เล่มที่ 33
เพลงลูกทุ่ง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ธุรกิจเพลงลูกทุ่ง

ความนิยมเพลงลูกทุ่งทำให้เกิดธุรกิจสำคัญในวงการเพลงลูกทุ่ง เริ่มจากธุรกิจแผ่นเสียง ธุรกิจวงดนตรี ซึ่งแรกเริ่มเป็นระบบอุปถัมภ์ หรือระบบครอบครัว จนไปสู่ธุรกิจในเชิงพาณิชย์อุตสาหกรรมในระบบทุนนิยม กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องมีตั้งแต่นายทุน นักร้อง นักแต่งเพลง นักจัดรายการเพลง นักดนตรี หางเครื่อง พ่อค้า และผู้บริโภค ซึ่งภายหลังจากที่สุรพล  สมบัติเจริญ เสียชีวิต ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวของวงการเพลงลูกทุ่ง มีนักร้องและวงดนตรีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย มีการแข่งขันสูง และเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงบนเวทีโดยอาศัยเทคโนโลยีด้านแสง สี เสียง และหางเครื่อง เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องมีนายทุนเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจวงดนตรี เพลงลูกทุ่งจึงต้องเผชิญกับธุรกิจในระบบทุนนิยม มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ทั้งภายในธุรกิจเพลงลูกทุ่งด้วยกันเอง และการแข่งขันกับธุรกิจเพลงไทยสากล ซึ่งมีความเข้มแข็ง เป็นระบบองค์กรมากกว่าเพลงลูกทุ่ง ที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทเล็กๆ ทำงานอย่างง่ายๆ  ตามความต้องการของนายทุน ส่งผลให้บริษัทธุรกิจเพลงลูกทุ่งต้องปรับตัว ให้มีความทันสมัยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจอุตสาหกรรม อำนาจของสื่อมวลชน และธุรกิจการขายแผ่นเสียงได้ใช้ประโยชน์ เพื่อส่งเสริมการขายแผ่นเสียง โดยจ้างนักจัดรายการวิทยุให้เปิดเพลงของนักร้องที่ต้องการสนับสนุน การใช้เงินจ้างเปิดเพลง ได้กลายเป็นสิ่งที่กำหนดการเป็นนักร้องยอดนิยม แทนที่จะเป็นการยอมรับในผลงานเพลง และคุณภาพของนักร้องในอดีต ดังที่ไพบูลย์  บุตรขัน นักประพันธ์เพลงชื่อดังเรียกระบบการจ้างเปิดเพลงที่เกิดขึ้นนี้ว่า "มะเร็งในวงการเพลงลูกทุ่ง" ส่งผลให้วงดนตรีลูกทุ่งในรูปแบบเก่าอ่อนแอลง


กระแสความตื่นตัวของวงการเพลงลูกทุ่ง ทำให้ธุรกิจเพลงลูกทุ่งมีการแข่งขันสูง ทั้งด้านเวทีการแสดง
 นักร้อง เครื่องแต่งกายของนักร้อง และนักเต้น รวมทั้งอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง

