ภาวะพร่องออกซิเจน (HYPOXIA)
ภาวะพร่องออกซิเจน หมายถึง ภาวะที่ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เป็นสาเหตุให้การทำงานของร่างกายและสมองบกพร่อง
ชนิดของภาวะพร่องออกซิเจน
แบ่งตามสาเหตุได้เป็น ๔ ชนิด คือ
๑. ภาวะพร่องออกซิเจนซึ่งร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย (Hypoxic Hypoxia) เป็นภาวะพร่องออกซิเจนที่พบได้บ่อยที่สุดเกิดขึ้นเนื่องจาก
๑.๑ ความกดดันของออกซิเจนในถุงลมปอดลดลง มักเกิดขึ้นจากการขึ้นไปอยู่ในที่สูง ซึ่งความกดบรรยากาศลดลง ทำให้ความกดดันย่อยของออกซิเจนลดลงด้วย จึงอาจเรียกภาวะพร่องออกซิเจนแบบนี้ว่า ภาวะพร่องออกซิเจนจากระยะสูง (Altitude Hypoxia) นอกจากนี้แล้วอาจเกิดจากการกลั้นหายใจ โรคหอบหืด อากาศที่หายใจมีก๊าซอื่นปะปน เป็นต้น
๑.๒ พื้นที่ซึ่งใช้ในการแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างปอดกับกระแสโลหิตลดลง เช่น ปอดบวม ปอดแฟบ มีลมในช่องปอด จมน้ำ เป็นต้น
๑.๓ ออกซิเจนไม่สามารถซึมผ่านจากถุงลมปอดไปสู่กระแสโลหิตได้สะดวก เช่น ปอดบวม จมน้ำ โรคเยื่อไฮยาลีน เป็นต้น
๒. ภาวะพร่องออกซิเจนซึ่งมีสาเหตุจากเลือด (Hypemic Hypoxia)
เป็นภาวะพร่องออกซิเจน ที่เกิดจากความบกพร่องในการนำพาออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกาย เช่น จำนวนเม็ดเลือดแดงในกระแสโลหิตลดลงจากโรคโลหิตจาง หรือการเสียเลือด ภาวะผิดปกติของสารเฮโมโกลบิน (Hemoglobin) ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้ตามปกติ ตลอดจนการที่ร่างกายได้รับยาหรือสารพิษบางอย่าง ที่ทำให้สารเฮโมโกลบิน หรือเม็ดเลือดแดง เกิดความบกพร่องในการจับออกซิเจน เช่น ยากลุ่มซัลฟานิลาไมด์ (Sulfanilamides) สารไซยาไนด์ (Cyanide) หรือก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) เป็นต้น
๓. ภาวะพร่องออกซิเจนซึ่งมีสาเหตุจากการคั่งของกระแสโลหิต (Stagnant Hypoxia)
เป็นภาวะพร่องออกซิเจน ที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการไหลเวียนของกระแสโลหิต เช่น การลดลงของปริมาณแรงดันเลือดจากหัวใจ เนื่องจากโรคหัวใจล้มเหลว หรือภาวะเลือดคั่งอยู่ที่ร่างกายส่วนล่างเนื่องจากแรง G เป็นต้น
๔. ภาวะพร่องออกซิเจนซึ่งมีสาเหตุจากภาวะเป็นพิษของเซลล์ (Histotoxic Hypoxia)
เป็นภาวะพร่องออกซิเจน ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่เซลล์ต่างๆ ของร่างกายไม่สามารถนำเอาออกซิเจนไปใช้ได้เนื่องจากได้รับสารพิษ เช่น แอลกอฮอล์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ สารไซยาไนด์ เป็นต้น
อาการของภาวะพร่องออกซิเจน
ภาวะพร่องออกซิเจนนับว่า เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากมักจะเกิดอาการขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่รู้สึกตัว (Insidious onset) จนหมดสติไปในที่สุด โดยทั่วไปแล้ว มีอาการ และอาการแสดง ดังนี้
อาการ (Subjective symptoms)
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตนเองรู้สึกได้เช่น มึนงง วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ร้อนๆ หนาวๆ วูบวาบตามตัว มือเท้าชา ตาพร่ามัว ลานสายตาแคบลง เคลิ้มฝันเป็นสุข (euphoria) ไม่รู้สึกวิตกกังวลใดๆ เป็นต้น อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับแต่ละคน และแต่ละวัน อาจจะแตกต่างกันไป ซึ่งตัวเองอาจสังเกต และจดจำไว้ เป็นสัญญาณเตือนให้ทราบว่า กำลังเกิดภาวะพร่องออกซิเจนขึ้นแล้ว
อาการแสดง (Objective signs)
เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยผู้อื่นสามารถสังเกตเห็นหรือตรวจพบได้ เช่น หายใจเร็วและลึกขึ้น (air hunger) เขียวคล้ำ (cyanosis) สับสน (confusion) การทำงานของกล้ามเนื้อไม่ประสานกัน (muscle incoordination) หรือหมดสติในที่สุด
ระยะเวลาครองสติ (Time of Useful Consiousess)
คือ ระยะเวลาตั้งแต่ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการของภาวะพร่องออกซิเจนขึ้น จนกระทั่งหมดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ซึ่งขณะนั้นอาจจะยังไม่ถึงกับหมดสติก็ได้ ระยะเวลาดังกล่าวขึ้นอยู่กับระยะสูง ที่ทำการบิน ซึ่งมีค่าเฉลี่ยตามตารางแสดงระยะเวลาครองสติที่ระยะสูงต่างๆ
ตารางแสดงระยะเวลาครองสติที่ระยะสูงต่างๆ