นอกจากแมลงจะมีส่วนต่างๆ ของร่างกาย คล้ายคลึงกันแล้ว แมลงมากชนิดมีส่วนต่างๆ ของร่างกาย ที่ผิดแปลกออกไป ทำให้เหมาะสมที่จะดำรงชีวิตอยู่ในรูปแบบต่างๆ กัน ดังจะเห็นได้จากปากและขา ที่มีหลายรูปแบบ และมีรูปร่างเหมาะสม ที่จะทำหน้าที่ต่างๆ กัน ดังกล่าวในตอนต้น แมลงที่ไปอาศัยอยู่ในน้ำนอกจากมีส่วน ของร่างกายที่จะช่วยในการว่ายน้ำได้ เช่น ขา แบนคล้ายใบพายแล้ว แมลงหลายชนิดยังมีอวัยวะ ทำหน้าที่คล้ายเหงือก ช่วยในการดูดซึมออกซิเจน จากในน้ำเข้าไปเลี้ยงร่างกาย เช่น แมลงดานา มีหางแบน ๒ หาง ทำหน้าที่เป็นเหงือก ตัวอ่อนของแมลงปอเข็ม มีอวัยวะคล้ายแผ่นใบไม้อยู่ปลายลำตัว ๓ แผ่น และตัวอ่อนของแมลงชีมีอวัยวะเป็นแผ่น หรือเป็นพวงทั้งสองข้างของท้อง และบางครั้งก็พบได้ที่อก ซึ่งทำหน้าที่คล้ายเหงือกทั้งสิ้น แมลงที่ไม่มีเหงือก สำหรับหายใจในน้ำ เช่น แมลงข้าวสาร แมลงตับเต่า หรือแมลงเหนี่ยง เมื่อโผล่ขึ้นผิวน้ำสามารถพาฟองอากาศ ติดตามลำตัวไปหายใจใต้น้ำได้ ส่วนลูกน้ำของยุง ได้แก่ ยุงบ้าน ยุงลาย และยุงก้นปล่อง มีท่อนท้ายของลำตัวยื่นออกไปเป็นท่อ ที่ปลายเป็นรูหายใจ ซึ่งจะต้องหายใจเอาอากาศจากผิวน้ำ ลูกน้ำยุงจึงต้องขึ้นมาบนผิวน้ำบ่อยๆ แต่ลูกน้ำยุงแม่ไก่บางชนิด ท่อหายใจค่อนข้างจะเรียวเล็ก สามารถเก็บฟองออกซิเจนที่พืชใต้น้ำปล่อยออกมาใช้ในการหายใจได้ โดยไม่ต้องโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำ
ความสามารถในการป้องกันตัว
แมลงหลายพวกที่อยู่รอดชีวิต หลบหลีกจากศัตรูได้ เพราะมีรูปร่างลักษณะ เลียนแบบสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ เช่น ตั๊กแตนใบไม้ และตั๊กแตนกิ่งไม้ มีรูปร่าง และสีสันของลำตัว คล้ายใบไม้ และกิ่งไม้ ที่แมลงนั้นอาศัย ทำให้ศัตรู เช่น นก มองเห็นได้ยาก แมลงหลายพวกมีรูปร่างคล้ายกับแมลงมีพิษ ทำให้ศัตรูไม่กล้ามารบกวน เช่น แมลงวันดอกไม้ ที่มีขนาด ลักษณะลำตัว และสีสัน คล้ายผึ้งหรือตัวต่อ แมลงบางพวกสร้างรังที่อยู่อาศัย โดยเอาเศษกิ่งไม้ใบไม้แห้งมาทำ เมื่อออกหากิน ก็พารังติดไปด้วย และหนีศัตรูโดยหดตัวอยู่ในรัง เช่น หนอนปลอก ทำให้รอดพ้นจากอันตราย แมลงที่มีสารป้องกันตัว ได้แก่ พวกมวน เช่น มวนลำใย มวนเขียว เมื่อมีศัตรูมารบกวน ก็จะส่งกลิ่นเหม็นเขียว ซึ่งศัตรู เช่น นก หนู ทนไม่ได้ ไม่กล้ามาจับกิน แมลงที่มีพิษก็ใช้พิษในการป้องกันตัว เช่น หนอนบุ้งหรือร่าน เมื่อไปสัมผัสกับขนทำให้ขน หัก น้ำพิษจากต่อมใต้ผิวหนังจะผ่านขนออกมา ทำให้ศัตรูเกิดอาการแสบร้อนหรือคัน แมลงตด จะปล่อยน้ำพิษออกมาจากรูก้นที่มีพิษรุนแรง ทำให้ผิวหนังไหม้ หรือหากถูกตา ตาจะบอดได้ ส่วนผึ้ง ต่อ และแตน มีอวัยวะสำหรับต่อย ปล่อยน้ำพิษออกมา ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หรือถ้าถูกต่อยมากๆ ก็ถึงตายได้
ความสามารถในการเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม ลักษณะของแมลงที่ต่างกับสัตว์อื่น ในเรื่องของการเจริญเติบโต โดยมีการลอกคราบ และมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างนั้น ได้อำนวยประโยชน์ให้อย่างมากมาย ในการที่ทำให้แมลงประสบผลสำเร็จในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกได้ดีกว่าสัตว์อื่น ทั้งนี้เพราะการลอกคราบแต่ละครั้ง ช่วยในการขจัดสารพิษออกจากร่างกายไปได้มาก ทำให้แมลงมีความทนทานต่อสารพิษได้มากขึ้น และการเจริญเติบโต โดยการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง โดยเฉพาะทั้งแบบกึ่งสมบูรณ์ สมบูรณ์ และขั้นสูง ช่วยให้แมลงสามารถเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ หลบหลีกภัยจากธรรมชาติได้เป็นอย่างดี แมลงที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างในแต่ละระยะ มีที่อยู่อาศัยไม่เหมือนกัน เช่น แมลงปอ เมื่อเป็นตัวอ่อนอยู่ในน้ำ เมื่อเป็นตัวเต็มวัยอยู่บนบก ฉะนั้น เมื่อน้ำแห้ง ด้วยภัยแห่งความแห้งแล้ง แมลงปอก็ยังสามารถอยู่ได้ในสภาพของตัวเต็มวัย แมลงที่เปลี่ยนแปลงรูปร่าง มีระยะที่กินอาหารไม่เหมือนกัน เช่น ผีเสื้อ เมื่อเป็นตัวหนอนกินใบไม้ เมื่อเป็นผีเสื้อกินน้ำหรือน้ำหวานจากดอกไม้ หากอย่างใดอย่างหนึ่งหมดไป อีกระยะหนึ่งก็อยู่ได้ และที่สำคัญก็คือ แมลงมากชนิด มีระยะที่ไม่ต้องกินอาหารอยู่ ๒ ระยะคือ ระยะไข่ และระยะดักแด้ แมลงจึงหลบภัยในระยะที่ขาดอาหารอยู่ในระยะทั้งสองได้ ระยะดักแด้เป็นระยะที่แมลงมีความทนทานเป็นพิเศษ นอกจากจะไม่กินอาหารแล้ว ยังทนต่อสภาพความแห้งแล้ง ความร้อน และความหนาวเย็นของอากาศ หรือสภาพอื่นๆ เช่น เมื่อเกิดอุทกภัยน้ำท่วม ดักแด้ก็ไม่ตาย หรือลอยตามน้ำไป โดยไม่เป็นอันตราย แมลงมากชนิด เมื่อเป็นตัวเต็มวัย ยังสามารถทนต่อความหนาวได้ดี มีรายงานว่า เพลี้ยอ่อนที่ถูกลมพายุพาตัวลอยไปอยู่ที่สูง ซึ่งมีความหนาวเย็นต่ำกว่า ๐ ° เซลเซียส ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ เมื่อตกไปอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป นี่เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เพลี้ยอ่อนหลายชนิดกระจายไปทั่วโลก แมลงบางชนิดสามารถอดอาหารได้นานๆ เช่น ตัวเรือด สามารถอดอาหารได้ถึงครึ่งปี แมลงจึงรอดชีวิตอยู่ได้ดีกว่าสัตว์อื่น เมื่อเกิดเหตุทุพภิกขภัยต่างๆ ในโลกนี้
นอกจากจะอาศัยการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ให้สามารถอาศัยในสภาพแวดล้อมต่างๆ กันแล้ว แมลงบางพวกยังสามารถดัดแปลงที่อยู่อาศัย ให้เหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ ภายใต้สภาพแวดล้อม ที่กันดารได้ เช่น ปลวก สามารถที่จะสร้างรัง อาศัยอยู่ในที่แห้งแล้งกันดาร อากาศร้อนจัดได้ เพราะปลวกได้ทำรังให้มีช่องทางที่จะดึงน้ำใต้ดินให้ขึ้นสู่รัง และระบายออกทางอากาศข้างบน ซึ่งเมื่อน้ำดูดความร้อนจากรัง ทำให้ระเหยไป ภายในรังของปลวกจึงเย็นกว่าบรรยากาศภายนอกรังมาก ปลวกจึงสามารถอยู่ได้ดีเหมือนกับอยู่ในบ้านที่ปรับอากาศ
ความสามารถในการสื่อถึงกัน