ธุรกิจสื่อสารมวลชนเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เพลงลูกทุ่งสามารถสื่อเข้าถึงผู้ฟังได้ สื่อมวลชนด้านวิทยุกระจายเสียงเปรียบเสมือนสถาบันชี้วัดคุณค่าความนิยมของเพลงลูกทุ่ง โดยผู้จัดรายการจะเป็นผู้คัดเลือกเพลงที่มีคุณภาพ หรือเป็นที่นิยมของผู้ฟังอย่างแท้จริงออกเผยแพร่ ซึ่งอยู่ในยุคที่เพลงลูกทุ่งเฟื่องฟู จนกระทั่งธุรกิจแผ่นเสียงเข้ามามีบทบาทชี้นำในการสร้างสรรค์ผลงานเพลง จึงเริ่มใช้ประโยชน์จากความเชื่อถือของผู้ฟังที่มีต่อสื่อวิทยุ เพื่อให้เข้าใจว่า เพลงที่ออกรายการคือ เพลงที่ดี โดยเริ่มมีการแจกแผ่นเสียง ซึ่งแต่เดิมนั้น ผู้จัดรายการจะจัดซื้อแผ่นเสียงจากงบประมาณของสถานีหรือของส่วนตัว เพื่อเลือกออกอากาศ เมื่อใช้วิธีแจกแผ่นเสียง แล้วตามมาด้วยการมอบสินน้ำใจแก่ผู้จัดรายการอิสระ ที่ช่วยเปิดเพลง ของศิลปินในสังกัด จนกระทั่งกลายมาเป็นการว่าจ้างเป็นกิจจะลักษณะแบบที่เรียกกันว่า "ระบบคิวเพลง" ในช่วง พ.ศ. ๒๕๒๐ ระบบคิวเพลงคิดอัตราจากการที่นักจัดรายการ เปิดเพลงให้บริษัทที่ติดต่อ วันละเพลง เดือนละประมาณ ๑,๐๐๐ บาท หรือซื้อเวลาจากสถานี แล้วจ้างนักจัดรายการมาจัดเองก็มี เพลงที่เปิดจึงเป็นเพลงในสังกัดบริษัทนั้นๆ แต่ในปัจจุบัน ความหลากหลายของสถานีที่จัดรายการเพลงลูกทุ่งมีมากขึ้น จากความนิยมในคลื่นความถี่ระบบ เอ.เอ็ม. กลายมาเป็นคลื่นความถี่ระบบ เอฟ.เอ็ม. เพื่อการรับฟังที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ตลอดจน รายการโทรทัศน์ต่างๆ มีการแสดงวงดนตรีลูกทุ่งมากมาย ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ มีการจัดประกวดร้องเพลงลูกทุ่งในระดับต่างๆ เพลงลูกทุ่งไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งความล้าสมัย ดังเช่นในอดีต แต่เป็นความบันเทิงยอดนิยมอีกรูปแบบหนึ่ง และสามารถครองใจเยาวชนให้นิยมชมชอบเพลงลูกทุ่งได้

การเดินสาย

การเดินสายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเพลงลูกทุ่ง นับเป็นรายได้หลักของวงดนตรีลูกทุ่ง ด้วยการเดินทางไปเปิดการแสดงตามสถานที่ต่างๆ โดยมักจะไปแสดงหลายๆ จังหวัดติดต่อกัน เช่น ออกเดินสายภาคกลาง ก็จะไปเปิดการแสดงตามจังหวัดต่างๆ ในภาคกลาง การออกเดินสายจึงเป็นการเผยแพร่บทเพลงไปสู่ผู้ฟังได้อย่างเต็มที่ และทั่วถึง ทั้งการแสดงของนักร้อง แสง สี เสียงที่วิจิตรตระการตา และความสวยงามของหางเครื่อง ประชาชนมีโอกาสได้ชมนักร้องที่ตนชื่นชอบอย่างใกล้ชิด การเดินสายจึงมีประโยชน์หลายประการ ทั้งเป็นการเพิ่มยอดจำหน่ายผลงาน รายได้จากการแสดง และเป็นสิ่งบันเทิงให้กับชาวบ้าน ที่อยู่ห่างไกล การเดินสายอาจเปิดการแสดงกลางแจ้ง ในวัด หรือตามโรงภาพยนตร์


การเดินทางไปแสดงตามจังหวัดต่างๆ ที่เรียกว่า การเดินสาย นอกจากเป็นการเผยแพร่ผลงานเพลงได้อย่างแพร่หลาย
 และแสดงความยิ่งใหญ่ตระการตาของวงดนตรีลูกทุ่งแล้ว ยังถือเป็นรายได้หลักของวงอีกด้วย

