พระพุทธศาสนานิกายมหายานในประเทศจีน
ภายหลังจากพระพุทธศาสนาเข้าสู่จีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นแล้ว ก็ได้ถูกกลืนเป็นแบบจีน และผสมผสานเข้ากับความเชื่อทางศาสนาเต๋า และศาสนาขงจื๊อ จนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะของพระพุทธศาสนาของจีน ในสมัยราชวงศ์หมิงและสมัยราชวงศ์ชิง พระพุทธศาสนาของจีนมีอิทธิพลต่อชาวไทยเชื้อสายจีนมากที่สุด เพราะเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนานิกายมหายานในไทย
พุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญที่วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ จ.นนทบุรี
การผสมผสานความเชื่อของทั้ง ๓ ศาสนา คือ พระพุทธศาสนา ศาสนาเต๋า และศาสนาขงจื๊อ จนกลายเป็นความเชื่อแบบใหม่เรียกว่า ซานเจี้ยว ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสมัยราชวงศ์หมิง ด้วยการรณรงค์ของอาจารย์ใหญ่ในคณะสงฆ์ ๔ รูปด้วยกัน คือ พระอาจารย์อวิ๋นชีหว่าหง ซึ่งเดิมเป็นผู้ฝักใฝ่ในนิกายหวาเอี๋ยน (อวตังสกะ) และนิกายเซน ต่อมาได้ให้ความสนใจนิกายสุขาวดีมาก จนกลายเป็นผู้ผลักดันให้เกิดความเชื่อแบบใหม่ด้วยการรวมความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ศาสนาเต๋า และศาสนาขงจื๊อเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ ด้วยจุดประสงค์เพื่อต่อต้านการแผ่ขยายของศาสนาคริสต์ในเวลานั้น พระอาจารย์อีก ๓ รูป คือ จื่อป๋อเจินเข่อ กั่นซานเต๋อชิง และโอ่วอี้จื้อซวี ได้ร่วมกันคิดหลักธรรมคำสอนของทั้ง ๓ ศาสนาไว้อย่างมากมาย สำหรับวัดที่สร้างขึ้นจากคติความเชื่อดังกล่าว ก็จะเน้นการผสมผสานกันอย่างกลมกลืนของทั้ง ๓ ศาสนา ด้วยรูปเคารพที่มีทั้งพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ เทพของศาสนาเต๋า และเทพของศาสนาขงจื๊อ วัดดังกล่าวมีชื่อว่า ซานเจี้ยวเมี่ยว ซึ่งต่อมาไม่นานวัดแบบรวมความเชื่อของ ๓ ศาสนาครบถ้วน ก็เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในประเทศจีน
ในสมัยต้นราชวงศ์ชิง นิกายที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ นิกายเซน สายหลินจี้จง ซึ่งมีสาขาย่อย ๓ สาย โดยทั้ง ๓ สายย่อย ล้วนเป็นที่นับถือของพระจักรพรรดิจีนมาหลายยุคหลายสมัย จึงทำให้พระเถระในสายนี้มีจำนวนมาก ต่อมา นิกายเซนได้รวมกับนิกายสุขาวดี และเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายเช่นกัน จนกลายเป็นนิกายสำคัญของพระพุทธศาสน เพราะมีผู้คนนิยมนับถือกันมากที่สุด ชาวจีนมักมีคำกล่าวขานจนติดปากเกี่ยวกับพระพุทธศาสนานิกายสุขาวดีว่า “ทุกครัวเรือนนับถือพระกวนอิม ทุกแห่งหนกราบไหว้พระอมิตาภะ” กล่าวได้ว่า ในสมัยราชวงศ์ชิง ไม่มีนิกายใด ได้รับความสนใจ และมีผู้นับถือมากเท่ากับนิกายสุขาวดี ที่สามารถยึดครองจิตใจชาวจีนได้ทั้งฆราวาสและพระสงฆ์