เจดีย์วัดภูเขาทอง ที่ อ.เมือง พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งสุนทรภู่อ้างถึงใน "นิราศภูเขาทอง"
รูปแบบคำประพันธ์
วรรณกรรมประเภทบันทึกนี้ แต่งด้วยกลอนสุภาพ ยกเว้นนิราศสุพรรณเพียงเรื่องเดียวที่แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ กลอนสุภาพมีลีลากลอนที่มีสัมผัสในลงตัว ตามที่สุนทรภู่ได้พัฒนาขึ้น จนมีความไพเราะเป็นแบบฉบับของสุนทรภู่ ส่วนโคลงสี่สุภาพในนิราศสุพรรณ แต่งตามแบบแผนฉันทลักษณ์ที่มีมาแต่โบราณ แต่สุนทรภู่ได้เพิ่มสัมผัสใน ที่เป็นสัมผัสสระ ลงในวรรคแรกของทุกบาท กับวรรคที่ ๒ ของบาทที่ ๓ และบาทที่ ๔ ทั้งยังแต่งเป็นโคลงกลบทไว้หลายบทด้วย
เนื้อหา
เป็นบันทึกการเดินทางไปยังสถานที่ตามหัวเมืองต่างๆ ของสุนทรภู่ ยกเว้นนิราศอิเหนาที่เป็นการเดินทางสมมุติ โดยสุนทรภู่จินตนาการขึ้นตามโครงเรื่องในวรรณคดีเรื่องอิเหนา ส่วนการเดินทางที่เป็นประสบการณ์ในชีวิตจริง ของสุนทรภู่นั้น สุนทรภู่บันทึกไว้อย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพธรรมชาติ พืช สัตว์ ลักษณะ และความเป็นมา หรือตำนานของสถานที่ ถิ่นฐานบ้านเรือน และลักษณะความเป็นอยู่ ประเพณีความเชื่อของผู้คนที่ได้พบเห็น และได้เสนอแง่คิด มุมมองเกี่ยวกับสังคม และการดำเนินชีวิตไว้อย่างคมคาย นอกจากนี้ ยังได้ถ่ายทอดเรื่องราว และความคิด ความรู้สึก ความในใจที่มีต่อบุคคล ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัวลงไปด้วย ทำให้ผู้อ่านรู้จักสุนทรภู่จากงานเหล่านี้ของท่าน ในขณะที่เนื้อหาที่เป็นแบบแผนของนิราศคือ การพรรณนาคร่ำครวญแสดงความรัก ความอาลัยที่มีต่อนางผู้เป็นที่รัก ก็ยังเป็นเนื้อหา ที่สร้างความสะเทือนอารมณ์และซาบซึ้งใจผู้อ่านโดยมิได้ขาดหายไปแต่อย่างใด
ส่วนเนื้อหาของเรื่องรำพันพิลาป เป็นการรำพันถึงความหลังหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิต บุคคล และสถานที่ ที่เกี่ยวข้องกับสุนทรภู่ ขณะที่บวช และจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม รวมทั้งการพรรณนาถึงความฝัน ที่ได้พบกับเทพธิดา และความรู้สึกผูกพันปรารถนา ในตัวเทพธิดาองค์นั้น ซึ่งอาจเป็นความในใจของสุนทรภู่ ที่มีต่อสตรีผู้สูงศักดิ์ท่านหนึ่ง เรื่องนี้นับเป็นประวัติชีวิต ที่สุนทรภู่บันทึกไว้ด้วยตนเอง
๒. ประเภทนิทานและเรื่องเล่า
มี ๘ เรื่อง ดังนี้
โคบุตร แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๙ ในรัชกาลที่ ๑
ลักษณวงศ์ เริ่มแต่งในรัชกาลที่ ๒ ก่อนเข้ารับราชการและแต่งต่อในรัชกาลที่ ๓
พระอภัยมณี เริ่มแต่งในรัชกาลที่ ๒ ตอนติดคุก และแต่งต่อในรัชกาลที่ ๓
ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม แต่งในรัชกาลที่ ๒ หลังออกจากคุก
สิงหไกรภพ เริ่มแต่งในปลายรัชกาลที่ ๒ และแต่งต่อในรัชกาลที่ ๓
พระไชยสุริยา แต่งในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๒ - ๒๓๘๕ ขณะจำพรรษาที่วัดเทพธิดาราม ในรัชกาลที่ ๓
อภัยนุราช แต่งในรัชกาลที่ ๔
เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร แต่งในรัชกาลที่ ๔