การแสดงของวงดนตรีลูกทุ่งหากเป็นการเดินสายแสดงกลางแจ้ง มักจะเริ่มเวลาค่ำเป็นต้นไป เนื่องจาก ต้องรอให้ผู้ชมเสร็จจากภารกิจประจำวัน และรับประทานอาหารเย็นเรียบร้อยแล้ว การแสดงอาจใช้เวลาประมาณ ๓ - ๔ ชั่วโมง หรือหากแสดงในโรงภาพยนตร์มักเล่น ๒ รอบ รอบบ่ายเริ่มเวลา ๑๔.๐๐ น. เลิกแสดงราว ๑๘.๐๐ น. รอบค่ำแสดงเวลา ๒๐.๐๐ น. เลิกประมาณ ๒๔.๐๐ น. บางวงอาจเปิดแสดง ๓ รอบต่อวันก็มี วงดนตรีที่มีการแสดงเต็มรูปแบบ จะมีทั้งนักร้องนำ และนักร้องประจำวง โดยนักร้องประจำวงจะออกมาร้องเพลงก่อน แล้วอาจคั่นด้วยตลกประจำคณะ เพื่อไม่ให้ผู้ชมเบื่อ และเป็นการให้นักร้องได้หยุดพัก ก่อนที่นักร้องนำหรือหัวหน้าวงจะออกมา บางวงอาจมีการแสดงมายากล ละครสั้น แล้วแต่จะคิดสร้างสรรค์ เพื่อดึงดูดให้ผู้ชมรู้สึกสนุก และติดตามชมไปจนจบการแสดง


การเดินทางไปแสดงตามจังหวัดต่างๆ ที่เรียกว่า การเดินสาย นอกจากเป็นการเผยแพร่ผลงานเพลงได้อย่างแพร่หลาย
 และแสดงความยิ่งใหญ่ตระการตาของวงดนตรีลูกทุ่งแล้ว ยังถือเป็นรายได้หลักของวงอีกด้วย

การตั้งวงดนตรี

การตั้งวงดนตรีลูกทุ่งวงหนึ่งๆ มักมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ นายทุน หรือเจ้าของบริษัทแผ่นเสียง เทปเพลง ที่ออกเงินทุน ให้กับวงดนตรี หรือนักร้องเป็นผู้ตั้งวงดนตรีเอง ต่อไปคือ นักร้อง ผู้จัดการวงดนตรี ที่จะคอยนัดหมายการแสดงให้กับวง นักดนตรี นักร้องคนอื่นๆ ในวง ตลก เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค การทำฉาก แสง สี เสียง เจ้าหน้าที่ขนย้าย ขนเครื่องดนตรี ขนย้ายฉาก หางเครื่อง แม่ครัว คนขับรถ เด็กผู้ช่วยประจำวง ซึ่งวงดนตรีลูกทุ่งวงใหญ่ๆ อาจมีคนในวงมากกว่า ๒๐๐ คน และมักเดินทางไปในที่ต่างๆ ด้วยรถโดยสารขนาดใหญ่หลายคัน การตั้งวงดนตรีจึงจำเป็นต้องใช้เงินทุนสูง และจำเป็นต้องออกเดินสายตลอดปี เพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับจ่ายให้แก่สมาชิกในวง ตัวอย่างเช่น วงดนตรีของวงพิณแคนแดนอีสาน ซึ่งมี ศิริพร  อำไพพงษ์ เป็นนักร้องนำ และเป็นหัวหน้าวง จำนวนคนในวงมีมากกว่า ๒๐๐ คน แบ่งเป็น นักร้อง นักดนตรี หางเครื่อง หมอลำ ตลก และเด็กในวง ซึ่งกว่าร้อยละ ๗๐ เป็นลูกหลานเครือญาติของศิริพร  อำไพพงษ์ วงพิณแคนแดนอีสานจะเดินสายไปเปิดการแสดง เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ในปีถัดไป ซึ่งในช่วงดังกล่าวเข้าสู่ฤดูหนาวต่อถึงฤดูร้อน และหยุดพักในช่วงฤดูฝน วงพิณแคนแดนอีสานรับงานในลักษณะของการจ้างวงดนตรีไปแสดง หรือทางวงเปิดการแสดงเอง เรียกว่า "งานล้อมผ้า" ระหว่างการเดินสายไปตามจังหวัดต่างๆ รูปแบบการแสดงมีทั้งเป็นเพลงลูกทุ่ง สตริง ตลกอีสาน เพลงนานาชาติ ลิเกอีสาน เป็นต้น เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผู้ชมผู้ฟัง มีการคัดเลือกนักร้องคนอื่นๆ ในวงขึ้นมา เพื่อสร้างความหลากหลาย และแนวการร้อง ที่แตกต่างเป็นลักษณะเฉพาะตัว เพื่อสร้างจุดขาย และแบ่งเบาภาระของนักร้องนำ


การแสดงหน้าเวทีของวงสายัณห์  สัญญา

หลังจาก พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ธุรกิจเพลงลูกทุ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการส่งเสริมให้เกิดความนิยมแพร่หลายในหลายลักษณะ ทั้งการนำนักร้องยอดนิยมในอดีต มาขับร้องใหม่ หรือการสรรหานักร้องใหม่มา เพื่อเป็นนักร้องยอดนิยม และมีความต้องการนักร้องใหม่มาทดแทนนักร้องเก่าๆ ที่เริ่มเสื่อมความนิยม จึงเกิดกระแสของการจัดประกวดร้องเพลงลูกทุ่งทั่วทุกภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการนักร้องเสียงดีมีคุณภาพคนใหม่ และเพื่อการอนุรักษ์ สืบทอดการร้องเพลงลูกทุ่งให้กับเยาวชนรุ่นต่อๆ ไป


วงพิณแคนแดนอีสานของศิริพร  อำไพพงษ์ มีการแสดงตลกประกอบระหว่างพักคั่นเวลา

การประกวดเพลงลูกทุ่งนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งมาตั้งแต่อดีต เนื่องจาก ผู้ที่ต้องการจะเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่ง มักต้องผ่านการร้องเพลงในเวทีประกวดร้องเพลง ตามงานต่างๆ เพื่อแสดงความสามารถในการขับร้อง คณะกรรมการที่เชิญมาตัดสินการประกวด มักเป็นผู้ที่อยู่ในวงการเพลงลูกทุ่ง อาจเป็นนักร้อง นักแต่งเพลง หรือครูเพลง จึงเป็นโอกาส ที่จะสรรหานักร้องใหม่ ที่มีน้ำเสียงดี มีความสามารถในการขับร้อง ซึ่งนักร้องยอดนิยมหลายคน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ต่างเคยผ่านการแสดงความสามารถจากเวทีประกวดเพลงลูกทุ่งมา ไม่มากก็น้อย



การมีเวทีประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ไม่ว่าจะเป็นงานวัดหรือที่หน่วยงานราชการหรือเอกชนจัดขึ้น
 เป็นโอกาสที่จะสรรหานักร้องใหม่ที่มีความสามารถได้มากขึ้น

ในอดีต การประกวดเพลงลูกทุ่ง หรือวงดนตรีลูกทุ่ง มักจัด เมื่อมีงานวัด เนื่องจาก วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีสถานที่กว้างขวางเพียงพอ และมีประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อเพลงลูกทุ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และภาคเอกชน การประกวดเพลงลูกทุ่งจึงแพร่หลาย ไม่จำกัดแค่ในงานวัด แต่ขยายไปตามโรงเรียน สถานที่ราชการ บริษัทห้างร้าน ห้างสรรพสินค้า รายการโทรทัศน์ โดยแบ่งเป็นการแข่งขันระดับต่างๆ เช่น ระดับเยาวชน มีตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา ระดับประชาชน ทั้งชายและหญิง ทั้งนี้ เป็นเพราะเพลงลูกทุ่งเป็นเพลงที่มีการขับร้องยาก ผู้ที่ร้องดีต้องมีเนื้อเสียง หรือมีน้ำเสียงที่ฟังแล้วไพเราะ ต้องใช้ลูกคอ ใช้การเอื้อนเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของเพลงลูกทุ่ง ต้องออกเสียงอักขระภาษาไทยให้ชัดถ้อยชัดคำ เต็มเสียง แตกต่างจากเพลงสตริงที่นักร้องวัยรุ่นใหม่ๆ เริ่มออกเสียงไม่ชัดเจน จึงมีการส่งเสริมการร้องเพลงลูกทุ่งให้แก่เยาวชนไทย เพื่อรักษาความเป็นเอกลักษณ์ ของเพลงลูกทุ่ง และส่งเสริมการออกเสียงภาษาไทยที่ชัดเจน ขอยกตัวอย่าง การจัดประกวดเพลงลูกทุ่งที่สำคัญๆ พอเป็นสังเขปดังนี้  

การประกวดแต่งเพลงลูกทุ่งในหัวข้อ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับระบอบประชาธิปไตย"

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ดำเนินงานโครงการศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ประจำ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยจัดประกวดแต่งเพลงลูกทุ่งในหัวข้อ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับระบอบประชาธิปไตย" เพื่อสนองแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย และอนุรักษ์ส่งเสริมบทบาทเพลงลูกทุ่งไทย ซึ่งโครงการนี้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวน ไปทุกจังหวัด ทั่วประเทศ

รายการชิงช้าสวรรค์คอนเทสต์

รายการชิงช้าสวรรค์คอนเทสต์เป็นรายการที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ โมเดิร์นไนน์ทีวี ผลิตโดย บริษัทเวิร์คพอยท์เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นเวทีแสดงความสามารถ ของเยาวชนไทยอายุระหว่าง ๑๐ - ๑๘ ปีจากโรงเรียนทั่วประเทศ มาแข่งขันในด้านการร้องเพลงลูกทุ่ง เล่นดนตรีในรูปแบบเต็มวง และการเต้นประกอบเพลง (หางเครื่อง)  ผู้ชนะประจำปีจะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเริ่มจัดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔ เป็นปีแรก ผู้ตัดสินเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ในวงการเพลงลูกทุ่งไทย ศิลปินแห่งชาติ ครูเพลง และนักแต่งเพลงชื่อดัง


การประกวดวงดนตรีลูกทุ่ง ในรายการชิงช้าสวรรค์คอนเทสต์ เป็นเวทีแสดงความสามารถของเยาวชนไทยจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ

การประกวดวงดนตรีลูกทุ่งกำแพงใจ เฉลิมพระเกียรติ

มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี ลดความเครียด ขณะอยู่ในเรือนจำ รูปแบบรายการเป็นการแสดงวงดนตรีลูกทุ่งของผู้ต้องขังจากตัวแทน ที่ผ่านการคัดเลือกจากเรือนจำ และทัณฑสถานทั่วประเทศไทย ประกอบด้วย การประกวดวงดนตรีลูกทุ่งยอดนิยม การประกวดนักร้องยอดเยี่ยม จัดโดย ส่วนส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาจิตใจผู้ต้องขัง สำนักพัฒนาพฤตินิสัย กรมราชทัณฑ์ โดยมีคณะกรรมการจากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยฯ มาร่วมตัดสิน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งระดับเยาวชน ที่คัดเลือกเยาวชนทุกภูมิภาค มาประกอบกิจกรรมฝึกฝนทักษะใน "บ้านคนรักษ์ลูกทุ่ง" โดยการแสดงความสามารถ ในเวทีการแสดง และให้ผู้ชมส่งข้อความผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อรวบรวมคะแนน ให้กับผู้ที่ตนชื่นชอบ ผู้ที่ได้รับคะแนนน้อยในแต่ละสัปดาห์จะถูกคัดออกจนเหลือ ๗ คน เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ และยังมี โครงการสร้างเด็กไทยหัวใจลูกทุ่ง รายการแชมป์เยาวชน ส่วนสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็มีการจัดประกวดร้องเพลงลูกทุ่งมากมาย หรือตามจังหวัดต่างๆ ที่มีการจัดงานเทศกาลประจำปี รายการประกวดเพลงลูกทุ่งเป็นรายการที่ขาดไม่ได้ เพื่อสร้างความบันเทิง และเป็นเวทีแสดงความสามารถด้านการร้องเพลงลูกทุ่ง เพื่อจะได้มีโอกาสพัฒนาความสามารถไปสู่ความเป็นนักร้องอาชีพต่อไป


ปัจจุบันสถานีโทรทัศน์หลายแห่งมีรายการที่จัดให้เยาวชนมาประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง