เล่มที่ 25
ซอฟต์แวร์พื้นฐานสำหรับสำนักงาน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ระบบปฏิบัติการ


หน้าจอระบบปฏิบัติการแมคโอเอสที่ใช้
บนเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช

            เครื่องคอมพิวเตอร์ประกอบด้วยตัวเครื่อง คีย์บอร์ด จอภาพ เมาส์ ลำโพง ฯลฯ ส่วนประกอบเหล่านี้ ไม่สามารถทำงานได้เลย หากขาดชุดคำสั่งงาน ที่จะสั่งให้เครื่องทำงาน ชุดคำสั่งงาน ดังกล่าวเรียกว่า "ซอฟต์แวร์"

            ซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่จัดการ และควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้เป็นไปตามที่ผู้ใช้ต้องการ เรียกว่า "ระบบ ปฏิบัติการ" หรือ "Operating System"

            หน้าที่ของระบบปฏิบัติการที่สำคัญ คือ การจัดแบ่งทรัพยากร (Allocation and Assignment) การกำหนดตารางการทำงาน (Scheduling) และการตรวจสอบการทำงาน (Monitoring)

            การจัดแบ่งทรัพยากร หมายถึง ระบบปฏิบัติการจะจัดสรรทรัพยากร ที่เครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องมีอยู่ ให้แก่ระบบการทำงานต่างๆ ในการประมวลผลคำสั่งงาน โดยจัดสรรเนื้อที่ในหน่วยความจำหลักให้แก่ข้อมูล โปรแกรม และควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ ที่ต่ออยู่กับคอมพิวเตอร์ เช่น เครื่องพิมพ์ อุปกรณ์โทรคมนาคมที่ต่อพ่วง เป็นต้น

            การกำหนดตารางการทำงาน หมายถึง ระบบปฏิบัติการ จะเป็นผู้คอยกำหนดลำดับการทำงานให้แก่งานต่างๆ ที่ส่งเข้ามาให้หน่วยประมวลผลกลางของเครื่องคอมพิวเตอร์ ประมวลผลในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ในขณะที่โปรแกรมหนึ่งกำลังทำงาน ระบบปฏิบัติการก็จะเป็นผู้คอยจัดตารางการใช้อุปกรณ์นำข้อมูลเข้า เช่น คีย์บอร์ด และการแสดงผลลัพธ์ เช่น จอภาพ เป็นต้น

            การตรวจสอบการทำงาน หมายถึง ระบบปฏิบัติการ จะเป็นผู้คอยตรวจสอบกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ในระบบ โดยจะเก็บรายการที่แต่ละงานทำอยู่ รายการใช้งานที่กำลังประมวลผลอยู่ และรายการที่กำลังเข้าสู่ระบบ โดยไม่ได้รับอนุญาต

            ระบบปฏิบัติการมีหลายประเภท ซึ่งจะขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องคอมพิวเตอร์ และวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เช่น เมนเฟรม (Mainframe) หรือมินิคอมพิวเตอร์ (Minicomputer) มักจะใช้ระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ เครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชใช้ระบบปฏิบัติการ ดอส (Dos) ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ๙๕ (Windows 95) ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ๙๘ (Windows 98) หรือระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (Linux)

ระบบปฏิบัติการ ดอส


ระบบปฏิบัติการดอส ซึ่งผู้ใช้จะต้องรู้คำสั่งที่ต้องการใช้งานด้วย ในปัจจุบัน ระบบนี้ไม่ได้รับความนิยมแล้ว

            ระบบปฏิบัติการดอส เป็นระบบปฏิบัติการ ที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ระดับไมโครคอมพิวเตอร์ การใช้งานระบบปฏิบัติการดอสนั้น ผู้ใช้ต้องพิมพ์คำสั่งลงไป เช่น ถ้าต้องการดูรายชื่อแฟ้มข้อมูลที่จัดเก็บอยู่บนฮาร์ดดิสก์ของเครื่องผู้ใช้ ก็ต้องพิมพ์คำสั่งในการดูชื่อแฟ้มข้อมูลลงไป ระบบปฏิบัติการจึงจะทำงานในแต่ละคำสั่งนั้น

            คำสั่งของระบบปฏิบัติการดอสแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ คำสั่งภายใน (internal command) และคำสั่งภายนอก (external command)

            คำสั่งภายใน คือ คำสั่งที่สามารถเรียกใช้งานได้ทันที เนื่องจากคำสั่งจะถูกเก็บไว้ในหน่วยความจำสำรอง ตั้งแต่เมื่อเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมา ส่วนใหญ่เป็นคำสั่งที่เรียกใช้งานบ่อยๆ ตัวอย่างเช่น คำสั่งดูรายชื่อแฟ้มข้อมูล "dir" คำสั่งลบแฟ้มข้อมูล "del ตามด้วยชื่อแฟ้มข้อมูล" เป็นต้น
            
