“มัสยิด” เป็นคำภาษาอาหรับ หมายถึง สถานที่สำหรับแสดงความภักดีต่อพระเจ้าของ ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
ศาสนาอิสลาม
คำว่า อิสลาม เป็นคำภาษาอาหรับ แปลว่า “การยอมจำนน การปฏิบัติตาม และการนอบน้อม” ศาสนาอิสลามจึงมีความหมายถึง การเป็นศาสนาแห่งการนอบน้อมต่อ พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.)๑ ซึ่งเป็นพระเจ้าองค์เดียว และมี นบีมุฮัมมัด (ซ.ล.)๒ เป็นศาสดาองค์สุดท้าย ศูนย์กลางของการเผยแผ่ศาสนาอยู่ที่นครมักกะฮ์ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “เมกกะ” และนครมะดีนะฮ์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย
ศาสนาอิสลามสอนให้คนทำความดี เพื่อหวังในความโปรดปรานจากพระเจ้า ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเรียกว่า มุสลิม ซึ่งยึดถือคัมภีร์ “อัลกุรอาน” และบันทึก “อัลหะดีษ” เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต โดยมีหลักศาสนาที่สำคัญ ได้แก่
หลักศรัทธา (อัลอีมาน)
๑. ศรัทธาต่อเอกองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.)
๒. ศรัทธาต่อบรรดาเทวทูต (มลาอิกะฮ์) ของพระเจ้า
๓. ศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ของพระเจ้า
๔. ศรัทธาต่อบรรดาศาสดา
๕. ศรัทธาต่อวันปรโลก
๖. ศรัทธาต่อกฎกำหนดสภาวะ
หลักปฏิบัติ (อัลอิสลาม)
๑. การปฏิญาณตน
๒. การละหมาด หรือการเข้าเฝ้าพระเจ้า เพื่อแสดงความภักดีต่อพระองค์
๓. การบริจาคซะกาต หรือการบริจาคทานบังคับ
๔. การถือศีลอด
๕. การประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย
ศาสนสถานของมุสลิมเรียกว่า มัสยิด ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธี และเป็นศูนย์กลางกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนมุสลิม
มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี
ความหมายและความสำคัญของมัสยิด
ในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐ ให้คำนิยามไว้ว่า มัสยิด หมายถึง
“สถานที่ซึ่งมุสลิมใช้ประกอบศาสนกิจ โดยจะต้องมีละหมาดวันศุกร์เป็นปกติ และเป็นสถานที่สอนศาสนาอิสลาม
โดยมีคณะกรรมการมัสยิดดูแลกิจการต่างๆ ของมัสยิด ซึ่งรวมถึง
อิหม่าม หมายถึง ผู้นำศาสนาอิสลามประจำมัสยิด
คอเต็บ หมายถึง ผู้แสดงธรรมประจำมัสยิด
บิหลั่น หมายถึง ผู้ประกาศเชิญชวนให้มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจตามเวลา”
มัสยิดจึงเป็นสถานที่พิเศษที่ใช้แสดงความภักดีต่อพระเจ้า และทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับศาสนา รวมทั้งการดำเนินชีวิตประจำวัน ตามแนวทางของศาสนาอิสลาม มักสร้างให้มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเกิดสมาธิในการแสดงความภักดีต่อพระเจ้า โดยไม่ต้องผ่านสื่อ หรือตัวแทน จึงไม่ปรากฏว่า มีการใช้สื่อหรือสัญลักษณ์ใดในมัสยิด โดยเฉพาะการใช้รูปภาพของสิ่งมีชีวิต โดยปกติแล้ว มุสลิมสามารถละหมาด ณ สถานที่ใดก็ได้ที่มีความสะอาดเรียบร้อย แต่ในทางปฏิบัติ มุสลิมมักมาละหมาดรวมกันที่มัสยิด เนื่องจาก มุ่งหวังผลบุญที่จะได้รับ ซึ่งมีมากกว่าการแยกปฏิบัติตามลำพัง