วรรครอง (วรรคที่ ๓) กับวรรคส่ง (วรรคที่ ๔) ส่วนใหญ่เป็นเสียงสามัญ
ลีลากลอนลักษณะนี้เอื้อต่อการแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ และการสร้างจินตภาพได้หลากหลาย ดังตัวอย่างเรื่อง พระอภัยมณี ตอนพระอภัยมณีเป่าปี่สะกดทัพ ซึ่งมีเนื้อความที่พรรณนาความว้าเหว่ ได้อย่างจับใจต่อไปนี้
วิเวกหวีดกรีดเสียงสำเนียงสนั่น คนขยั้นยืนขึงตลึงหลง
ให้หวิววาบซาบทรวงต่างง่วงงง ลืมณรงค์รบสู้เงี่ยหูฟัง
พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง
ว่าจากเรือนเหมือนนกที่จากรัง อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย
ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้ ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย
โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำในอัมพร
หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร
แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง
ด้านการพัฒนาเนื้อหาของวรรณกรรม สุนทรภู่นำเสนอเนื้อหาที่แปลกแตกต่างกับผลงานของกวีท่านอื่น หรือที่เคยแต่งกันมาก่อนหน้าสมัยสุนทรภู่ อันได้แก่ เนื้อหาในวรรณกรรมนิราศ และวรรณกรรมนิทาน
วรรณกรรมนิราศ สุนทรภู่นำเสนอเนื้อหาใหม่ที่เป็นเรื่องประสบการณ์ชีวิต ความในใจ ค่านิยม และปัญหาของสังคม โดยใช้การพรรณนาครวญถึงนางที่เคยเป็นเนื้อหาหลักแต่เดิม มาเป็นวิธีการเชื่อมโยงเรื่อง อันทำให้เนื้อหาของนิราศ เน้นการบันทึกธรรมชาติ และสิ่งที่พบเห็นต่างๆ ที่เป็นข้อเท็จจริงตามประสบการณ์ของผู้แต่งมากขึ้น นอกจากนี้ นิราศของสุนทรภู่ยังมีเนื้อหา ที่เป็นการเชื่อมโยงประสบการณ์ส่วนตัวไปสู่ประสบการณ์ร่วมของมนุษย์ โดยการกล่าวเป็นทำนองภาษิต หรือแง่คิดอีกด้วย ดังตัวอย่างนิราศพระบาทตอนหนึ่ง ต่อไปนี้
ถึงบางพังน้ำพังลงตลิ่ง
โอ้ช่างจริงเหมือนเขาว่านิจจาเอ๋ย
พี่จรจากดวงใจมาไกลเชย
โอ้อกเอ๋ยแทบพังเหมือนฝั่งชล
ถึงวังวัดเทียนถวายบ้านใหม่ข้าม
ก็รีบตามเรือที่นั่งมากลางหน
ทุ่งละลิ่วทิวเมฆเป็นหมอกมน
สะพรั่งต้นตาลโตนดอนาถครัน
เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น
ระวังตนตีนมือระมัดมั่น
เหมือนคบคนคำหวานรำคาญครัน
ถ้าพลั้งพลันเจ็บอกเหมือนตกตาล
วรรณกรรมนิทาน สุนทรภู่ผูกเรื่อง โดยการสร้างตัวละคร และเสนอแนวคิดสำคัญของเรื่องประเภทนิทาน ให้แตกต่างกับนิทาน ที่แต่งกันมาแต่เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องพระอภัยมณี ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างสรรค์นิทานแนวใหม่ ของสุนทรภู่ได้อย่างชัดเจน ตัวละครไม่ได้มีฤทธานุภาพเหมือนเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องอื่น แต่กลับมี "เพลงปี่" ซึ่งเป็นศิลปะสามัญธรรมดา เป็นอาวุธประจำตัว โดยสุนทรภู่ได้ซ่อนความพิเศษแสดงนัยความหมาย ที่หยั่งรู้ในธรรมชาติของมนุษย์ไว้อย่างลึกซึ้ง แสดงให้เห็นความลุ่มหลง ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้ง ของมนุษย์ และแนวทางแก้ไขความขัดแย้ง โดยใช้ปัญญา ไม่ใช่การทำศึก เรื่องพระอภัยมณีเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาทางความคิด ที่แหลมคมลึกซึ้ง รวมไปกับพลังแห่งความสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจของเหตุการณ์ในเรื่อง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เป็นนิทานที่เข้าถึงผู้อ่านผู้ฟังตั้งแต่อดีต มาจนถึงปัจจุบัน
ด้านจินตนาการ
วรรณกรรมนิทานของสุนทรภู่แสดงให้เห็นจินตนาการที่แปลก ล้ำยุค หรือมีความหมายโดยนัยซ่อนอยู่ ตัวละครที่มีลักษณะพิเศษ เช่น นางผีเสื้อสมุทร ม้านิลมังกร นางเงือก พระฤๅษีเกาะแก้วพิสดาร ในเรื่องพระอภัยมณี และพินทุมารยักษ์ใจดี ที่เลี้ยงดูสิงหไกรภพ ในเรื่องสิงหไกรภพ ซึ่งแสดงให้เห็นจินตนาการในการสร้างตัวละครของสุนทรภู่ เรือกำปั่นของโจรสุหรั่ง ธนูของพราหมณ์วิเชียร สำเภายนต์ของพราหมณ์โมรา เครื่องดนตรีของนางละเวง ในเรื่องพระอภัยมณี แสดงให้เห็นจินตภาพ ในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่ล้ำยุคของสุนทรภู่
ด้านความคิดและคติชีวิต
เนื้อหาที่แสดงความคิดและทรรศนะต่อโลกและชีวิต ที่สุนทรภู่เสนอไว้ในวรรณกรรม ทั้งที่เป็นโวหาร ความเปรียบ หรือแง่คิดคำคม ที่แทรกอยู่ในเนื้อเรื่อง และแนวคิดสรุปรวมของเรื่อง ล้วนเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ผู้อ่านประทับใจ และเป็นคุณค่าเกี่ยวกับความเข้าใจสัจธรรมว่า ความเป็นอนิจจัง หรือความไม่เที่ยงแท้แน่นอน และความเป็นไปของชีวิตนั้น เป็นอำนาจของบุญกรรม ซึ่งส่งผลต่อเนื่อง จากอดีต สู่ปัจจุบัน และอนาคต และแนวทางการดำเนินชีวิต ที่ผู้อ่านผู้ฟังจะได้รับ เช่น ให้ตระหนักว่า วิชาความรู้ต้องนำมาใช้ให้สัมพันธ์กับความเป็นจริงของชีวิต โดยการรู้เท่าทันเล่ห์กลของมนุษย์ที่มีใจคด และไม่ได้มีความรักอันบริสุทธิ์เหมือนความรักของบิดามารดา ดังคำสอนของฤๅษีเกาะแก้วพิสดาร ที่สอนสุดสาคร เมื่อถูกชีเปลือยผลักตกเหวว่า
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน บิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี
ด้านวัฒนธรรม
เนื้อหาวัฒนธรรมไทย ที่ปรากฏในวรรณกรรมของสุนทรภู่ เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นภูมิรู้ของสุนทรภู่ ที่ได้สั่งสมประสบการณ์จากการศึกษา และการสังเกตวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากวัฒนธรรมไทยแล้ว สุนทรภู่ยังได้ถ่ายทอดความรู้ เกี่ยวกับชาวต่างชาติ และวัฒนธรรมของชาวต่างชาติที่สุนทรภู่ได้ยินได้ฟังมา และใช้จินตนาการถ่ายทอดไว้ ในเรื่องพระอภัยมณี อันมีผลทำให้วรรณกรรมของท่านมีลักษณะสร้างสรรค์ที่รู้เท่าทันโลกด้วย