ตัวอย่าง เพลงฉ่อย คณะแม่ต่วน
ฉ่า ฉ่า ชะชา เอิงเออเออเอิงเงย
มือของลูกสิบนิ้ว ยกขึ้นหว่างคิ้วถวาย
ต่างธูปเทียนทอง ทั้งเส้นผมบนหัว
ขอให้เป็นดอกบัว ก่ายกอง...เอย...ไหว้...
(อีกทั้งเส้นผมบนหัว (ซ้ำ) ขอให้เป็นดอกบัวก่ายกอง (ซ้ำ) เอยไหว้...เอชา...)
ลูกจะไหว้ทั้งพระพุทธที่ล้ำ ทั้งพระธรรมที่เลิศ
ทั้งพระสงฆ์องค์ประเสริฐ ขออย่าไปติดที่รู้
ถ้าแม้นลูกติดกลอนต้น ขอให้ครูช่วยด้น...กระทู้...เอย...ไป.
(ถ้าแม้นลูกติดกลอนต้น (ซ้ำ) ขอให้ครูช่วยด้นกระทู้ (ซ้ำ)...ไป...เอชา...)
ลูกไหว้ครูเสร็จสรรพ หันมาคำนับกลอนว่า
ไหว้คุณบิดรมารดาท่านได้อุตสาห์ถนอมกล่อมเกลี้ยง ประโลมเลี้ยงลูกมา
ทั้งน้ำขุ่นท่านก็มิให้อาบ ขมิ้นหยาบมิให้ทา
ยกลูกบรรจงลงเปล ร้องโอละเห่...ละชา...ไกว
(ยกลูกบรรจงลงเปล (ซ้ำ) ร้องโอละเห่...ละชา (ซ้ำ)...ไกว...เอชา...)
แม่อุตส่าห์นอนไกว จนหลังไหล่ถลอก
หน้าแม่ดำช้ำชอก มิได้ว่า ลูกชั่ว
จะยกคุณแม่เจ้า วางไว้บนเกล้า ของตัว...ไหว้...
(จะยกคุณแม่เจ้า (ซ้ำ) วางไว้บนเกล้า ของตัว (ซ้ำ)...ไหว้...เอชา...)
เพลงฉ่อยมีชื่อเรียกหลายชื่อ บางครั้งเรียกว่า เพลงวง มาจากลักษณะที่ยืนร้องเป็นวงกลม หรือเรียกว่า เพลงฉ่า มาจากบทรับของลูกคู่ ซึ่งบางแห่งรับว่า ฉ่า ชา...และที่เรียกว่า เพลงเป๋ เพราะมีพ่อเพลงฉ่อยที่มีชื่อเสียงมากชื่อ เป๋ จึงเรียกตามชื่อพ่อเพลงผู้นั้น
เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ
ชีวิตของผู้คนในภาคเหนือ หรือชาวล้านนา ผูกพันอยู่กับเสียงเพลงตลอดเวลาตั้งแต่ในวัยเด็ก วัยหนุ่มสาว จนถึงวัยชรา เพลงพื้นบ้านภาคเหนือเป็นบทร้องมุขปาฐะ คิดคำร้องขึ้นด้วยปฏิภาณไหวพริบ ขับร้อง ได้ฟัง และจดจำสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุ เพลงพื้นบ้านภาคเหนือที่ยังเป็นที่รู้จัก และมีการร้องเล่นกันอยู่บางแห่งจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะกล่าวถึงในที่นี้มี ๓ ประเภท คือ
เพลงสำหรับเด็ก
ได้แก่ เพลงกล่อมเด็ก และเพลงร้องเล่น พบว่า มีการร้องกันในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน
- เพลงกล่อมเด็ก ผู้ใหญ่ใช้ร้องขับกล่อมให้เด็กหลับ มักเรียกว่า เพลงอื่อ ชา ชา (ออกเสียงว่า อื่อ จา จา) ตามเสียงที่เอื้อนออกมาตอนขึ้นต้นเพลง เพื่อให้เกิดความนุ่มนวล ชวนให้เด็กหลับไปได้ง่าย เนื้อเพลงมีลักษณะคำประพันธ์ที่ไม่ตายตัว จำนวนคำและสัมผัสไม่เคร่งครัดเช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้านอื่นๆ ส่วนทำนองเป็นทำนองร่ำ (ฮ่ำ) โดยเอื้อนเสียงทอดยาวที่พยางค์สุดท้ายของวรรค และเปล่งเสียงขึ้นลง ตามระดับสูงต่ำ ของเสียงวรรณยุกต์
ตัวอย่าง เพลงกล่อมเด็ก
อื่อ ชา ชา หลับสองตาอย่าไห้
แก้วแก่นไท้ แม่จักอื่อชาชา
นายไห้อยากกินชื้น บ่มีไผไพหา
นายไห้อยากกินปลา บ่มีไผไพส้อน
มีเข้าเย็นสองสามก้อน ป้อนแล้วลวดหลับไพ
- เพลงร้องเล่น ได้แก่ เพลงสิกก้องกอ เป็นเพลงที่ใช้ร้องเล่นกับเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ เมื่อวางไว้บนหลังเท้าพ่อ และยกขาขึ้นลงตามจังหวะเพลง เพลงสิกจุ่งจา เป็นเพลงที่ร้องเมื่อไกวชิงช้าให้เด็กเล่น นอกจากนี้ มีเพลงที่เด็กร้องเล่นอื่นๆ เช่น เพลงฝนตกสุยสุย เพลงเกี่ยวหญ้าไซหญ้าปล้อง เพลงหมาหางกิด และเพลงสำหรับเล่นจ้ำจี้
ตัวอย่าง เพลงร้องเล่น
สิกก้องกอ บ่าลออ้องแอ้ง
บ่าแคว้งสุก ปลาดุกเน่า
หัวเข่าปม หัวนมปิ้ว
ปิดจะหลิ้ว ตกน้ำแม่ของ
ควายลงหนอง ตะล่มพ่มพ่ำ
จ๊อย
จ๊อยเป็นเพลงพื้นบ้านที่เกิดจากประเพณีการพบปะพูดคุยเกี้ยวพาราสีในตอนกลางคืน เรียกว่า "แอ่วสาว" ระหว่างที่หนุ่มๆ เดินไปเยี่ยมบ้านสาวที่ตนหมายปองเอาไว้ ก็เอื้อนเสียงร้องจ๊อยเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้สาวจำเสียงได้ด้วย การร้องเป็นการจำบทร้อง และทำนองสืบต่อกันมาโดยไม่ต้องฝึกหัด อาจมีดนตรีประกอบหรือไม่มีก็ได้
ตัวอย่าง เพลงจ๊อย
สาวเหยสาว อ้ายมาฟู่น้อง หวังเป็นคู่ป้องรอมแพง
ยามเดือนส่องฟ้า ดาวก็ดับแสง พี่เหลียวผ่องแยง เคหาแห่งเจ้า
พี่บ่รักไผ เท่านายน้องเหน้า ในโขงชมพูโลกนี้
ซอ
เป็นเพลงพื้นบ้านภาคเหนือที่ชายหญิงขับร้องโต้ตอบกัน ผู้ร้องเพลงซอ หรือขับซอ เรียกว่า ช่างซอ เริ่มจากร้องโต้ตอบกันเพียงสองคน ต่อมา พัฒนาเป็นวงหรือคณะ และรับจ้างเล่นในงานบุญ มีดนตรีประกอบ ได้แก่ ปี่ ซึง และสะล้อ มีเนื้อร้องเข้ากับลักษณะของงานบุญนั้นๆ เช่น ซอเรียกขวัญ เป็นการทำขวัญนาค ซอถ้อง เป็นซอโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน ซอเก็บนก เป็นบทชมธรรมชาติ ชมนกชมไม้ ซอว้อง เป็นซอบทสั้นๆ ใช้ร้องเล่น ซอเบ็ดเตล็ดเรื่องต่างๆ เช่น ซอแอ่วสาวปั่นฝ้าย ซอเงี้ยวเกี้ยวสาว และซอที่เล่นเป็นเรื่องนิทาน เช่น น้อยไจยา เจ้าสุวัตร-นางบัวคำ และดาววีไก่หน้อย ส่วนทำนองที่ใช้ขับซอมีหลายทำนองตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่น เช่น ทำนองขึ้นเชียงใหม่ จะปุ ซอเมืองน่าน ละม้ายเชียงแสน ซอพม่า และทำนองเงี้ยว
