เล่มที่ 23
การละเล่นพื้นเมือง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            การละเล่นพื้นเมือง คือ การละเล่นที่แสดงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ที่มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เป็นกิจกรรมบันเทิงที่แฝงไว้ด้วยสัญลักษณ์ อันเนื่องด้วยวัฒนธรรม และประเพณี สะท้อนวิถีชีวิต และความเชื่อของสังคม ที่สืบทอดมาแต่โบราณ

            ประวัติศาสตร์ไทยได้บันทึกไว้ว่า คนไทยมีการละเล่นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จากความในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ จารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กล่าวว่า "...ใครใคร่จักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื่อน เลื่อน..." และในสมัยอยุธยา ก็ได้กล่าวถึงการแสดงเรื่องมโนห์ราไว้ในบทละครครั้งกรุงเก่า ซึ่งกล่าวถึงการละเล่นในบทละครนั้น ได้แก่ ลิงชิงหลัก และปลาลงอวน

            ประเพณีและวัฒนธรรมไทยสมัยก่อน มักสอดแทรกความสนุกสนานบันเทิง ควบคู่ไปกับการทำงาน ทั้งในชีวิตประจำวัน ในเทศกาลงานบุญ และตามระยะเวลาแห่งฤดูกาล เรียกกิจกรรมบันเทิงว่า เป็นการละเล่น ครอบคลุมการเล่นลักษณะต่างๆ ทุกโอกาส ไว้ในความหมายเดียวกันว่าคือ การแสดง การมหรสพ กีฬา และนันทนาการ

รำเบิกโรงละครเทพนิยายเรื่องวัสสันตนิยาย

ระบำควนคราบุรี ระบำของ จ.จันทบุรี

การแสดง

            หมายถึง การละเล่นที่รวมทั้งที่เป็นแบบแผน และการแสดงทั่วไปของชาวบ้าน ในรูปแบบของการร้อง การขับ การบรรเลง การฟ้อนรำ ซึ่งประกอบด้วยดนตรี เพลง และนาฏศิลป์

มหรสพ

            หมายถึง การแสดงที่ฝ่ายบ้านเมืองจะเรียกเก็บค่าแสดงเป็นเงินภาษีบำรุงแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติที่กำหนดไว้ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๐๔ เป็นต้นมา ประกาศมหรสพ ว่าด้วยการละเล่นหลายประเภท ดังนี้ ละครไทย ละครชาตรี ละครแขก งิ้ว หุ่นไทย หุ่นจีน หุ่นต่างๆ หนังไทย หนังตะลุง หนังแขก หนังจีน หนังต่างๆ เพลง สักวา เสภา ลิเก กลองยาว ลาวแพน มอญและทวายรำ พิณพาทย์ มโหรี กลองแขก คฤหัสถ์สวดศพ และจำอวด

กีฬาและนันทนาการ

            คือ การเล่น เพื่อความสนุกสนานตามเทศกาล และเล่นตามฤดูกาล และการละเล่น เพื่อการแข่งขัน หรือกิจกรรมที่ทำตามความสมัครใจในยามว่าง เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และผ่อนคลายความตึงเครียด

            การละเล่นมีทั้งของเด็ก และของผู้ใหญ่ การละเล่นของเด็กจะเริ่มตั้งแต่เป็นทารกแบเบาะ จนกระทั่งเจริญวัย มีการเล่นง่ายๆ อยู่ภายในบ้าน การเล่นสนุกนอกบ้าน และการเล่น ที่นำอุปกรณ์การเล่นมาจากวัสดุธรรมชาติเป็นการเล่นที่มุ่ง เพื่อการพัฒนาร่างกาย สมอง และจิตใจตามวัย

            ส่วนการละเล่นของผู้ใหญ่ มีความซับซ้อนในวิธีการเล่นตามประเภทของการแสดง มีทั้งมุ่งแสดงเพื่อบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นพิธีกรรม การเฉลิมฉลอง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ การสมโภชในงานของพระศาสนา และการสังสรรค์สนุกสนานบันเทิงของชาวบ้าน เพื่อความรื่นเริงในการชุมนุมกันเป็นหมู่คณะ เมื่อร่วมกันทำงาน โดยเฉพาะการทำนา และเล่นเพื่อความครึกครื้นตามประเพณีเทศกาลตรุษสารท และยามว่างในฤดูกาล