รูปแบบคำประพันธ์
วรรณกรรมประเภทนิทาน และเรื่องเล่าของสุนทรภู่ แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกลอน และกาพย์ ที่แต่งด้วยกลอนนั้น มี ๓ กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ ๑ นิทานคำกลอน ได้แก่ เรื่อง โคบุตร ลักษณวงศ์ พระอภัยมณี และสิงหไกรภพ แต่งด้วยกลอนสุภาพ มักขึ้นต้นเรื่องว่า "แต่ปางหลัง" เล่าเรื่องต่อเนื่องกันไป นิทานคำกลอนเหล่านี้ใช้ถ้อยคำที่ผู้อ่านผู้ฟังทั่วไปเข้าใจได้ และเน้นสัมผัสในตามลีลากลอน ของสุนทรภู่
กลุ่มที่ ๒ เสภา ได้แก่ ขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม และเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ใช้กลอนสุภาพเล่าเรื่อง เช่นเดียวกับนิทานคำกลอน แต่มีลักษณะกลอนที่เอื้อต่อการขับเสภา และมักขึ้นต้นตอนว่า "จะกล่าวถึง" หรือ "ครานั้น"
กลุ่มที่ ๓ กลอนบทละคร ได้แก่ เรื่องอภัยนุราช สุนทรภู่แต่งเป็นกลอนบทละครสำหรับเล่นละครนอก ซึ่งใช้กลอนสุภาพเช่นกัน แต่มีลักษณะการแต่งที่ต้องแต่งให้เข้ากับกระบวนท่ารำและเพลงร้อง มีคำขึ้นต้นบทว่า "เมื่อนั้น" หรือ "บัดนั้น"
ส่วนนิทานที่แต่งด้วยกาพย์นั้น ได้แก่ เรื่องพระไชยสุริยา สุนทรภู่ใช้กาพย์ ๓ ชนิดแต่งคือ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ แต่งสำหรับเป็นบทฝึกอ่านภาษาไทย ผูกเรื่องเป็นคำประพันธ์ด้วยคำที่มีตัวสะกดในมาตราตัวสะกด ทีละมาตราตั้งแต่ ก กา จนถึง เกย ลีลากาพย์ของสุนทรภู่ก็เช่นเดียวกับกลอน คือ เน้นสัมผัสในที่เป็นสัมผัสสระเป็นคู่ในแต่ละวรรค
เนื้อหา
นิทานคำกลอน กลอนบทละคร และนิทานคำกาพย์ สุนทรภู่ผูกเรื่องจากจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของท่าน โดยอาจได้รับอิทธิพลจากชาดก และนิทานเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ที่เคยได้ยินได้ฟัง วรรณกรรมต่างประเทศ สภาพสังคม และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยที่แต่งวรรณกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ใหม่จากสังคมของชาวตะวันตก ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องภาษา วัฒนธรรม และความก้าวหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่แล้ว ความรู้ใหม่ที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมของสุนทรภู่ที่สำคัญ คือ ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับดินแดนประเทศใกล้เคียง เช่น การกำหนดเมืองลังกาเป็นเมืองฝรั่งในเรื่องพระอภัยมณี เพราะช่วงสมัยสุนทรภู่นั้น เมืองลังกาเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งมีพระราชินีปกครอง
กลอนเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม สุนทรภู่แต่งตั้งแต่เมื่อพลายงามเกิดจนถึงเข้าเฝ้าถวายตัว ตามเค้าโครงเรื่องที่เล่ากันมาแต่เดิม เพียงแต่ใส่รายละเอียดส่วนที่เป็นเนื้อเรื่องลงไป ส่วนเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร เป็นเรื่องราวของสงครามสมัยอยุธยา ที่มีเนื้อหาของพระราชพงศาวดาร เป็นกรอบบังคับ แต่สุนทรภู่ก็สามารถใช้ศิลปะการแต่งกลอน ทำให้เรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์ที่แห้งแล้งมีรสชาติ น่าอ่านน่าฟังขึ้นมาได้
