เนื้อเพลง
เพลงลูกทุ่งมีเนื้อร้องที่สะท้อนความเป็นไปในสังคม ความคิด การดำเนินชีวิต ค่านิยมและคุณค่าทางด้านสังคม สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พระพุทธศาสนา ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี การบริโภค และแง่คิดต่างๆ ทั้งที่เป็นคติสอนใจ คำพูดกระทบกระเทียบเสียดสี เป็นเพลงที่สามารถพูดถึงได้ทุกเรื่องทุกเหตุการณ์ เปิดกว้างในการใช้ภาษา ทั้งภาษาชาวบ้าน ภาษากวี และคำแผลง ศัพท์ที่นิยมในช่วงเวลานั้นๆ จึงนับเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สังคมไทยในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี
สรวง สันติ
ตัวอย่างเนื้อเพลงที่บรรยายสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชนบท เช่น
เพลงสวรรค์ชาวนา
ประพันธ์โดย ไพบูลย์ บุตรขัน ขับร้องโดย คำรณ สัมบุณณานนท์
"รุ่งแสงสุริยา เสียงไก่ขันมาก้องกังวาน กาเหว่าครวญเสียงหวาน แว่วกังวานป่าดงพงไพร ชีวิตบ้านท้องนา เช้าตื่นขึ้นมาไล่ควายไปในป่า แบกคันไถจุดเหล็กไฟสูบยาใบตอง ไถนาไปพลางร้องเพลง ไม่หวั่นเกรงแดดจะร้อนส่อง ตกเพลวัดโบสถ์ตีกลอง หยุดไถนาพลัน ค่ำแล้ว กลับบ้านมา หาข้าวปลาแบ่งกินกัน นี่แหละคือสวรรค์ ที่ตัวฉันอยู่กันจำเจ... โห่เล"
ในระยะแรกคำร้อง หรือเนื้อเพลงลูกทุ่ง เป็นการบรรยายสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ ของชาวชนบท ซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรม ต่อมาเมื่อมีนักแต่งเพลงมากขึ้น เนื้อหาก็มีความหลากหลายตามแต่ผู้ประพันธ์จะกำหนด ทั้งแนวรัก เศร้า หรือสะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ การเมือง หรือหากมีเหตุการณ์สำคัญๆ เพลงลูกทุ่งก็จะทำหน้าที่บันทึกไว้ทันที
ตัวอย่างเพลงที่สะท้อนเหตุการณ์ของสภาพชีวิตความเป็นอยู่ เช่น
เพลงน้ำท่วม
ประพันธ์โดย ไพบูลย์ บุตรขัน ที่มีคำร้องว่า
"น้ำท่วมน้องว่าดีกว่าฝนแล้ง พี่ว่าน้ำแห้งให้ฝนแล้งเสียยังดีกว่า น้ำท่วมปีนี้ทุกบ้านล้วนมีแต่คราบน้ำตา พี่หนีน้ำขึ้นบนหลังคา น้ำตาไหลเคล้าสายชล"
เพลงน้ำมันแพง ของ สรวง สันติ
เพลงข้าวไม่มีขาย ของ ศรเพชร ศรสุพรรณ
อาจกล่าวได้ว่า เพลงลูกทุ่งสะท้อนความเป็นไปของสังคมไทย และประวัติศาสตร์สังคมไทย ปรากฏอยู่ในเพลงลูกทุ่งไม่น้อย อีกทั้งเป็นสิ่งที่ช่วยปลอบใจคนจนยามสิ้นหวังได้เป็นอย่างดี เพลงลูกทุ่งในบางยุคอาจสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยยังขาดกลไกที่มา ซึ่งความเสมอภาค และยุติธรรม เพลงลูกทุ่งจึงไม่ใช่จะสื่อถึงความบันเทิงบริสุทธิ์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังคงทำหน้าที่เป็นภาพสะท้อนความคิด ความเชื่อ และเป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิตโดยแท้จริง ที่คนรุ่นหลังสามารถศึกษารับรู้ได้ โดยผ่านบทเพลงในอดีตเหล่านั้น