            การละเล่นพื้นเมืองเป็นวัฒนธรรมประจำ ชาติ ทุกภาคของประเทศจะมีการละเล่นที่เป็น เอกลักษณ์เฉพาะภาคหลายอย่างต่างๆ กัน นับ ตั้งแต่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก- เฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ภาคตะวันออก และ ภาคใต้ การละเล่นเกือบทุกชนิดมักจะมีอุปกรณ์ ที่เกื้อกูลกัน ๓ อย่าง คือ ดนตรี เพลง และการฟ้อนรำ ซึ่งล้วนแต่มีพื้นฐานมาจาก การละเล่นพื้นบ้าน ผสมผสานกับอิทธิพล ของหลวงหรือส่วนกลาง การละเล่นหลายอย่าง เล่นแพร่หลายกันอยู่ทั่วทุกภาค อาจผิดแปลกกัน ไปบ้างในส่วนปลีกย่อยของลีลาการร่ายรำ สำเนียง ของบทร้อง ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องบังคับ การแสดงอาจไม่เหมือนกันทีเดียว แต่ในโครง สร้างหลักอันเป็นองค์ประกอบของการละเล่น จะ แสดงลักษณะของความเป็นพื้นบ้านพื้นเมือง และ มีวิวัฒนาการต่อเนื่องกันตามยุคสมัย สามารถ จำแนกลักษณะของการละเล่นพื้นเมืองได้เป็น ประเภท ดังนี้

๑. การเล่นเพลงและระบำรำฟ้อน

            เพลง คู่กับ ระบำรำฟ้อน การละเล่นแต่โบราณที่กล่าวไว้ในเอกสารเก่าหลายอย่าง ได้สูญหายไป ที่ไม่ทราบวิธีการเล่นก็มีจำนวนไม่น้อย เนื่องจากในสมัยก่อน บ้านเมืองมีประชากรน้อย ความต้องการทางเศรษฐกิจไม่เร่งรัดขวนขวาย เช่นในปัจจุบัน ราษฎรมีเวลาประกอบกิจกรรม ทั้งการบุญ และการพบปะสังสรรค์ ช่วยเหลือเกื้อกูลในการงานของกันและกันภายในท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่ ประเพณีและวัฒนธรรมในสังคม ได้สร้างมรดกทางการแสดงไว้หลายรูปแบบ ทั้ง การร้อง การรำ การเล่นเพลง เมื่อบ้านเมืองมี ความเจริญขึ้นตามยุคสมัย ประชากรเพิ่มมากขึ้น ความจำเป็นด้านการครองชีพมีส่วนทำให้สังคม ชนบทต้องว่างเว้นการสร้างงานด้านวัฒนธรรม การละเล่นพื้นเมืองหลายอย่างจึงสูญหายไปโดย ไม่มีการสืบต่อ การเล่นเพลงส่วนใหญ่จะมีลักษณะ เป็นเพลงปฏิพากย์ คือ ร้องเกี้ยวพาราสีโต้ตอบ ด้วยวาทะโวหารระหว่างหญิงชาย ส่วนระบำ รำฟ้อน จะเป็นการร่ายรำตามศิลปะของแต่ละ ท้องถิ่น ถือว่าเป็นนาฏศิลป์พื้นเมือง จึงนิยม เล่นหรือแสดงกันในท้องถิ่น ในภาษาไทยมีคำว่า "รำบำ" หรือ "ระบำ" มักจะเป็นการร่ายรำ ทั่วไป ส่วน "ฟ้อน" จะใช้เฉพาะในภาคเหนือ

            การละเล่นภาคกลางและภาคตะวันออก ได้แก่ การเล่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำนา การเล่น ในเทศกาลงานบุญ ตรุษ สงกรานต์ และการเล่นในฤดูน้ำหลาก มักเรียกการละเล่นพื้นเมืองประเภทนี้ว่า เป็น "การเล่นเพลง" การเล่นเพลง ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำนาก็จะเป็นการเล่นตามขั้นตอนการเก็บเกี่ยวได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงนา เพลงสงฟางหรือพานฟาง เพลงสงคอลำพวน เพลงเต้นกำรำเคียว เพลงรำเคียว เพลงชักกระดาน เพลงพาดควาย เมื่อหมดฤดู ทำนาก็มักจะเล่นเพลงปฏิพากย์ ได้แก่ เพลงฉ่อย เพลงเรือ เพลงปรบไก่ เพลงชาวไร่ หรือระบำชาวไร่ เพลงพวงมาลัย เพลงอีแซว เพลงลำตัด เพลงเหย่อย เพลงยั่ว เพลงหน้าใย เพลงจาก เพลงทรงเครื่อง เพลงเทพทอง เพลงไก่ป่า

            ยังมีเพลงเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ที่ไม่ระบุว่าเล่นเวลาใด ได้แก่ เพลงพิษฐาน เพลงคล้องช้าง เพลงร่อยพรรษา เพลงขอทาน เพลงโม่งเจ้ากรรม ซึ่งแตกออกเป็นเพลงย่อยอีกหลายเพลงคือ เพลงรำ เพลงนกยูง เพลงนกแก้ว เพลงนก อีแซว เพลงจ่อนโบด เพลงแม่นางเอ๋ย เพลงอึ่งใส่เกลือ เพลงมะม่วงวัดเขา เพลงที่กล่าวมานี้ ปัจจุบันจะล้าสมัยและสูญหายไปแล้วเป็นส่วนใหญ่

            การละเล่นภาคเหนือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ การฟ้อนต่างๆ ศิลปะการฟ้อนในภาคเหนือ จะมีดนตรีพื้นบ้านประกอบ ซึ่งอาจมีท่วงทำนองเป็น เพลงบรรเลงล้วน หรือเป็นเพลงที่มีการขับร้อง ประกอบร่วมด้วย การฟ้อนของภาคเหนือ แต่ก่อนมิได้มุ่งถึงการบันเทิง แต่เกิดจากพิธีกรรมทางศาสนา และความเชื่อทางประเพณี ในการบูชา ผีปู่ย่าตายาย ผีบรรพบุรุษ เป็นหลัก การฟ้อน ได้วิวัฒนาการไปตามยุค มาเป็นการฟ้อนอีกหลายอย่าง นอกจากนั้น ยังมีการเล่นกลองสะบัดชัย การร่ายรำ ตบมะผาบ ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง หรือเชิง ซึ่งมักจะมีดนตรี และมีกลองเป็นหลัก เข้าประกอบจังหวะ

            การละเล่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ภาคอีสานประกอบด้วย ๑๖ จังหวัด นอกจากชาวไทยแล้ว ยังมีชาวพื้นเมืองที่มีเชื้อสายเขมร เชื้อสายภูไท หรือผู้ไทย ลาว กุย แสก โซ่ง ฯลฯ การละเล่นพื้นเมืองจึงมีหลายประเภท เช่น แสกเต้นสาก ฟ้อนภูไท กันตรึม รำแคน หมอลำ รำโทน

การละเล่นของภาคต่างๆ :การรำแคนของภาคอีสาน

            การละเล่นภาคใต้ ได้แก่ เพลงเรือ เพลงลา เพลงคำตัก คำบอก แปดบท การสวดมาลัย เล่นมหาชาติทรงเครื่อง หนังตะลุง โนราชาตรี ลิเกป่า รองเง็ง

การละเล่นของภาคต่างๆ :การรำโนราของภาคใต้

๒. การเล่นเข้าผี

            การเล่นเข้าผี คือ การเชิญวิญญาณ สิ่งที่ประสงค์จะให้มาเข้าทรงผู้ใดผู้หนึ่ง ให้เป็นสื่อ เพื่อความสนุกสนาน รื่นเริง ในรูปแบบต่างๆ เล่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หญิงและชาย มักเล่นในเทศกาลสงกรานต์ แต่ละภาคมีการละเล่นต่างๆ กัน

            ภาคกลาง ได้แก่ การเล่นแม่ศรี ลิงลม ผีกะลา ผีนางกวัก ฯลฯ

            ภาคใต้ เรียกการเข้าผีว่า การเล่นเชื้อ ได้แก่ เชิญผีช้าง ผีหงส์ ผีมดแดง เป็นต้น

            ภาคเหนือ เป็นการฟ้อนเชิญผีเรือน ผีปู่ย่า ตายาย มาเซ่นไหว้ตามประเพณี ส่วนการเล่นผี ที่เรียกว่า นายเด้ง คือ การเล่นแม่ศรีอย่างภาคกลาง

            ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เชิญผีปู่ย่าตายายมาเซ่นไหว้เช่นเดียวกับภาคเหนือ

๓. กีฬาและนันทนาการ

            เล่นกันทั่วทุกภาค ได้แก่ มวยไทย กระบี่กระบอง ว่าว ตะกร้อ วิ่งเปี้ยว สะบ้า หมากรุก วิ่งวัวคน แข่งเรือ ชักเย่อ ชนวัว

การแข่งเรือ