สภาพพื้นผิวของเปลือกโลก
พื้นผิวของเปลือกโลกปกคลุมด้วยพื้นน้ำมากกว่าพื้นดิน กล่าวคือ มีน้ำปกคลุมผิวเปลือกโลก ร้อยละ ๗๒ ส่วนที่เป็นพื้นดิน มีเพียงร้อยละ ๒๘ เราจึงแบ่งเปลือกโลกอย่างกว้างๆ ออกเป็น ๒ ส่วน คือ เปลือกโลกส่วนที่เป็นทวีป เรียกว่า เปลือกโลกภาคพื้นทวีป (continental crust) และเปลือกโลกส่วนที่เป็นมหาสมุทร เรียกว่า เปลือกโลกภาคพื้นสมุทร (oceanic crust)

ลักษณะภูมิประเทศที่คล้ายคลึงกันระหว่างสันกลางมหาสมุทรแอตแลนติก (ภาพล่าง) กับบริเวณทวีปอเมริกาเหนือ (ภาพบน) ให้สังเกตว่า
ส่วนที่เป็นลาดทวีปเหนือเปลือกโลกภาคพื้นสมุทรมีขนาดใกล้เคียงกับทุ่งใหญ่ (great plain) ของทวีปอเมริกาเหนือ (shepard, 1963)
หลายคนคงคิดว่า พื้นดินน่าจะมีความขรุขระมากกว่าพื้นทะเล แต่อันที่จริงแล้ว พื้นท้องทะเลมีความขรุขระมากกว่าพื้นดินหลายเท่า ความไม่เรียบของพื้นผิวโลกทั้งบนบก และในน้ำ เป็นผลมาจากกระบวนการทางธรณีวิทยาที่กระทำบนผิวเปลือกโลก ที่เรียกกระบวนการพื้นผิว (surface process) แทบทั้งสิ้น กล่าวคือ ความร้อน และความชื้น ช่วยทำให้หินเกิดการผุพังอยู่กับที่ (weathering) รวมทั้งการกร่อน (erosion) อันเป็นผลมาจากการกระทำของตัวการ (agents) ต่างๆ ซึ่งได้แก่ น้ำฝน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน น้ำทะเล หิมะ และลม ตัวการเหล่านี้ ยังช่วยให้เกิดการนำพาเอาวัสดุที่ได้จากการผุพัง และการกร่อนจากที่หนึ่งไปทับถม ในที่อีกแห่งหนึ่งด้วย
จากการศึกษาของนักธรณีวิทยาพบว่าความสูงต่ำของท้องทะเลมีมากกว่าบนบก ยอดเขาเอเวอเรสต์ (Mt. Everest) ซึ่งเป็นส่วนสูงที่สุดของพื้นแผ่นดิน มีความสูง ๘,๘๔๗.๗๓ เมตร (๒๙,๐๒๘ ฟุต) จากระดับทะเลปานกลาง แต่ส่วนลึกที่สุดของพื้นน้ำ ที่เรียกว่า ร่องลึกใต้สมุทร (oceanic trench) คือ ร่องลึกมาเรียนา (Mariana trench) ในมหาสมุทรแปซิฟิก อยู่ลึกจากระดับน้ำทะเลลงไปถึง ๑๑ กิโลเมตร
ปริมาณน้ำในทะเล และมหาสมุทรมีมากกว่าปริมาณน้ำบนแผ่นดินถึงกว่าร้อยละ ๙๐ และลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของพื้นทะเลนับจากชายฝั่งทะเลออกไป ประกอบด้วย ส่วนที่เป็นบ่าทวีป (continental shelf) ที่มีความลาดชันน้อย และไหล่ทวีป (continental slope) ที่มีความลาดชันมาก จนไปถึงลาดทวีป (continental rise) ที่มีความลาดชันน้อยอีกครั้ง จากนั้นจึงต่อด้วย พื้นมหาสมุทร (ocean floor) ซึ่งมี เนินเขาใต้สมุทร (abyssal hill) ปรากฏเป็นเนินสูงอยู่บนพื้นทะเล ต่อเมื่อเข้าไปใกล้สันเขาใต้สมุทร (oceanic ridge) จะยิ่งเพิ่มความสูง และความต่างระดับมากขึ้น
ในกรณีของเปลือกโลกภาคพื้นทวีป มักมีแนวเทือกเขาสูงใกล้ชายฝั่งทะเล เช่น เทือกเขาเซียร์ราเนวาดาและเทือกเขาร็อกกี ในทวีปอเมริกาเหนือ ที่วางตัวเกือบขนานกับชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของสหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดา แสดงว่า เป็นบริเวณที่สูงและมีความต่างระดับมาก แต่เมื่อห่างเข้าไปในผืนแผ่นดินของทวีป จะพบว่า พื้นผิวเปลือกโลกมีความราบเรียบและกว้างใหญ่มากขึ้น เป็นบริเวณที่เรียกว่า ลานทวีป (continental platform) หรือที่ราบทวีป (continental plain)