อัลบั้มเพลงลูกทุ่งที่สะท้อนเหตุการณ์บ้านเมือง
นอกจากนี้เพลงลูกทุ่งยังมีเนื้อหาของการใช้ถ้อยคำภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ต้องแปลความหมาย มีการสรรหาคำกระทบกระเทียบ เปรียบเปรย ประชดประชัน ใช้ถ้อยคำคารมคมคายถูกใจผู้ฟัง และมีการใช้คำคล้องจอง คำสัมผัส ภาษาที่ปรากฏ มีแหล่งที่มา ที่หลากหลาย ทั้งภาษาของภาคกลาง อีสาน เหนือ และใต้ โดยใช้ศัพท์ สำนวน สำเนียง ภาษาถิ่น ซึ่งแตกต่างกันไป ตามลักษณะของเพลงหรือตามสำเนียงของนักร้อง เช่น เสียงเหน่อแบบชาวสุพรรณบุรีของ สุรพล สมบัติเจริญ ถือได้ว่า การขับร้องด้วยสำเนียงถิ่นต่างๆ นั้น เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเพลงลูกทุ่ง และมักออกเสียงเพี้ยนไปจากเสียงวรรณยุกต์ ของภาษามาตรฐาน อาจเนื่องมาจากเป็นสำเนียงที่มากับตัวนักร้องเอง หรือเพื่อให้ดูโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ นักร้องแต่ละคนจึงต้องมีลีลาการร้องเฉพาะตัว เพื่อสร้างจุดสนใจ เช่น ชาย เมืองสิงห์ มีการออกเสียงนาสิก ฟังคล้ายเสียงบีบจมูก หรือรุ่งเพชร แหลมสิงห์ ในเพลง ฝนเดือนหก "ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำพรำ" รุ่งเพชร ออกเสียงคำว่า ตก เป็น ต๊ก ซึ่งมีการเพี้ยนเสียงวรรณยุกต์ เอกชัย ศรีวิชัย ร้องเพลง โดยใช้สำเนียงภาคใต้ บางครั้งแม้นักร้องจะไม่ใช่คนพื้นถิ่นนั้น แต่ผู้แต่งเพลงก็แต่งให้นักร้องออกสำเนียงถิ่นนั้นไปด้วย
สังคมที่อยู่ในยุคทุนนิยม ความต้องการมีบ้าน รถยนต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานที่ใครๆ ต่างมีไว้สำหรับติดต่อสื่อสาร การพูดถึงห้างสรรพสินค้าที่ใช้เวลาพักผ่อนในวันหยุด หรือกล่าวถึงร้านสะดวกซื้อ ก็มีอยู่ในเนื้อหาของเพลงลูกทุ่งยุคปัจจุบัน
ตัวอย่างเพลงที่มีศัพท์สำนวนภาษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เพลง สาวอีสานรอรัก
"น้องเป็นสาวขอนแก่น ยังบ่เคยมีแฟน บ้านอยู่แดนอีสาน น้องเป็นสาววัยอ่อน ได้แต่นอนตะแคงยามเมื่อแรงฝันหวาน จะมีชายใดไผเดต้องการ จะมีชายใดไผเดต้องการ จงเอ็นดูแนเด้ออ้ายเดอ จงปรานีน้องแนจั๊กหน่อย ฮักน้องบ่อยๆ เพราะน้องได้พลอยดีใจ"
เพลง ขอใจกันหนาว
ขับร้องโดย ต่าย อรทัย
"เมื่อเลิกงานเดินเหงา มีเงาเป็นเพื่อนข้างซอย ผู้สาวบ้านไกลใจลอย บ่มีคนคอยเคียงเงา อยู่ในเมืองใหญ่ อุ่นกายแต่หัวใจหนาว วันๆ มีหลายเรื่องราว รุมเร้าให้คอยหวั่นไหว ฝืนยืนสู้แค่ไหน นานไปแรงใจสุดท้อ หวั่นเกรงทางบ้านที่รอ แม่พ่อจะสู้จั๋งได้ ปัญหาหลายอย่าง สู้ตามลำพังบ่ไหว พรุ่งนี้สิเดินอย่างไร เมื่อใจบ่มีคนเคียง"
ตัวอย่างเพลงที่มีศัพท์สำนวนภาษาถิ่นภาคใต้
เพลง แสนหวังเหวิด
"ทราบข่าวว่าแม่บังอรอยู่เมืองนคร บ้านเกิดบ้านเกิด วันก่อนควงลิเกโดนยาเสน่ห์เลยหนีเตลิด ลิเกทิ้งขว้างร้างเจ้า ลิเกทิ้งขว้างร้างเจ้า ไปพบแม่เล้า อุ้ย น่าหวังเหวิด" (หวังเหวิด แปลว่า ห่วงใย คิดถึง)
นอกจากนี้เนื้อเพลงในเพลงลูกทุ่งยังได้สอดแทรกขนบธรรมเนียมประเพณีไทย และคำสอนทางพระพุทธศาสนา ความเชื่อเรื่องบุญกรรมอยู่ตลอดเวลา เราสามารถศึกษาประเพณี เทศกาลต่างๆ ได้จากเนื้อเพลงเหล่านี้ ตลอดจนวิถีชีวิตเกษตรกรรม การนับเดือนต่างๆ

อัลบั้มเพลงลูกทุ่งที่สะท้อนเหตุการณ์บ้านเมือง
ตัวอย่างเพลงที่แทรกขนบธรรมนียมประเพณีไทย หรือคำสอนทางพระพุทธศาสนา
เพลง หนุ่มนารอนาง
"เดือนเจ็ดเจ้าไม่มา จะเข้าพรรษายิ่งพาใจเศร้า"
เพลง น้ำลงเดือนยี่
"เมื่อเดือนสิบเอ็ด น้ำเริ่มไหลนอง เพ็ญเดือนสิบสองพี่และน้องร่วมลอยกระทง แล้วไยเดือนยี่ น้องของพี่รักเริ่มถอยลง เหตุไฉนน้ำใจอนงค์ ไหลถอยลงเหมือนน้ำลงเดือนยี่"
เพลง ผู้อาภัพ
"หากชาติก่อนนี้มีเวรกรรมก่อ ควรใช้หนี้ให้พอ แล้วขอสร้างบุญเรื่อยไป ชาติหน้ามีจริงจะขอเกิดใหม่ กุศลที่สร้างไว้ดลใจให้คนเมตตา"
ตัวอย่างเพลงที่มีคำเปรียบเทียบชีวิตและโลก เพื่อให้รู้จักค่าของชีวิต ค่าของความเป็นคน คือ เพลงโลกนี้คือละคร ประพันธ์โดย ไพบูลย์ บุตรขัน ขับร้องโดย ปรีชา บุญญเกียรติ
"โลกนี้นี่ดูยิ่งดูยอกย้อน เปรียบเหมือนละคร ถึงบทเมื่อตอนเร้าใจ บทบาทลีลาแตกต่างกันไป ถึงสูงเพียงใด ต่างจบลงไปเหมือนกัน เกิดมาต้องตายร่างกายผุพัง ผู้คนเขาชัง คิดยิ่งระวังไหวหวั่น ต่างเกิดกันมาร่วมโลกเดียวกัน ถือผิวชังพรรณ บ้างเหยียดหยามกันเหลือเกิน โลกนี้คือละคร บทบาทบางตอน ชีวิตยอกย้อนยับเยิน ชีวิตบางคนรุ่งเรืองจำเริญ แสนเพลินเหมือนเดินอยู่บนหนทางวิมาน โลกนี้นี่ดูยิ่งดูเศร้าใจ ชั่วชีวิตวัย หมุนเปลี่ยนผันไปเหมือนม่าน เปิดฉากเริงรองผุดผ่องตระการ ครั้นแล้วไม่นาน ปิดม่านเป็นความเศร้าใจ"
เมื่อถึงปัจจุบัน เนื้อหาของเพลงลูกทุ่งก็ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย คือ ไม่กล่าวถึงธรรมชาติที่งดงามของท้องทุ่งไร่นา ความเขียวขจีของต้นข้าวอีกแล้ว แต่เนื้อหามักกล่าวถึงการใช้แรงงานในเมืองหลวง ชีวิตของหนุ่มสาวโรงงาน ความรัก ความอดทน ที่ต้องทำงานหนัก เพื่อหาเงินส่งกลับไปที่บ้าน อันสะท้อนสภาพชีวิต
ปรีชา บุญญเกียรติ ผู้ขับร้องเพลง โลกนี้คือละคร ซึ่งเนื้อร้องเตือนให้รู้จักค่าของชีวิต