แมลงเฉพาะชนิดสร้างสารเฉพาะอย่าง เพื่อสื่อถึงกันและกัน สารใดก็ตามที่ร่างกายแมลงผลิตขึ้นเอง เมื่อสื่อไปโดยวิธีใดก็ตามไปถึงแมลงชนิดเดียวกัน ทำให้แมลงเหล่านั้นแสดงอาการตอบรับอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง เราเรียกสารนั้นเป็นคำรวมว่า เฟโรโมน (pheromone) การสื่อไปนั้น อาจจะโดยวิธีต่างๆ กัน เช่น ทิ้งร่องรอยให้ติดตามได้ หรือปล่อยให้มีกลิ่นระเหยไปตามบรรยากาศ ส่วนอาการตอบรับ เช่น อาการเข้ามาหา การรวมกลุ่มกัน อาการเร่งเร้าเตรียมการต่อสู้ศัตรู อาการตื่นเต้นตกใจรีบหนี สารเฟโรโมน จึงมีเป็นประเภทต่างๆ กัน ถ้าหากสารนั้น เมื่อสื่อออกไปแล้ว ดึงดูดให้เพศตรงกันข้ามเข้ามาหา ก็เรียก สารเฟโรโมนเพศ (sex pheromone) ซึ่งมีในแมลงหลายชนิด และบางชนิดสามารถสื่อไปได้ไกลๆ แม้จะอยู่ห่างกันนับกิโลเมตร เช่น พวกผีเสื้อกลางคืนหลายชนิด เป็นต้น ที่ตัวผู้รับกลิ่นเฟโรโมนเพศของตัวเมียได้จากที่ซึ่งอยู่ห่างกัน ๕ - ๗ กิโลเมตร ก็สามารถสื่อถึงกันได้ สามารถบินไปหาคู่ และผสมพันธุ์ออกลูกหลานต่อไปได้ โดยไม่สูญพันธุ์
สารบางอย่างเมื่อสื่อไปแล้ว ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันขึ้น เรียกว่า สารเฟโรโมนรวมกลุ่ม (aggregated pheromone) ในกรณีนี้การเข้าหารวมกลุ่ม มิได้จำกัดเฉพาะเพศ ดังตัวอย่างเช่น ด้วงงวงมะพร้าวใหญ่ หรือด้วงไฟใหญ่ ซึ่งมีอยู่ชุกชุมทางภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ตัวผู้ซึ่งยังไม่เคยผสมพันธุ์ จะมีสารเฟโรโมนประเภทนี้มากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ดึงดูดให้ทั้งตัวผู้ และตัวเมียเข้ามาหาทีละมากๆ แมลงหลายชนิด โดยเฉพาะพวกที่รวมกันอยู่เป็นสังคม จะมี เฟโรโมน เตือนภัย (alarm pheromone) เช่น ผึ้ง เมื่อเวลาที่คนเข้าใกล้รัง หากมีผึ้งตัวใดตัวหนึ่งบินมาหา หรือเกาะตัว ถ้าเราไปตบตีเข้า ผึ้งที่ถูกทำร้ายจะปล่อยสารประเภทนี้ออกไปเร่งเร้า ให้พวกที่อยู่ในรังบินออกมาช่วยกันต่อสู้รุมต่อย ฉะนั้น เมื่อเวลาเข้าใกล้รังผึ้ง จะมีข้อห้ามไม่ให้ทำร้ายผึ้งที่เข้ามาหา แม้ตัวใดตัวหนึ่งก็ตาม ในพวกแมลงที่ไม่มีอวัยวะมีพิษที่จะป้องกันตัว เช่น มด เดียดดำ หรือมดไรดำ เมื่อมารุมกันกินอาหาร หากถูกรบกวน หรือถูกทำร้าย มดเหล่านี้จะปล่อยสารที่มีกลิ่นเหม็น อันเป็นพวกเฟโรโมนเตือนภัย ที่ทำให้มดพวกเดียวกันที่อยู่ใกล้บริเวณรีบหนีเอาตัวรอด และสารเหม็นเช่นนี้ ทำให้ศัตรูรังเกียจ ไม่อยากจะเข้าใกล้ เป็นการป้องกันตัวมดไปด้วย
ความสามารถในการแพร่พันธุ์
ประการสุดท้ายที่ควรจะกล่าวถึงก็คือ แมลงสามารถออกไข่ หรือออกลูกเป็นตัวได้เป็นจำนวนมากๆ เช่น แม่แมลงวัน หรือผีเสื้อหนอนกระทู้ เป็นต้น แต่ละตัวสามารถวางไข่ได้ถึง ๓๐๐ - ๔๐๐ ฟอง กว่าจะตาย เพลี้ยอ่อนสามารถออกลูกได้ วันละ ๒ - ๓ ตัว ตลอดชีวิตที่เป็นตัวเต็มวัย ซึ่งอาจจะเป็น ๑ - ๓ เดือน แล้วแต่สภาพแวดล้อม การมีลูกและแพร่พันธุ์ได้มากๆ เช่นนี้ ช่วยให้แมลงเกิดขึ้นได้ชุกชุมภายในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อสภาวะแวดล้อมเหมาะสมในที่ต่างๆ ของโลก และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่แมลงจะไม่สูญพันธุ์ไปง่ายๆ