ตัวอย่าง ซอว้อง ใช้ร้องเล่นกลับไปกลับมา
ฮอดตาวันแลง
จะสิมดแดง มดส้ม
ฮอดตาวันล้ม
จะสิมดส้ม มดแดง
ตัวอย่าง ซอนิทาน เรื่องน้อยไจยา
น้อยไจยา : ดวงดอกไม้ แบ่งบานสลอน ฝูงภมร แม่เผิ้งสอดไซ้
ดอกพิกุล ของพี่ต้นใต้ ลมพัดไม้ มารอดบ้านตู
รู้แน่ชัด เข้าสู่สองหู ว่าสีชมพู ถูกป้ำเค้าเนิ้ง
เค้ามันตาย ปลายมันเสิ้ง ลำกิ่งเนิ้ง ตายโค่นทวยแนว
ดอกพิกุล ก็คือดอกแก้ว ไปเป็นของเปิ้น แล้วเน้อ
แว่นแก้ว : เต็มเค้าเนิ้ง กิ่งใบแท้เล่า ตามคำลม ที่พัดออกเข้า
มีแต่เค้า ไหวหวั่น คลอนเฟือน
กิ่งมันแท้ บ่แส่เสลือน บ่เหมือนลมโชย รำเพยเชื่อนั้น
ใจของหญิง น้องหนิมเที่ยงมั่น บ่เป็นของเปิ้น คนใด
ยังเป็นกระจก แว่นแก้วเงาใส บ่มีใจเหงี่ยง ชายเน้อ
เพลงพื้นบ้านภาคอีสาน
ภาคอีสานเป็นแหล่งรวมกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันถึง ๓ กลุ่ม จึงมีเพลงพื้นบ้านแบ่งเป็น ๓ ประเภท ดังนี้
๑. เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว
๒. เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย (กูย)
๓. เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช
เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว
กลุ่มชนกลุ่มนี้ ได้แก่ ประชาชนในจังหวัดหนองคาย อุดรธานี เลย สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร ยโสธร อุบลราชธานี บุรีรัมย์ และบางส่วนของจังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มชนนี้ใช้ภาษาถิ่น คือ ภาษาอีสาน เพลงพื้นบ้านของกลุ่มวัฒนธรรมไทย- ลาว มี ๒ ประเภท คือ หมอลำ และเซิ้ง
ก. หมอลำ
หมอลำเป็นเพลงพื้นบ้านที่นิยมมากในภาคอีสาน ได้พัฒนาการแสดงเป็นคณะ มีการฝึกหัดเป็นอาชีพ รับจ้างไปแสดงในงานต่างๆ มีทำนองลำ เรียกตามภาษาถิ่นว่า "ลาย" ที่นิยมมีด้วยกัน ๔ ลาย คือ
๑. ลายทางเส้น
๒. ลายทางยาว
๓. ลายลำเพลิน
๔. ลายลำเต้ย
ตัวอย่าง ลายลำเต้ย ชื่อ เต้ยโขง
ลา ลา ก่อนเด้อ ขอให้เธอจงมีรักใหม่
ชาตินี้ขอเป็นขวัญตา ชาติหน้าขอเป็นขวัญใจ
ชาตินี้แลชาติใด ขอให้ได้เคียงคู่กับเธอ

คณะหมอลำ ที่ร้องเล่นหมอลำ โดยใช้ภาษาถิ่นอีสาน