เล่มที่ 24
วรรณคดีมรดก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
คนไทยในปัจจุบันรับสืบสานวรรณคดีมรดก

            ชาติไทยมีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ นับได้ประมาณกว่า ๗๐๐ ปี จึงมีหนังสือวรรณคดีจำนวนมาก ที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ มาจนถึงคนไทยในปัจจุบัน คนไทยทุกสมัยเห็นความสำคัญของวรรณคดีไทย จึงช่วยกันรักษาวรรณคดีไว้ด้วยความหวงแหน เพื่อให้เป็นวรรณคดีประจำชาติ มีความยั่งยืน และอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดไป

            วรรณคดีมรดก เป็นคำที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดขึ้น เพื่อให้เป็นรายวิชา ท ๐๓๓ ตามหลักสูตรภาษาไทย พ.ศ. ๒๕๒๔ หมายถึง "วรรณคดีที่ได้รับการยกย่องกันมาหลายชั่วอายุคน ในด้านวรรณศิลป์กับในด้านที่แสดงค่านิยม และความเชื่อ ในสมัยของบรรพบุรุษ ส่งเสริมให้เปรียบเทียบชีวิตมนุษย์ ในสมัยของบรรพบุรุษกับชีวิตในปัจจุบัน"

            ก่อนที่จะกล่าวถึงวรรณคดีมรดกเรื่องต่างๆ ต้องกล่าวถึงความหมายของ วรรณกรรม และ วรรณคดี เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ดังนี้

            คำว่า "วรรณกรรม" มีความหมายสองประการคือ ประการแรกหมายถึง งานหนังสือ ประการที่สองหมายถึง งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด ไม่ว่าแสดงออกมาโดยวิธี หรือในรูปอย่างใด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ สิ่งบันทึกเสียงภาพ

            คำว่า "วรรณคดี" หมายถึง หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี

ในที่นี้จะไม่นำความหมายเชิงวิชาการวรรณคดีสากลมาใช้ เพราะมีความเหลื่อมล้ำกับความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ส่วนคุณสมบัติของวรรณคดีนั้น ทั้งไทยและสากล จะมีคุณสมบัติเหมือนกัน สรุปได้ดังนี้
๑. มีเนื้อหาและรูปแบบที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นนิทาน นิยาย บทละคร นวนิยาย ฯลฯ
๒. มีศิลปะการใช้ภาษาอย่างประณีต
๓. แสดงความนึกคิดที่เฉียบแหลมของผู้แต่ง สอดแทรกประสบการณ์ชีวิต และให้ความรู้ในเรื่องสามัญของคนที่ได้รับการศึกษา
๔. แสดงพัฒนาการทางอารมณ์ของผู้แต่งอย่างสูง ทั้งด้านความรัก ความทุกข์ ความสุข ความผิดหวัง ฯลฯ
๕. มีคุณค่าทางประวัติวรรณคดี แสดงให้เห็นการแปรเปลี่ยนตามกาลสมัยของการแต่งวรรณกรรม ๖. มีคุณค่าทางประวัติภาษา แสดงให้เห็นการแปรเปลี่ยนตามกาลสมัยของภาษาและการใช้ภาษา

            หนังสือใดที่มีคุณสมบัติ ๖ ประการดังกล่าว จะได้รับยกย่องจากผู้ที่ศึกษา และสนใจ ในศิลปะทางวรรณคดีว่า สมควรรักษาไว้เป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติ

            วรรณคดีไทยที่ได้รับการยกย่องอย่างต่อเนื่องมา ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ล้วนมีคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์ และด้านสังคม ที่แสดงให้เห็นค่านิยม และความเชื่อของคนไทย ส่วนการแต่งวรรณกรรมก็ได้มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านร้อยกรอง และร้อยแก้ว ผู้แต่งวรรณกรรมร้อยกรองเรียกว่า กวี ส่วนผู้แต่งวรรณกรรมร้อยแก้วมักจะเรียกว่า ผู้ประพันธ์ หรือจะเรียกตามประเภทของวรรณกรรมก็ได้ เช่น ผู้แต่งวรรณกรรมประเภทบทละครจะเรียกว่า ผู้แต่งบทละคร ผู้แต่งนวนิยายหรือเรื่องสั้นเรียกว่า ผู้แต่งนวนิยาย