เล่มที่ 34
เพลงพื้นบ้าน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประวัติความเป็นมาของเพลงพื้นบ้าน

            ในสมัยอยุธยา มีหลักฐานกล่าวถึงเพลงพื้นบ้านเป็นครั้งแรกในกฎมณเฑียรบาล ที่ตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีการกล่าวถึงเพลงชนิดหนึ่งเรียกว่า เพลงเรือ เป็นเพลงที่ชายหญิงร้องเล่นในเรือ ซึ่งประกาศมิให้มาร้องในท่าน้ำสระแก้ว และใกล้เขตพระราชฐานที่กำหนดไว้

            ต่อมา สมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีเพลงชื่อว่า เพลงเทพทอง ปรากฏในหนังสือเรื่อง "ปุณโณวาทคำฉันท์" ของพระมหานาค ดังนี้

"เทพทองคนองเฮ    ชนเปรประดับสรวล
โต้ตอบก็ไป่ควร    ประถ้อยแถลงกัน"

            จนถึงสมัยธนบุรี กล่าวถึงเพลงเทพทอง ดังปรากฏหลักฐานการมหรสพในงานพระเมรุใหญ่ ๒ งาน คือ งานพระเมรุพระอัฐิกรมพระเทพามาตย์ พระพันปีหลวง พ.ศ. ๒๓๑๙ ว่า มีเทพทอง ๒ โรง และงานพระเมรุกรมขุนอินทรพิทักษ์ มีเทพทอง ๑ โรง

            สมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑ ครั้งจัดงานฉลองพระแก้วมรกตและพระบาง ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ นั้น การมหรสพสมโภชมีเพลงพื้นบ้านอยู่ ๒ ชนิด คือ เพลงปรบไก่ และเพลงเทพทอง

            สมัยรัชกาลที่ ๒ เพลงปรบไก่ยังเป็นมหรสพที่ใช้ในงานสมโภชพระยาเศวตกุญชรที่ได้มาจากเมืองโพธิสัตว์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕ และสมัยรัชกาลที่ ๓ ปรากฏหลักฐานดังใน "โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส" กล่าวถึงงานลอยกระทงว่า มีการเล่นเพลงสักวา เพลงครึ่งท่อน เพลงปรบไก่ และดอกสร้อย

            ต่อมา ในรัชกาลที่ ๔ เกิดกระแสความนิยมแอ่วลาว จึงทรงออกประกาศห้ามเล่นแอ่วลาวขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙ และทรงขอให้ฟื้นฟูเพลงครึ่งท่อน เพลงปรบไก่ เพลงสักวา เพลงไก่ป่า เพลงเกี่ยวข้าว ขึ้นใหม่ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ มีการประสมเพลงฉ่อยเข้ากับละครรำ เกิดเพลงพื้นบ้านชนิดใหม่เรียกว่า เพลงทรงเครื่อง หรือเพลงส่งเครื่อง นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๗ เพลงพื้นบ้านยังเป็นมหรสพที่ได้รับความนิยมไม่แพ้มหรสพอื่นๆ

            เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นสมัยเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม เกิดความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมอย่างมาก รัฐบาลควบคุมการละเล่นพื้นบ้าน ใน พ.ศ. ๒๔๘๖ กรมศิลปากรได้กำหนดระเบียบการควบคุมการละเล่นพื้นบ้าน ให้อยู่ในกฎเกณฑ์บังคับ ส่งผลให้พ่อเพลงแม่เพลงไม่สามารถว่าเพลงได้ดังเดิม ในขณะเดียวกัน รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการรำวง อาทิ บังคับให้ข้าราชการฝึกซ้อมรำวงทุกบ่ายวันพุธ และให้รำวงในโอกาสต่างๆ การรำวงจึงแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ส่วนเพลงพื้นบ้านดั้งเดิมก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา