เล่มที่ 23
การผลิตเบียร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประวัติการผลิตเบียร์ในประเทศไทย

            ส่วนประวัติของอุตสาหกรรมเบียร์ในประเทศไทยนั้น ได้เริ่มต้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระปรีชาญาณในด้านเศรษฐกิจ พาณิชยกรรม และธุรกิจเป็นอย่างสูง ทรงปรารถนาที่จะให้คนไทยดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรม ทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน จึงทรงดำเนินนโยบายมุ่งส่งเสริมคนไทย ให้ได้ประกอบกิจการอุตสาหกรรม ที่สำคัญต่างๆ

            ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตผลิตเบียร์ ต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งมีพระยาโกมารกุลมนตรี เป็นเสนาบดี กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ อยู่ในขณะนั้น พร้อมทั้งทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตโดยเห็นว่า เบียร์เป็นสินค้าที่ชาวต่างประเทศได้ส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศสยามนานแล้ว ทำให้มีเงินออกนอกประเทศมาก ถ้าสามารถผลิตขึ้นได้เองก็จะป้องกันเงินออกนอกปรเทศ และประหยัด รวมทั้งได้ประโยชน์ที่จะสามารถขายได้ราคาถูกกว่า สามารถใช้ปลายข้าวแทนข้าวมอลต์ ทำให้กรรมกรไทยมีงานทำ

โรงเบียร์บุญรอด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓

            ความคิดที่จะผลิตเบียร์ขึ้นเองของพระยาภิรมย์ภักดีนั้น เนื่องมาจากพระยาภิรมย์ภักดี มีกิจการเดินเรือเมล์ระหว่างตลาดพลูกับท่าเรือราชวงศ์โดยใช้ชื่อว่า บริษัทบางหลวง จำกัด ต่อมารัฐบาลได้เริ่มสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าและตัดถนนเชื่อมตลาดพลูและประตูน้ำภาษีเจริญ ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับที่พระยาภิรมย์ภักดีมีกิจการเดินเรืออยู่ ทำให้ไม่สามารถเดินเรือได้ จึงต้องหาหนทางขยับขยายกิจการเดินเรือไปทำกิจการค้าอย่างอื่นเพื่อรองรับ เมื่อศึกษาเห็นว่าเบียร์สามารถผลิตในประเทศเขตร้อนได้ จึงได้เริ่มโครงการที่จะตั้งโรงงานผลิตเบียร์ขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อยื่นเรื่องขออนุญาตต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติแล้ว ทำให้มีการพิจารณากันอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายในเรื่องนี้มาก่อน โดยเฉพาะในเรื่องการพิจารณาภาษีเบียร์ ซึ่งครั้งแรกกำหนดให้เสียภาษีลิตรละ ๖๓ สตางค์ ระหว่างที่รอการอนุญาตจากทางรัฐบาล พระยาภิรมย์ภักดีได้เดินทางไปเมืองไซ่ง่อน ประเทศอินโดจีน ในปีพ.ศ. ๒๔๗๔ เพื่อศึกษาแบบแปลนเครื่องจักร ตลอดจนวิธีผลิตเบียร์ หลังจากรัฐบาลพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตเบียร์และการเก็บภาษีเบียร์ผ่านไปประมาณ ๑ ปี จึงได้อนุญาตให้พระยาภิรมย์ภักดีผลิตเบียร์ได้ แต่ห้ามการผูกขาด และให้คิดภาษีเบียร์ ในปีแรกลิตรละ ๑ สตางค์ ปีที่สองลิตรละ ๓ สตางค์ ปีที่สามลิตรละ ๕ สตางค์ ส่วนปีต่อๆ ไป จะพิจารณาตามที่เห็นสมควร

ขวดเบียร์ที่บรรจุแล้ว พร้อมนำไปปิดฉลากบรรจุลงลัง

            ต่อมาประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ กระทรวงมุรธาธร โดยพระองค์เจ้าศุภโยคเกษม ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลละอองธุลีพระบาท ความว่า ได้รับรายงานจากกรมสรรพสามิตว่า นายลักกับนายเปกคัง ยี่ห้อทีเคียวได้ยื่นเรื่องขออนุญาตผลิตเบียร์ขึ้นจำหน่ายในพระราชอาณาเขต โดยรับรองว่า จะผลิตเบียร์ชนิดที่ทำด้วยฮ็อพและมอลต์ชนิดเดียวกับเบียร์ต่างประเทศ โดยจะผลิตประมาณ ๑๐,๐๐๐ เฮกโตลิตรต่อปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชกระแสว่า "เป็นเรื่องแย่งกับพระยาภิรมย์ และถ้าให้ทำ ก็คงทำสำเร็จก่อนพระยาภิรมย์ภักดี เพราะฉะนั้นคนที่เริ่มคิดก่อน และเป็นพ่อค้าไทย กลับจะต้องฉิบหาย และทำไม่สำเร็จ" ทรงเห็นว่า ไม่ควรอนุญาต "พระยาภิรมย์ขอทำก่อน ได้อนุญาตไปแล้ว เวลานี้ยังไม่ควรอนุญาตให้ใครทำอีก เพราะจะมีผล ๒ อย่าง คือ
๑. คนไทยกินเบียร์กันท้องแตกตายหมด เพราะจะแย่งกันขายลดราคาแข่งกัน
๒. คงมีใครฉิบหายคนหนึ่ง ถ้าหากไม่ฉิบหายกันหลายคน"

            สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้กราบบังคมทูลสนับสนุนว่า "ไม่ควรอนุญาตให้ผลิตในเวลานี้ ควรรอดูว่า พระยาภิรมย์จะทำสำเร็จหรือไม่ และคอยสังเกตเรื่องการบริโภคก่อน นอกจากนั้นผู้ขออนุญาตรายนี้เป็นคนต่างด้าว จึงสามารถที่จะอ้างได้ว่า ต้องอุดหนุนคนไทย และอุตสาหกรรมที่มีทุนไทยก่อน" ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังตอบว่า "ยังไม่ให้อนุญาต รัฐบาลได้อนุญาตไปรายหนึ่งแล้ว ต้องรอดูก่อนว่า จะได้ผลอย่างไร เพราะเรื่องนี้สำคัญ สำหรับความสุขของราษฎร และฝ่ายพระยาภิรมย์ จะใช้ข้าวและผลพลอยได้ (Byproduct) ของข้าวด้วย ฝ่ายรายที่ขออนุญาตใหม่ ไม่ใช้ข้าวเลย"

มีข้อที่น่าสังเกตที่พระยาวิษณุบันทึกไว้ว่า

            ๑. ที่จะอนุญาตให้พระยาภิรมย์นั้น ดูมีพระราชประสงค์จะอุดหนุนการตั้งโรงงานของไทย

            ๒. อัตราภาษี รายพระยาภิรมย์นั้น เป็นทำนองรัฐบาลให้เป็นพิเศษแก่พระยาภิรมย์ผู้เริ่มคิด ให้ได้ตั้งต้นได้ โดยใช้อัตราทั่วไป

            ๓. รายใหม่นี้ในเงื่อนไขไม่ได้กำหนดภาษีลงไป แต่คลังรายงานเป็นทำนองว่า จะเก็บภาษีอัตราเดียวกับที่จะเก็บจากพระยาภิรมย์

            ๔. แม้ตกลงไม่ให้โมโนโปลี (Monopoly) แก่พระยาภิรมย์ภักดี ก็เคยมีพระราชดำริอยู่ว่า ชั้นนี้ควรอนุญาตให้พระยาภิรมย์ทำคนเดียวก่อน ถ้าให้หลายคนก็เป็น อิคอนอมิก ซูอิไซด์ (Economic suicide)

จึงนับได้ว่า กรณีการส่งเสริมการตั้งโรงงานผลิตเบียร์ เป็นพระบรมราชโองการ ส่งเสริมการลงทุนฉบับแรกของเมืองไทย ก่อนที่จะมีกฎหมายส่งเสริมการลงทุน เพื่ออุตสาหกรรม ใน พ.ศ. ๒๕๐๑

            เมื่อได้รับอนุญาตจากทางรัฐบาลให้ตั้งโรงงานผลิตเบียร์แล้ว พระยาภิรมย์ภักดี จึงเดินทางไปยุโรป เพื่อซื้อเครื่องจักรในการผลิตเบียร์ แต่เมื่อกลับมาเมืองไทย มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นหัวหน้ารัฐบาล ทางรัฐบาลไทยไม่ยอมให้เสียภาษีตามพิกัดเดิมที่ตกลงกันไว้กับรัฐบาลเก่า แต่ได้ตกลงกันให้เสียภาษี ในอัตราลิตรละ ๑๐ สตางค์ เมื่อประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังจากนั้น จึงได้สร้างโรงงานขึ้น บริเวณที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางกระบือ โดยขอเช่าจากเจ้าพระยารามราฆพ ต่อมาจึงได้ขอซื้อมาเป็นกรรมสิทธิ์ ขณะทำการก่อสร้างนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาเสด็จฯ มาชมการก่อสร้างโรงงานถึงสองครั้ง พระยาภิรมย์ภักดีตั้งใจว่า จะตั้งชื่อบริษัทขณะที่จัดรูปแบบของบริษัทอยู่นั้นว่า บริษัทเบียร์สยาม แต่ถูกทักท้วงว่า ในบ้านเมืองนี้ อะไรก็ชื่อสยามทั้งนั้น จึงตัดสินใจเอาชื่อของตนเองมาตั้งเป็นชื่อบริษัท โดยให้ชื่อว่า บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เบียร์ไทยที่ผลิตออกมาครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ นั้น ได้นำไปทดลองดื่มกัน ในงานสโมสรคณะราษฎร์ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๗๗ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงเปิดป้ายบริษัท เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เบียร์รุ่นแรก ที่ผลิตออกมา และวางจำหน่าย ในราคาขวดละ ๓๒ สตางค์นั้น มีเครื่องหมายการค้าอยู่หลายตรา คือ ตราหมี ตราสิงห์แดง ตราสิงห์ขาว ตราแหม่ม ตราพระปรางค์ทอง ตราว่าวปักเป้า ตรากุญแจ ตรารถไฟ และตราสิงห์ ซึ่งไม่ว่า จะเป็นตราอะไรก็ตาม ชาวบ้านสมัยนั้น มักจะเรียกรวมกันไปว่า "เบียร์เจ้าคุณ"