เล่มที่ 20
เซลล์แสงอาทิตย์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การประยุกต์เซลล์แสงอาทิตย์

            หลังจากเกิดวิกฤติด้านพลังงานในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นต้นมา เซลล์แสงอาทิตย์ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เพื่อเป็นพลังงานทดแทนแหล่งพลังงาน ที่ผลิตด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ประเทศไทยมีการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อใช้งาน แล้วทั้งสิ้นกว่า ๑.๔ เมกะวัตต์ทั่วประเทศ แม้จะเป็นตัวเลขที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ แต่ก็เป็นการใช้งานเฉพาะ และคุ้มค่า โดยเฉพาะการพัฒนาชนบท ได้แก่

การสูบน้ำโดยเซลล์แสงอาทิตย์

แผงเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับอุปกรณ์สื่อสารในภาคสนาม

เซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งโดดเดี่ยวของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

            (๑) การสูบน้ำด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นระบบขนาดเล็ก (๓๐๐ - ๕๐๐ วัตต์) และระบบขนาดกลาง (๑ - ๒ กิโลวัตต์) ติดตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคอีสานของประเทศไทย

            (๒) การอัดแบตเตอรี่ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ซึ่งเป็นระบบขนาดตั้งแต่ ๑ - ๑๐ กิโลวัตต์ เพื่อใช้เป็นศูนย์อัดประจุแก่แบตเตอรี่ประจำหมู่บ้านในชนบท ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เพื่อเป็นไฟแสงสว่าง ฟังวิทยุ และดูโทรทัศน์ในยามกลางคืน

            (๓) แหล่งกำเนิดไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ สำหรับสถานีทวนสัญญาณไมโครเวฟขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งติดตั้งใช้งานทั่วประเทศกว่า ๑๐๐ สถานี ทั้งบนภูเขา บนเกาะ และท้องถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเป็นระบบขนาด ๑ - ๒ กิโลวัตต์

            (๔) แหล่งกำเนิดไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ สำหรับอุปกรณ์สื่อสารที่เคลื่อนที่ได้ เช่น วิทยุสนามของหน่วยงานบริการ และวิทยุสนามของทหาร เป็นต้น แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใช้งานนี้ จะเป็นแบบพับได้ และกางออกใช้งาน เมื่อต้องการ เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้าย มีขนาดเล็กและเบา ให้กำลังไฟฟ้าตั้งแต่ ๑๐-๑๐๐ วัตต์

            (๕) แหล่งกำเนิดไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับไฟสัญญาณต่างๆ เช่น ไฟสัญญาณสนามบิน รางรถไฟ ประภาคารในทะเล ฯลฯ

            (๖) เซลล์แสงอาทิตย์สำหรับตู้เย็นสนาม เพื่อเก็บวัคซีนสำหรับหน่วยอนามัย และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในท้องถิ่นทุรกันดาร

            (๗) สถานีผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยเป็นสถานีที่แยกอิสระ (Stand Alone) และสถานีผลิตร่วม (Hybrid System) ที่เชื่อมโยงกับระบบผลิตกระแสไฟฟ้า ด้วยพลังงานน้ำ และกังหันลม

            (๘) ระบบเติมออกซิเจนในน้ำด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับบ่อกุ้งและบ่อปลา เป็นการประยุกต์เซลล์แสงอาทิตย์ ในด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่จดสิทธิบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            (๙) ชุดปิดเปิดประตูบ้านด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นการออกแบบระบบ เพื่อใช้งานกับบ้านที่อยู่ในเมือง หรือใช้กับการปิดเปิดประตูของคอกปศุสัตว์ ซึ่งเป็นผลงานที่จดสิทธิบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย