เล่มที่ 20
เซลล์แสงอาทิตย์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

การใช้เซลล์แสงอาทิตย์กับไฟสัญญาณในทะเล

อายุการใช้งานและราคาต้นทุนของเซลล์แสงอาทิตย์

            เซลล์แสงอาทิตย์ทำจากสารกึ่งตัวนำ และเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานได้ โดยไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เซลล์แสงอาทิตย์จะถูกปิดผนึกอย่างดี เพื่อ ป้องกันความชื้นจากบรรยากาศ ดังนั้นอายุการใช้งานของเซลล์แสงอาทิตย์จึงยืนยาว โดยเฉพาะเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำจากผลึกซิลิคอน ซึ่งจะมีอายุการใช้งานกว่า ๒๕ ปี ส่วนเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ทำจากอะมอร์ฟัสซิลิคอน จะมีอายุการใช้งานสั้นกว่า เนื่องจากวัสดุอะมอร์ฟัสยังไม่มีเสถียรภาพดี พอต้องการการพัฒนาคุณภาพอีกระยะหนึ่ง จึงมีอายุอยู่ระหว่าง ๓ - ๕ ปี ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ งานกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วๆ ไป เช่น เครื่องคิดเลข และนาฬิกาข้อมือ ส่วนเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำจากแกลเลียมอาร์เซไนด์ จะมีอายุการใช้งานยืนยาวพอๆ หรือมากกว่าซิลิคอน เพราะทนต่อการแผ่รังสีในอวกาศได้ดีกว่า จึงเหมาะสำหรับใช้กับดาวเทียม และยานอวกาศ

            ราคาต้นทุนการผลิตของเซลล์แสงอาทิตย์ แบบผลึกซิลิคอนในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ อยู่ที่ ๕ ดอลลาร์ (หรือประมาณ ๑๒๕ บาท) ต่อวัตต์ หรือเป็นราคาต้นทุนการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ที่มี เส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ นิ้ว ๑ ชิ้น ปกติแผงเซลล์ แสงอาทิตย์มาตรฐานทั่วไป จะมีเซลล์แสงอาทิตย์ต่ออนุกรมอยู่ ๓๐-๔๐ ตัว จึงมีราคาต้นทุนการผลิต ประมาณ ๕,๐๐๐ บาทต่อแผง ในขณะที่ราคาขายในท้องตลาดจะสูงกว่า ๑๐,๐๐๐ บาทต่อแผง ที่ให้กำลังไฟฟ้า ๔๐ วัตต์

            สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์แบบอะมอร์ฟัสซิลิคอน จะมีราคาต้นทุนการผลิต ที่ถูกกว่าผลึกซิลิคอน แต่มักจะผลิตจำหน่ายเป็นเซลล์ขนาดพื้นที่เล็กๆ และใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่กินไฟฟ้าน้อยๆ เพราะมีประสิทธิภาพต่ำ และไม่คงทนต่อการใช้งาน

            การใช้งานเซลล์แสงอาทิตย์จะคุ้มทุน เมื่อใช้งานไปนานๆ เพราะเป็นการลงทุนครั้งเดียว เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง และการบำรุงรักษา นอกจากนี้ยังเป็นพลังงานที่ สะอาดอีกด้วย