เล่มที่ 33
เปลือกโลกและหิน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ลักษณะทางเคมี

            จากการเก็บตัวอย่างหินตามที่ต่างๆ ของเปลือกโลก ทั้งบนบก และในทะเล มาศึกษา ทำให้นักธรณีวิทยาทราบว่า เปลือกโลกในแต่ละส่วนมีส่วนประกอบที่แตกต่างกันมาก แต่มีธาตุเพียง ๘ อย่างเท่านั้น ที่พบในปริมาณมาก รวมเป็นร้อยละ ๙๘ โดยน้ำหนัก และร้อยละ ๙๙ โดยปริมาตร ดังตารางที่แสดงส่วนประกอบโดยเฉลี่ยของหินเปลือกโลก ทั้งที่เป็นเปลือกโลกภาคพื้นทวีป และเปลือกโลกภาคพื้นสมุทร จะเห็นได้ว่า ธาตุออกซิเจนมีปริมาณมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ซิลิคอน อะลูมิเนียม และเหล็ก เป็นที่น่าสังเกตว่า ออกไซด์ของธาตุซิลิคอนมีปริมาณมาก ทั้งในเปลือกโลกภาคพื้นสมุทร และเปลือกโลกภาคพื้นทวีป แต่เปลือกโลกภาคพื้นทวีปมีปริมาณมากกว่า สำหรับออกไซด์ของธาตุเหล็ก แมกนีเซียม และแคลเซียม มีปริมาณสูง ในเปลือกโลกภาคพื้นสมุทรมากกว่าในเปลือกโลกภาคพื้นทวีป


ที่มา : E.W. Spencer (2003) (ส่วนประกอบนี้ได้จากการศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง)

            ในกรณีของธาตุโลหะสำคัญๆ เช่น ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี นิกเกิล ดีบุก ซึ่งในปัจจุบันมีประโยชน์มากต่ออุตสาหกรรม และเทคโนโลยี แต่ปรากฏว่า แร่ธาตุเหล่านี้ มีปริมาณเพียงเล็กน้อยในเปลือกโลก แต่สาเหตุที่นักธรณีวิทยาสามารถสำรวจ และขุดค้นเอามาใช้ประโยชน์ได้ เนื่องมาจากแร่ธาตุเหล่านี้ มักสะสมตัวกันเป็นแหล่งแร่ (mineral deposit) และมีลักษณะการเกิดเฉพาะที่ (localization) อันเป็นผลมาจาก กระบวนการทางธรณีวิทยา


            การที่เปลือกโลกภาคพื้นทวีปมีองค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญ คือ ธาตุซิลิคอน และธาตุอะลูมิเนียม ทำให้นักธรณีวิทยาส่วนใหญ่ เรียกเปลือกโลกภาคพื้นทวีปว่า ไซอัล (sial) ซึ่งเกิดจากการนำตัวอักษรภาษาอังกฤษ ๒ ตัวแรกของคำ ๒ คำ คือ silicon (ซิลิคอน) และ aluminium (อะลูมิเนียม) รวมกัน ในทำนองเดียวกัน ธาตุที่เด่นมาก สำหรับองค์ประกอบที่สำคัญในเปลือกโลกภาคพื้นสมุทร หากไม่นับธาตุซิลิคอน คือ ธาตุแมกนีเซียม ดังนั้นนักธรณีวิทยาส่วนใหญ่จึงเรียกเปลือกโลกภาคพื้นสมุทรว่า ไซมา (sima) ซึ่งก็เป็นการนำตัวอักษร ๒ ตัวแรกของคำว่า silicon (ซิลิคอน) และคำว่า magnesium (แมกนีเซียม) มารวมกันเช่นเดียวกัน การที่เปลือกโลกภาคพื้นทวีป และเปลือกโลกภาคพื้นสมุทร มีส่วนประกอบทางเคมีที่แตกต่างกัน จึงส่งผลให้เปลือกโลกภาคพื้นสมุทร มีความหนาแน่นมากกว่า แต่มีความหนาน้อยกว่าเปลือกโลกภาคพื้นทวีป