วรรณกรรมประเภทนิทานและเรื่องเล่าของสุนทรภู่เหล่านี้ คงไม่น่าสนใจและไม่ประทับใจผู้อ่านผู้ฟัง มาจนถึงทุกวันนี้ได้ หากไม่มีเนื้อหาสำคัญ ที่มาจากทรรศนะต่อโลก และชีวิตของสุนทรภู่ ซึ่งปรากฏเป็นแก่นของเรื่อง และแนวคิด รวมทั้งบทบาท พฤติกรรม และคำพูด ของตัวละคร ในวรรณกรรม เช่น แนวคิดเรื่องความสำคัญ และคุณค่าของวิชาดนตรี ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความสำคัญ ของความรู้ การแสวงหาความรู้ การใช้ความรู้ และความสำคัญของการเจรจา หรือแนวคิดเรื่อง ศักยภาพของสตรี อันได้แก่ การกำหนดบทบาทให้ตัวละครหญิงเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมือง และมีความรู้ความสามารถเรื่องยุทธวิธี ซึ่งนับว่า เป็นแนวคิดใหม่ ที่สุนทรภู่เสนอไว้ ในเรื่องพระอภัยมณี
หุ่นขี้ผึ้งสุนทรภู่ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ในอิริยาบถนั่งประพันธ์วรรณกรรม
๓. ประเภทคำสอน
มี ๒ เรื่อง ดังนี้
สวัสดิรักษา แต่งตอนปลายรัชกาลที่ ๒
เพลงยาวถวายโอวาท แต่งตอนบวช ในรัชกาลที่ ๓
รูปแบบคำประพันธ์
ทั้ง ๒ เรื่องแต่งด้วยกลอนสุภาพ มีลักษณะขึ้นต้นลงท้ายเรื่องแบบกลอนเพลงยาว และมีลีลากลอนแบบกลอนของสุนทรภู่
เนื้อหา
ในเรื่องสวัสดิรักษาเป็นคำสอนเกี่ยวกับจริยาวัตร และแนวทางที่ควรประพฤติปฏิบัติ อันจะทำให้เกิดสิริมงคล และความสุขความสำเร็จในชีวิต สุนทรภู่ประพันธ์ขึ้น เพื่อถวายเจ้านาย ที่เป็นลูกศิษย์ เนื้อหาที่เป็นคำสอนนี้ สุนทรภู่ประมวลมาจากความคิด ความเชื่อ และค่านิยม ที่มีมาแต่โบราณ คำสอนในเรื่องสวัสดิรักษา เช่น จริยาวัตรเกี่ยวกับการแต่งกาย การหลีกเลี่ยงสิ่งโสโครก การนอนที่ถูกสุขลักษณะ การพูดกับผู้อื่นด้วยวาจาไพเราะ ให้รักษาศีล ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณและธรรมชาติ ขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเล่าเรียน ส่วนเรื่องเพลงยาวถวายโอวาท เป็นคำสอนเรื่องน้ำใจของเจ้านาย การวางตัวของเจ้านาย ความสำคัญของการแสวงหาความรู้ และการใช้ความรู้ ความสำคัญของไมตรี และความสำคัญ ของการพูด
๔. ประเภทบทเห่กล่อมพระบรรทม
มี ๔ เรื่อง ทุกเรื่องแต่งในรัชกาลที่ ๔ ดังนี้
เห่เรื่องกากี เห่เรื่องจับระบำ เห่เรื่องพระอภัยมณี เห่เรื่องโคบุตร
รูปแบบคำประพันธ์
แต่งด้วยกาพย์เห่ซึ่งมีฉันทลักษณ์คล้ายกับกาพย์ยานี ๑๑ แต่ละตอนขึ้นต้นด้วย "เห่เอย..." และจบด้วย "เอย" ลีลากาพย์ในบทเห่ของสุนทรภู่ มีสัมผัสในที่เป็นสัมผัสสระเป็นคู่ในแต่ละวรรค โดยเฉพาะวรรคแรกและวรรคที่ ๓ ส่วนวรรคที่ ๒ และ ๔ ส่วนใหญ่เป็นสัมผัสพยัญชนะ
เนื้อหา
บทเห่ดังกล่าวมีทั้งที่สุนทรภู่นำเนื้อเรื่องมาจากนิทาน และเรื่องเล่าที่มีผู้แต่งไว้ หรือเล่าต่อกันมา เช่น เห่เรื่องกากี เห่เรื่องจับระบำ และนิทานที่สุนทรภู่แต่งเอง เช่น เห่เรื่องพระอภัยมณี เห่เรื่องโคบุตร โดยเห่เรื่องพระอภัยมณี สุนทรภู่เลือกเนื้อเรื่องบางตอนมาแต่ง