            คำสั่งภายนอก คือ คำสั่งที่เรียกโปรแกรมที่เก็บไว้มาทำงาน เนื่องจากโปรแกรมเหล่านี้ ไม่มีการใช้งานบ่อยเหมือนกับคำสั่งภายใน โดยโปรแกรมที่เรียกทำงานได้ จะต้องเป็นโปรแกรมที่มีส่วนขยายเป็น com exe และ bat เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีลำดับการทำงานอีกด้วย กล่าวคือ โปรแกรมที่มีชื่อเดียวกับระบบปฏิบัติการดอสจะประมวลผลโปรแกรมที่มีส่วนขยายเป็น com ก่อน ถ้าไม่มี จึงจะประมวลผลโปรแกรมที่มีส่วนขยายเป็น exe และถ้าไม่มีทั้งสองส่วนขยายข้องต้น จึงจะประมวลผลโปรแกรมที่มีส่วนขยายเป็น bat

            ข้อจำกัดของระบบปฏิบัติการดอสมีหลายประการ คือ ระบบปฏิบัติการดอสไม่สามารถทำงานแบบหลายๆ งานพร้อมกันได้ และจำกัดเนื้อที่หน่วยความจำเพียง ๖๔๐ กิโลไบต์

            นอกจากนี้ การใช้งานระบบปฏิบัติการดอส ผู้ใช้จะต้องจำคำสั่งต่างๆ ในการใช้งานจำนวนมาก เพื่อเรียกใช้โปรแกรมเพียง ๑ โปรแกรม ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่า การใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์มีความยุ่งยาก ระบบปฏิบัติการดอสจึงไม่เป็นที่นิยมใช้กันแล้วในปัจจุบันนี้ ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาโปรแกรม โดยออกแบบส่วนติดต่อกับผู้ใช้ที่ใช้รูปภาพแทนคำสั่งขึ้นมา ที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า "โปรแกรม วินโดวส์"

โปรแกรม วินโดวส์

            โปรแกรมวินโดวส์ยังไม่จัดว่า เป็นระบบปฏิบัติการ เพราะโปรแกรมวินโดวส์จะทำงานได้นั้นจำเป็นต้องมีระบบปฏิบัติการดอสมารองรับก่อนนั่น เอง แต่การใช้ซอฟต์แวร์บนโปรแกรมวินโดวส์ เน้นการใช้งานที่เข้าใจง่ายผู้ใช้เรียนรู้การใช้งานได้รวดเร็ว เนื่องจากโปรแกรมได้ถูกออกแบบ ให้มีส่วนติดต่อกับผู้ใช้ (Graphical User Interface) โดยใช้สัญรูปหรือที่เรียกว่า ไอคอน (Icon) เพื่อให้แสดงระบบงานต่างๆ ที่ประมวลผลบนโปรแกรมวินโดวส์นี้ ผู้ใช้สามารถสั่งงานโดยใช้เมาส์มากดที่สัญรูปเหล่านั้น ก็จะสามารถเข้าสู่โปรแกรมได้ โดยไม่จำเป็นต้องจำคำสั่งเรียก ใช้งานระบบปฏิบัติการดอสเหมือนแต่ก่อน

โปรแกรมในแฟ้ม Main ของวินโดวส์ ซึ่งแต่ละโปรแกรมจะแสดงด้วยสัญรูป (Icon)

            การทำงานของโปรแกรมวินโดวส์สามารถใช้งานหลาย โปรแกรมได้ในเวลาเดียวกัน โดยทุกโปรแกรมที่เรียกใช้งาน จะมีการเปิดหน้าต่างของตัวเอง เพื่อทำงานขึ้นมา ๑ หน้าต่าง เพื่อความสะดวกในการใช้งานแต่ละโปรแกรม และสามารถนำโปรแกรมเดิมที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการดอส มาใช้งานบนโปรแกรมวินโดวส์ได้


ตัวอย่างโปรแกรม Write


ตัวอย่างโปรแกรม Calculator

ส่วนประกอบของโปรแกรมวินโดวส์มีดังนี้

  • คอนโทรลเมนูบ็อกซ์ (Control Menu Box) วางอยู่บนมุมซ้ายของหน้าจอ คอนโทรลเมนูบ็อกซ์ใช้เป็นคำสั่งในการ ย้ายหน้าต่าง การย่อ หรือขยายหน้าต่าง 
  • ไตเติลบาร์ (Title Bar) อยู่แถบบน ใช้ แสดงชื่อของโปรแกรมที่กำลังทำงานอยู่ 
  • สกรอลล์บาร์ (Scroll Bar) วางอยู่ด้าน ข้างและด้านล่างของหน้าจอ ใช้ในการ เลื่อนดูส่วนอื่นของโปรแกรมที่มีอยู่ในวินโดวส์
            วินโดวส์เป็นโปรแกรมที่ได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถสั่งงานได้ ทั้งทางแป้นพิมพ์และเมาส์ แต่การใช้งานด้วยเมาส์บนวินโดวส์ จะง่ายกว่าการใช้แป้นพิมพ์ และยังช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงโปรแกรมต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วด้วย ดังนั้น การสั่งงานบนวินโดวส์สามารถทำได้หลายวิธี คือ สั่งงานผ่านบนเมนู สั่งงานผ่านสัญรูป หรือใช้คีย์ลัด

ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ (Linux)


ตัวอย่างซอฟต์แวร์พื้นฐาน สำหรับสำนักงานที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการลินุกซ์


การทำงานรูปแบบกราฟิกบนระบบปฏิบัติการลินุกซ์

            ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์เป็นระบบปฏิบัติการแบบ ๓๒ บิต ที่พัฒนาขึ้นมาให้คล้ายระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ แต่สามารถทำงานได้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล กล่าวคือ สามารถใช้งานได้พร้อมกันหลายๆ คน และผู้ใช้แต่ละคนทำงานได้หลายๆ งานพร้อมกัน รวมทั้งมีความสามารถในการทำงานทั้งในรูปแบบเท็กซ์ (text) และกราฟิก

            ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ที่แท้จริงนั้น มีเพียงตัวแกนกลางของระบบ (Kernel) เท่านั้น ที่เป็นตัวควบคุมการทำงาน และจัดสรรทรัพยากรในระบบ เช่น หน่วยประมวลผลกลาง หน่วยความจำ การจัดการไฟล์และอุปกรณ์ เป็นต้น แต่เรามักจะเรียกโปรแกรมประยุกต์เพิ่มเติมอื่นๆ ที่เข้ามารวมอยู่ทั้งหมดว่า ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมประยุกต์ที่สามารถใช้งานเพิ่มเติมบนระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ได้ เช่น โปรแกรมสำหรับงานธุรกิจ ซึ่งสามารถทำงานได้ตั้งแต่ตารางคำนวณ โปรแกรมประมวลผลคำ ฐานข้อมูล โปรแกรมนำเสนอข้อมูล เช่นเดียวกับโปรแกรมบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์

            จุดเด่นของระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ คือ ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์เป็นโปรแกรมที่พัฒนาภายใต้กรอบกติกาที่เรียกว่า General Public License หรือเรียกย่อว่า GPL กล่าวคือ ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ จะเปิดเผยซอร์สโค้ด (Source Code) สำหรับผู้ที่ต้องการจะนำไปพัฒนาต่อ แต่ผู้ที่นำไปพัฒนาต่อแล้วนั้น จะต้องเปิดเผยซอร์สโค๊ด เพื่อให้ผู้อื่นนำไปใช้งานได้ต่อไปอีกด้วย ลีนุกซ์จึงเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้งานได้ฟรี สามารถทำงานได้รวดเร็ว แม้ว่าจะทำงานได้หลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เพราะระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ได้รับการออกแบบ ให้ใช้งานอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ทุกอย่างของเครื่องอย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการหน่วยความจำเสมือน (Virtual Memory) การจัดการทำงานแบบหลายๆ งานพร้อมๆ กัน (Multitasking) การใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการดอส และระบบปฏิบัติการวินโดวส์ และความสามารถในการใช้แฟ้มข้อมูลร่วมกับระบบปฏิบัติการอื่นๆ ได้

            ความต้องการทรัพยากรของระบบขั้นต่ำที่ ลินุกซ์สามารถทำได้คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนบุคคลที่มีหน่วยประมวลผลกลาง รุ่น ๘๐๓๘๖/ sx หน่วยความจำ ๔ เมกะไบต์ ฟล็อปปีดิสก์ ขนาด ๑.๔๔ หรือ ๑.๒ เมกะไบต์ จอภาพแบบ โมโนโครม ฮาร์ดดิสก์อย่างน้อย ๕๐๐ เมกะไบต์ แต่ถ้าต้องการเล่นกราฟิกโดยใช้ X Window ควรมีหน่วยความจำตั้งแต่ ๘-๑๖ เมกะไบต์ขึ้นไป

            นับตั้งแต่โปรแกรมวินโดวส์ ๓.๑๑ ที่ต่อมาได้พัฒนาเพิ่มเติมเป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ๙๕ จนถึงระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ๙๘ และรุ่นล่าสุดคือ ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ๒๐๐๐ ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ถือได้ว่า เป็นระบบของคนรุ่นใหม่ ที่พัฒนาขึ้นมา โดยศึกษาในยุคอินเทอร์เน็ต มีการเผยแพร่ และเติบโตผ่านทางอินเทอร์เน็ต มาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในปัจจุบัน