เล่มที่ 35
โรคเบาหวาน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
อาการที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคเบาหวาน

            อาการที่พอสังเกตเห็นได้ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน คือ ดื่มน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่รับประทานอาหารได้ บางรายอาจมาตรวจเนื่องจากมีผลแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ได้แก่ ปลายมือปลายเท้าชา ตามัว แผลหายยาก คันที่ช่องคลอด สมรรถภาพทางเพศเสื่อม อย่างไรก็ตาม ผู้เป็นโรคเบาหวานจำนวนไม่น้อย (ประมาณร้อยละ ๒๐ - ๓๐) มักไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ให้สังเกตเห็นได้

            ดังนั้นควรตรวจค้นหาหรือคัดกรองโรคเบาหวานในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งสามารถทำได้ทุกอายุ เมื่อปรากฏ หรือพบปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากมีโอกาสพบโรคนี้ได้สูงและมีความคุ้มค่า ทั้งนี้ การตรวจค้นหาโรคเบาหวานสามารถทำในประชากรไทยทุกคนได้ โดยการตรวจสอบปัจจัยเสี่ยงที่ทำได้ง่ายๆ ซึ่งจากงานวิจัยที่ทำในประชากรไทยกลุ่มหนึ่งพบว่า อายุ เพศ ดัชนีมวลกาย เส้นรอบพุงหรือรอบเอว ความดันโลหิตสูง และประวัติโรคเบาหวานในพ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถวิเคราะห์ และให้น้ำหนักแต่ละปัจจัยเสี่ยงเป็นคะแนน เพื่อใช้ทำนายโอกาสที่จะเกิดโรคเบาหวานในอนาคตภายใน ๑๒ ปีได้

            เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้เป็นโรคเบาหวานบางราย หรือผู้เป็นโรคเบาหวานในระยะแรกอาจไม่เกิดอาการผิดปกติใดๆ อีกประการหนึ่งพบว่า ผู้ที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคเบาหวานมีจำนวนไม่น้อยที่ตรวจพบโรคแทรกซ้อนเรื้อรังจากโรคเบาหวานแล้ว และบ่งชี้ว่า เป็นโรคเบาหวานมานานพอควร แต่ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย ดังนั้นการตรวจค้นหาโรคเบาหวานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้สามารถวินิจฉัยในระยะแรกที่เป็นโรค และให้การรักษาโรคเบาหวานได้เร็วขึ้น เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักคือ  ป้องกันการเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน การละเลยไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือไม่ได้รับการรักษาจะทำให้โรคลุกลาม และเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานในระดับรุนแรงที่เกินแก้ไขได้

            สำหรับวิธีการค้นหาหรือตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน แนะนำให้ใช้วิธีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะจากหลอดเลือดดำขณะอดอาหาร หรือการตรวจเลือดจากปลายนิ้ว อาจตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยไม่เลือกเวลาเฉพาะผู้ที่ไม่ได้เตรียมตัวอดอาหารมา หากระดับน้ำตาลในเลือดที่เจาะจากหลอดเลือดดำ ขณะอดอาหารมีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ ๑๒๖ มิลลิกรัม/เดซิลิตร โดยไม่มีอาการ ต้องตรวจซ้ำในวันถัดไป เพื่อยืนยันผล

            ในกรณีที่ตรวจแล้วระดับน้ำตาลในเลือดปกติ ควรตรวจซ้ำทุก ๑ - ๓ ปี ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงที่มี หากระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติแต่ไม่เข้าเกณฑ์ การวินิจฉัยโรคเบาหวาน คือ อยู่ในภาวะก่อนเบาหวาน ควรตรวจซ้ำทุก ๖ - ๑๒ เดือน ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงและระดับน้ำตาลในเลือดที่ตรวจพบ และปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตตามคำแนะนำ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง