวงสารประเสริฐ (น้อย อาจาริยางกูร ภายหลังเป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร) ท่านได้วางแบบแผนการสอนหนังสือไทยขึ้น โดยได้เรียบเรียบหนังสือขึ้นใหม่ชุดหนึ่ง ชื่อหนังสือมูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์ ทั้งหมดนี้ว่าด้วยวิธีใช้ตัวอักษร พยัญชนะเสียงสูงต่ำ การผัน การประสมอักษร และตัวสะกดการันต์ นับว่า เป็นหนังสือแบบเรียนหลวงชุดแรก ที่ใช้ในโรงเรียนสืบต่อจากหนังสือจินดามณี | ||
การศึกษาได้เริ่มแผ่ขยายออกไปสู่ประชาชนในส่วนภูมิภาคมากขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๔๙ นโยบายการจัดการศึกษาได้เน้นหนักทางการสร้างความรู้ให้เหมาะกับอัตภาพของบุคคล เพื่อประกอบอาชีพได้ มากกว่าที่มุ่งผลิตคนเข้ารับราชการ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเคยคาดการณ์ไว้ว่า "ความทะเยอทะยาน อยากเข้ารับราชการด้วยรู้หนังสือมีวุฒินี้ จะพาให้ผู้เรียนไม่สมหวังในภายหน้า" พระองค์ได้ทรงวางนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาไว้ ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า ภารกิจของรัฐบาลจะต้องถือการให้การศึกษาแก่ประชาชนโดยทั่วถึงกันนั้น มีความสำคัญเท่ากับการปฏิรูประเบียบบริหารการปกครอง และการส่งเสริมเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับการครองชีพของประชาชน นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงสนับสนุนแนวทางการจัดการศึกษาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในการจัดการศึกษาส่วนภูมิภาคในสมัยนั้น โดยใช้วิธีจัดทั้งปวงให้เป็นโรงเรียนทั่วไป รัฐบาลพิมพ์แบบเรียนแจก หรือจำหน่ายราคาถูก และให้มีพระสงฆ์เป็นพนักงานจัดการตรวจตราให้การสอนตามวัดเป็นไปตามแบบหลวงอย่างทั่วถึง | |||
เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) | นับตั้งแต่นั้นมาก็ได้มีการตั้งโรงเรียนขึ้นอีกหลาย ประเภท เช่น ก. โรงเรียนเชลยศักดิ์ และโรงเรียนวิเศษเชลยศักดิ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นโรงเรียนราษฎร์ ข. โรงเรียนบุรพบท โรงเรียน ก.ข. นโม และ โรงเรียนไทยเบื้องต้น จัดการศึกษาในระดับประถมศึกษา ค. โรงเรียนไทยเบื้องกลาง จัดการศึกษาใน ระดับมัธยมศึกษา ง. สากลวิทยาลัย จะจัดขึ้นเมื่อการเรียนวิชา ชั้นต้น และชั้นกลางมั่นคงดี ตามแผนงานของเจ้าพระยา พระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็น พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ กำหนดว่า จะรวมมหามกุฎราชวิทยาลัยเป็นวิทยาลัยสำหรับวินัยศาสตร์ มหาธาตุวิทยาลัยเป็นวิทยาลัยสำหรับกฎหมาย โรงเรียนแพทยากรเป็นวิทยาลัยสำหรับการแพทย์ และตั้งวิทยาลัยอื่นๆ อีกตามสมควร รวมเป็นรัตนโกสินทร สากลวิทยาลัย | ||
นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนแบบพิเศษ เช่น โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ และโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการ พลเรือน โรงเรียนการเพาะปลูก โรงเรียนสุศิลป์ เป็นต้น การศึกษาของไทยมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุง ให้เหมาะสมกับสภาพความต้องการของบ้านเมือง และความต้องการของประชาชนตลอดมา เช่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ทำให้มีการเก็บเงินศึกษาพลี สำหรับใช้จ่ายในการตั้ง และดำเนินงานโรงเรียนประชาบาล และทำให้ได้จัดการศึกษาภาคบังคับขึ้น เพื่อให้ประชาชนทั้งที่อยู่ในเมือง และในชนบทได้เล่าเรียนเสมอกัน การศึกษาขั้นสูงในศาสตร์สาขาวิชาเฉพาะ เริ่มได้รับการวางรากฐาน และปรับปรุงให้ได้มาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศ นักวิชาการได้หันมาสนใจจัดตั้งโรงเรียนแบบพิเศษ เพื่อให้การศึกษาเฉพาะอย่าง เช่น โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน โรงเรียนการเพาะปลูก โรงเรียนสุศิลป์ โรงเรียนกฎหมาย และโรงเรียนแพทย์ เป็นต้น
การศึกษาวิชากฎหมายได้รับการฟื้นฟูอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้ทรงก่อตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น และทรงบรรยายวิชากฎหมายทุกวัน จนได้มีผู้เรียนสำเร็จเป็นบัณฑิตไทย รุ่นแรกในปีเดียวกันนั้นถึง ๙ คน โรงเรียนกฎหมายแห่งนี้ ต่อมาได้เจริญมาเป็นโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม อีกทั้งเป็นต้นกำเนิดของคณะนิติศาสตร์ และสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา | |||
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการศึกษาแพทย์แผนปัจจุบันของไทย | |||
ทางด้านการศึกษาแพทย์นั้น ย่อมเว้นเสียมิได้ที่จะกล่าวถึงสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ครั้งทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พระองค์ได้ทรงเป็นผู้วางรากฐานทางการศึกษาวิชาแพทย์ และการศึกษาวิชาพยาบาลไว้อย่างมั่นคงด้วยพระ อุตสาหะ และพระปรีชาสามารถ ทรงเป็นกำลังสำคัญในการปรับปรุง และขยายงานโรงเรียนแพทย์ และโรงเรียนพยาบาลศิริราช ทรงร่วมวางหลักสูตรสำหรับนักเรียนแพทย์ทั้งทางด้านวิชาการ และปฏิบัติการ ทรงปรับปรุงวิธี การสอน จัดวัสดุการสอน เตรียมอาจารย์ และประสานงานกับหน่วยงานอื่นทุกด้าน ได้พระราชทานทุนทรัพย์ และทรงส่งเสริมการค้นคว้าทดลองทางการแพทย์ในประเทศไทย จนนับได้ว่า พระองค์ทรงเป็นพระบิดาแห่งการศึกษาแพทย์โดยแท้ |
แนวความคิดในการจัดการศึกษาสำหรับทวยราษฎร์ได้พัฒนามาเป็นลำดับ ตัวอย่างที่พอจะยกมาอ้างถึง ได้แก่ แนวความคิดของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ที่ได้เสนอไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ ว่า การศึกษาสำหรับชาติที่จะให้ราษฎรได้เรียนทั่วหน้า ตามควรแก่อัตภาพนั้น จะมีแต่ฝ่ายสามัญศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีวิสามัญศึกษา สอนวิชากสิกรรม หัตถกรรม และพาณิชยการด้วย หากทำได้ดังนี้ การศึกษาสำหรับชาติจึงจะชื่อว่า ได้เขยิบความรู้แห่งชาติให้สูงขึ้นพร้อมกันทั้งหมด | เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี |
ส่วนพระยาเทพศาสตรสถิตย์ ได้เสนอแนวความคิดว่า วิธีที่จะแก้ปัญหาคนทิ้งไร่นามารับราชการนั้น จะต้องจัดการศึกษา โดยการสั่งสอน และฝึกอบรม ให้นักเรียนประถมศึกษา ในโรงเรียนประชาบาลทั่วประเทศ รักการทำงานด้วยมือ และมีนิสัยปัจจัยในงานกสิกรรม ซึ่งมีมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ และแก้ไขให้ดีขึ้น ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ทางเกษตรเข้าช่วย เพื่อเพิ่มผลผลิตอีกด้วย แนวความคิดในเรื่องนี้ยังเป็นที่เรียกร้องให้ปฏิบัติกันอย่างจริงจัง จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าการจัดการศึกษาของไทยจะได้รับการ ปรับปรุงส่งเสริมมาเพียงใดก็ตาม ประชาชนก็ยังคงนิยมการเรียนทางฝ่ายสามัญ มากกว่าการเรียนทางวิชาชีพ ดังจะเห็นได้จากการจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งได้จัดคู่ขนานกันไป ทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ ตามแผนการศึกษา พ.ศ. ๒๔๗๙ แต่ก็มีผู้เข้าเรียนในโรงเรียนอาชีวศึกษาชั้นต้น และชั้นกลางน้อยลง จนถึงกับต้องยุบเลิกเป็นบางโรง ปัจจุบันนี้ การจัดการศึกษาทั้งในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน ต่างก็มีการจัดหลักสูตร ให้มีลักษณะผสมผสาน ระหว่างความรู้ทางวิชาการ และความชำนาญทางวิชาชีพ รวมทั้งต้องฝึกหัดอบรม ให้ผู้เรียนมีคุณธรรม และวัฒนธรรม เพื่อความเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ | |
หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย เทศบาล สำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ ทบวงมหาวิทยาลัย และหน่วยงานราชการต่างๆ ที่จัดการศึกษา เพื่อจุดประสงค์เฉพาะกิจ เช่น กระทรวงกลาโหม จัดการศึกษาให้แก่นักเรียนนายทหารเหล่าต่างๆ เป็นต้น การจัดการศึกษาของไทย ได้มีการจัดควบคู่กันไป ทั้งที่เป็นการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียน และการจัดการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งพอจะแบ่งระดับของการศึกษาออกได้เป็น ๔ ระดับ คือ | นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารรับประกาศนียบัตร ภายหลังสำเร็จการศึกษา |
๑. การศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา เป็นการศึกษาที่มุ่งอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนการศึกษาภาคบังคับ เพื่อเตรียมเด็กให้มีความพร้อมทุกด้านดีพอ ที่จะเข้ารับการศึกษาต่อไป การจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษานี้อาจจัดเป็นสถานรับเลี้ยงดูเด็ก ศูนย์เด็กปฐมวัยโรงเรียนอนุบาล หรือจัดเป็นชั้นเด็กเล็ก ในโรงเรียนประถมศึกษา | |
นักเรียนอนุบาล โรงเรียนอนุบาลสามเสน | |
๒. การศึกษาระดับประถมศึกษา เป็นการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐาน และให้สามารถคงสภาพอ่านออกเขียนได้ คิดคำนวณ ได้มีความสามารถประกอบอาชีพตามควรแก่วัย และความสามารถ ดำรงตนเป็นพลเมืองดีในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การจัดสถานศึกษาระดับประถมศึกษา พึงจัดเป็นตอนเดียวตลอดใช้เวลาเรียนประมาณ ๖ ปี การศึกษาระดับประถมศึกษา เป็นการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งแต่ละท้องถิ่น จะกำหนดอายุเข้าเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น และความพร้อมของเด็ก แต่ต้องไม่บังคับเด็กเข้าเรียนก่อนอายุครบ ๖ ปีบริบูรณ์ และไม่ช้ากว่าอายุครบ ๘ ปีบริบูรณ์ | |
นักเรียนอนุบาล โรงเรียนอนุบาลสามเสน | |
๓. การศึกษาระดับมัธยมศึกษา เป็นการศึกษาหลังระดับประถมศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีพ ที่เหมาะสมกับวัย ความต้องการ ความสนใจ และความถนัด เพื่อให้บุคคลเข้าใจ และรู้จักเลือกอาชีพที่เป็น ประโยชน์แก่ตนเอง และสังคม การศึกษาระดับนี้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือ มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้เวลาเรียนตอนละประมาณ ๓ ปี นับว่าเป็นการศึกษาระดับกลาง ซึ่งจัดขึ้นสำหรับเด็กวัยรุ่นอายุประมาณ ๑๒ - ๑๗ ปี ให้ได้เรียนหลังจากจบประถมศึกษา และเพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาระดับสูงขึ้นไป ผู้ที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษา อาจจะออกไป ประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับวัย และความสามารถ หรือศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ดังนั้นในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น พึงให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนกลุ่มวิชาการ และวิชาชีพตามความถนัด และความสนใจอย่างกว้างขวาง และในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พึงให้ผู้เรียนได้เน้นการเรียนกลุ่มวิชาที่ผู้เรียนจะยึดเป็นอาชีพต่อไป ๔. การศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นการศึกษาหลังระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มุ่งพัฒนาความเจริญงอกงามทางสติปัญญา และความคิด เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ การศึกษาระดับนี้จัดแบบกว้างให้ผู้เรียนมีความรู้รอบ และเน้นเฉพาะสาขาวิชาชีพ ให้ผู้เรียนมีความรู้สึก และชำนิชำนาญทั้งในด้านทฤษฎี ปฏิบัติ และมีจรรยาบรรณของวิชาชีพนั้นๆ หน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาจึงมุ่งดำเนินการเรียนการสอนทั้งด้านวิชาการ และวิชาชีพ การวิจัย เพื่อแสวงหาข้อมูล ความรู้ใหม่ และพิสูจน์หลักทฤษฎีต่างๆ การบริการชุมชน และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาประเทศทุกด้าน และช่วยแก้ปัญหาของชุมชน |