ภาพเขียนประกอบเรื่องเล่าในตำนานเกี่ยวกับเศรษฐีทำพิธีบวงสรวงรุกขเทวดา เพื่ออธิษฐานขอบุตร
เรื่องราวที่เกี่ยวกับ "สงกรานต์" มีตำนานเก่าแก่กล่าวถึง นางสงกรานต์ประจำวันทั้ง ๗ ไว้ มีความว่า
"ในสมัยต้นภัทรกัป มีเศรษฐีผู้หนึ่งยังไม่มีบุตรสืบสกุล บ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราซึ่งมีบุตรแล้ว ๒ คน วันหนึ่ง เศรษฐีถูกนักเลงสุรา ว่ากล่าวด้วยถ้อยคำหยาบช้าดูหมิ่น เหตุด้วยยังไม่มีบุตรสืบสกุล หากถึงแก่ความตายเมื่อใด ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่มากมาย ก็จะสูญเปล่าอย่างแน่นอน เศรษฐีมีความละอาย จึงได้ประกอบพิธีบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร เศรษฐีกระทำพิธีบูชาติดต่อกันนานถึง ๓ ปี ก็ยังไม่มีบุตรตามปรารถนา จนถึงวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์ต้นปีใหม่ ตรงกับวันที่พระอาทิตย์โคจรจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งกำหนดว่า เป็นวันมหาสงกรานต์ เศรษฐีนั้น พาบริวารไปที่ต้นไทรใหญ่ริมฝั่งน้ำอันเป็นที่อยู่อาศัยของนกนานาชนิด เศรษฐีได้ประกอบพิธีบวงสรวงบูชารุกขเทวดาผู้รักษาต้นไทร ด้วยอาหาร และประโคมดุริยางค์ต่างๆ กับทั้งตั้งจิตอธิษฐานขอบุตรแก่รุกขเทวดานั้นด้วย ฝ่ายรุกขเทวดามีจิตเมตตาอยากให้เศรษฐีสมปรารถนา จึงไปขอบุตรจากพระอินทร์ให้แก่เศรษฐีนั้น พระอินทร์จึงโปรดให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี เมื่อเศรษฐีได้บุตร ก็ตั้งชื่อให้ว่า ธรรมบาล พร้อมกับดูแลเลี้ยงดูอย่างดี สร้างปราสาท ๗ ชั้น ให้ธรรมบาลกุมารอยู่ที่ใกล้ต้นไทรริมฝั่งน้ำนั้น เมื่อเจริญวัยขึ้น ก็ได้ศึกษาวิชาการต่างๆ จนรู้ภาษานก จบไตรเพท เมื่ออายุได้เพียง ๗ ขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่ชนทั้งปวง
ครั้งนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหม ซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีท้าวกบิลพรหมองค์หนึ่งมีธิดา ๗ องค์ เป็นเทพธิดาประจำวันต่างๆ คือ
๑. วันอาทิตย์ นามว่า ทุงษเทวี ใช้พัสตราภรณ์สีมณีแดง ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราค ภักษาหารผลมะเดื่อ อาวุธในหัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือสังข์ มีครุฑเป็นพาหนะ
๒. วันจันทร์ นามว่า โคราคเทวี ใช้พัสตราภรณ์สีเหลือง ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน อาวุธในหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีพยัคฆ์ (เสือ) เป็นพาหนะ
๓. วันอังคาร นามว่า รากษสเทวี ใช้พัสตราภรณ์สีเพทาย ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต อาวุธในหัตถ์ขวาถือตรีศูล หัตถ์ซ้ายถือธนู มีวราหะ (หมู) เป็นพาหนะ
๔. วันพุธ นามว่า มณฑาเทวี ใช้พัสตราภรณ์สีมรกต ทัดดอกจำปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธในหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า มีคัทรภะ (ลา) เป็นพาหนะ
๕. วันพฤหัสบดี นามว่า กิริณีเทวี ใช้พัสตราภรณ์สีไพฑูรย์ ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา อาวุธในหัตถ์ขวาถือขอช้าง หัตถ์ซ้ายถือหน้าไม้ มีกุญชร (ช้าง) เป็นพาหนะ
๖. วันศุกร์ นามว่า กิมิทาเทวี ใช้พัสตราภรณ์สีเพชร (ขาว) ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ อาวุธในหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายถือพิณ มีมหิงส์ (ควาย) เป็นพาหนะ
๗. วันเสาร์ นามว่า มโหธรเทวี ใช้พัสตราภรณ์สีนิล ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย อาวุธในหัตถ์ขวาถือจักร หัตถ์ซ้ายถือตรีศูล มีมยุระ (นกยูง) เป็นพาหนะ

ธรรมบาลตอบปัญหาท้าวกบิลพรหม
ท้าวกบิลพรหมนั้นได้ยินกิตติศัพท์ความสามารถของธรรมบาล จึงลงมาทดสอบถามปัญหา ๓ ข้อโดยมีสัญญาต่อกันว่า ภายในเวลา ๗ วัน ถ้าธรรมบาลตอบปัญหาไม่ได้ก็จะถูกตัดศีรษะ หากตอบได้ ท้าวกบิลพรหมก็จะตัดเศียรตนให้เช่นเดียวกัน ปัญหานั้นถามว่า มนุษย์ทั้งหลาย ในเวลาเช้า กลางวัน เย็น แต่ละเวลานั้น ศรีอยู่ที่ใด ธรรมบาลพิจารณาปัญหาอยู่จนเวลาผ่านไป ๖ วันแล้ว ยังหาคำตอบแก้ปัญหาไม่ได้ รู้สึกท้อใจคิดหนี จึงออกจากบ้านไปนอนที่ใต้ต้นตาลคู่หนึ่ง บังเอิญขณะนั้น มีนกอินทรีผัวเมีย อาศัยอยู่บนต้นตาล กำลังปรึกษากันว่า วันรุ่งขึ้นจะไปหาอาหารทางทิศใด นกอินทรีผัวก็ดำริว่า พรุ่งนี้ธรรมบาลต้องตอบปัญหาท้าวกบิลพรหม แต่ธรรมบาลยังแก้ปัญหาไม่ได้ คงต้องถูกตัดศีรษะแน่นอน ดังนั้นวันพรุ่งนี้ เราคงได้กินเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร นกอินทรีเมียก็ถามว่า ปัญหาที่ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาล ท่านตอบได้หรือ นกอินทรีผัวจึงแก้ปัญหาให้ฟังว่า ข้อหนึ่ง เวลาเช้า ศรีอยู่ที่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า ข้อสอง เวลาเที่ยง ศรีอยู่ที่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ข้อสาม เวลาค่ำ ศรีอยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า ธรรมบาลได้ยินเช่นนั้น ก็จำไว้ แล้วกลับมาสู่เรือนตน ครั้นรุ่งขึ้นครบกำหนดนัด ท้าวกบิลพรหมก็มาพบธรรมบาลตามเวลา ธรรมบาลจึงแก้ปัญหา ตามที่นกอินทรีกล่าวไว้ ท้าวกบิลพรหมเป็นฝ่ายแพ้ จึงเรียกธิดาทั้ง ๗ ซึ่งเป็นบาทบริจาริกาพระอินทร์มาพบพร้อมกัน แล้วแจ้งว่า บิดาจะตัดเศียร เพื่อบูชาธรรมบาล แต่เศียรของบิดานี้ ถ้าตั้งไว้ในแผ่นดินก็จะเกิดไฟไหม้ไปทั่วโลก ถ้าทิ้งไปบนอากาศ จะเกิดฝนแล้ง ถ้าทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะเหือดแห้งไปหมดสิ้น ดังนั้นจึงขอให้ธิดาทั้ง ๗ นำพานมารับเศียร แล้วท้าวกบิลพรหมก็ตัดเศียรตนส่งให้นางทุงษเทวี ธิดาคนแรก นำพานมารองรับเศียรไว้ บรรดาเทพบริวารทั้งหลาย ก็พากันแห่เศียรนั้น ไปประทักษิณเวียนรอบเขาพระสุเมรุ จากนั้นก็อัญเชิญขึ้นประดิษฐานในมณฑป ณ ถ้ำคันธธุลี เขาไกรลาส พร้อมทั้งกระทำบูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ พระวิสสุกรรมก็เนรมิตโรงแก้ว ๗ ประการ ชื่อ ภควดี ให้เทพธิดาทั้งหลายนั่ง ส่วนเทพบุตรก็พากันนำเถาฉมุนาคไปล้างในสระ ๗ ครั้ง แล้วแจกกันนำมาบูชาโดยถ้วนหน้า เมื่อครบกำหนด ๓๖๕ วัน ถึงวารดิถีเถลิงศกขึ้นปีใหม่ นางเทพธิดา ผู้เป็นบุตรท้าวกบิลพรหม ก็ผลัดกันมาอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ พร้อมด้วยเทพบริวาร โดยเวียนรอบเขาพระสุเมรุ แล้วนำเข้าประดิษฐานไว้ ณ ถ้ำคันธธุลีตามเดิม วันที่นำเศียรของท้าวกบิลพรหมออกแห่นั้น จะตรงกับวันที่พระอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ คือ วันมหาสงกรานต์ นั่นเอง และนางเทพธิดาทั้ง ๗ นั้นก็คือ นางสงกรานต์ ซึ่งขณะอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมก็จะมีอิริยาบถที่แตกต่างกันตามกำหนดเวลา ที่พระอาทิตย์โคจร ซึ่งมีอยู่ ๔ เวลา คือ

นางเทพธิดาทั้ง ๗ องค์ ผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหม
๑) พระอาทิตย์โคจรระหว่างเวลารุ่งเช้าถึงเที่ยงวัน นางสงกรานต์จะยืนลืมเนตรมาบนหลังพาหนะ
๒) พระอาทิตย์โคจรระหว่างเวลาเที่ยงวันถึงย่ำค่ำ นางสงกรานต์จะนั่งลืมเนตรมาบนหลังพาหนะ
๓) พระอาทิตย์โคจรระหว่างเวลาย่ำค่ำถึงเที่ยงคืน นางสงกรานต์จะนอนลืมเนตรมาบนหลังพาหนะ
๔) พระอาทิตย์โคจรระหว่างเวลาเที่ยงคืนถึงรุ่งเช้า นางสงกรานต์จะนอนหลับเนตรมาบนหลังพาหนะ"
นางสงกรานต์ทั้ง ๗ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่เป็นผู้อัญเชิญเศียรของท้าวกบิลพรหม ในปีใดนางใดจะเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ โหรประจำราชสำนักจะเป็นผู้คำนวณ แล้วจึงเขียนบอกเป็นประกาศสงกรานต์ ใบประกาศสงกรานต์จะแขวนไว้ที่บานพระทวารในพระบรมมหาราชวัง และเขียนบอกส่งไปยังหัวเมืองต่างๆ เป็นประกาศสงกรานต์ประจำปี เพื่อประชาชนจะได้ประกอบพิธีพร้อมกันทั้งประเทศทุกปี