เล่มที่ 30
ปราสาทขอมในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘

            ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งตรงกับศิลปะขอมแบบบายน กษัตริย์ขอมที่มีพระราชอำนาจมากคือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔ - ๑๗๖๒) ซึ่งทรงเป็นผู้กอบกู้เอกราชอาณาจักรขอมจากชนชาติจามและได้สถาปนาเมือง นครธมขึ้นเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ ได้เปลี่ยนศาสนาจากเดิมที่เป็นศาสนาฮินดู มาเป็นพระพุทธศาสนานิกายมหายาน และได้สร้างศาสนสถานเป็นจำนวนมากเพื่อแสดงให้เห็นถึงพระราชอำนาจของพระองค์ ทั้งทางการเมืองและการพระศาสนา

            จากหลักฐานทางศิลปกรรมแสดงให้เห็นว่า ศิลปะแบบบายน ซึ่งเป็นศิลปะรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นได้แพร่กระจายอยู่ทั่วไป ในดินแดนไทย ทั้งอีสานเหนือและอีสานใต้ รวมทั้งในภาคกลางซึ่งลงไปใต้สุด ได้แก่ ปราสาทวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรีส่วนตะวันตกสุด ได้แก่ ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี และเหนือสุดที่ปราสาทวัดเจ้าจันทร์ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

            จากหลักฐานทางด้านศิลปะขอมแบบบายนที่พบในดินแดนภาคกลางของประเทศไทยดัง กล่าว สอดคล้องกับชื่อเมืองที่ปรากฏในจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ที่ปราสาทพระขรรค์ ซึ่งกล่าวถึงการสร้างอโรคยศาลา (โรงพยาบาล) และธรรมศาลา (ที่พักคนเดินทาง) จำนวน ๑๐๐ กว่าแห่งตามเส้นทางเดินจากเมืองนครธมไปยังศาสนสถานต่างๆ พระองค์ได้พระราชทานพระชัยพุทธมหานาถ ไปประดิษฐานตามเมืองต่างๆ ๒๓ แห่งและปรากฏชื่อเมือง ๖ แห่งที่สันนิษฐานว่า อยู่ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย คือ ลโวทยะปุระ(ลพบุรี) ศรีชัยวัชรปุรี (เพชรบุรี) ชยราชปุรี (ราชบุรี) ศัมพูกะปัฏฏนะ (ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นเมืองโบราณโกสินารายณ์จังหวัดราชบุรี) สุวรรณปุระ (สุพรรณบุรี) และศรีชัยสิงหปุรี (เมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี)ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า นอกเหนือจากอิทธิพลทางศิลปกรรมแล้ว อาจมีอิทธิพลทางการเมือง ของพระเจ้าชัยวรมันที่๗ แผ่มายังบริเวณภาคกลางของประเทศไทยอีกด้วย


ปราสาทวัดเจ้าจันทร์ เมืองศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย 

            ได้พบหลักฐานปราสาทสำคัญที่จัดเป็นศิลปะแบบบายนอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็น ศาสนสถานขนาดใหญ่ และเป็นโบราณสถานขนาดเล็ก ในรูปของอโรคยศาลา และธรรมศาลา ตามเส้นทางเดินจากเมืองพระนครมายังเมืองพิมาย และพนมรุ้ง บางแห่งก็เป็นปราสาทที่สร้างเพิ่มเติม ในบริเวณที่เคยเป็นปราสาทอยู่ก่อนแล้ว เช่น ปรางค์พรหมทัต และปราสาทหินแดงในบริเวณปราสาทหินพิมาย ปราสาทสำคัญๆ ที่จัดเป็นศิลปะแบบบายน ได้แก่ ปราสาทโคกปราสาท อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทตาเมือนโต๊จ อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทเขาโล้น อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โบราณสถานเมืองศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ส่วนในภาคกลาง ได้แก่ พระปรางค์สามยอด อำเภอเมืองฯ จังหวัดลพบุรี วัดพระศรีมหาธาตุ อำเภอเมืองฯ จังหวัดราชบุรี (เหลือหลักฐานเฉพาะกำแพงวัด) ปราสาทวัดกำแพงแลง อำเภอเมืองฯ จังหวัดเพชรบุรี ปราสาทเมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ศาลตาผาแดงปราสาทวัดพระพายหลวง ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และปราสาทวัดเจ้าจันทร์ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

            ลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของศิลปะแบบบายนมีข้อสังเกตที่สำคัญคือ ส่วนใหญ่เป็นปราสาทที่ก่อด้วยศิลาแลงฉาบ ปูน และปั้นปูนประดับภายนอก ในสมัยนี้มีวิธีการก่อสร้างไม่ดีนัก ทำให้ตัวปราสาทพังทลายได้ง่าย ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาเรื่องวัสดุ และการเร่งรีบสร้าง ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โดยมีพระประสงค์ ที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาและแสดงอำนาจทางการเมือง

            จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่พบตามแหล่งโบราณสถานศิลปะแบบบายนจัดเป็นพุทธ สถานนิกายมหายาน โดยเฉพาะรูปแบบของปราสาท ๓ หลัง ที่สร้างอยู่บนฐานเดียวกัน ซึ่งพบอยู่หลายแห่ง เช่น พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี ปราสาทวัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย สอดคล้องกับคติรัตนตรัยมหายานที่นิยมการบูชารูปเคารพ  ๓  องค์ คือ พระพุทธรูปนาคปรกอยู่ตรงกลาง ด้านขวาของพระพุทธรูปคือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และด้านซ้ายคือ นางปรัชญาปารมิตา งานประติมากรรมที่พบโดยทั่วไปในสมัยนี้ ได้แก่ พระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี นางปรัชญาปารมิตา และรูปเคารพในพระพุทธศาสนานิกายมหายานอื่นๆ รวมทั้งเครื่องประดับสถาปัตยกรรม และเครื่องใช้สอยอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

ปราสาทขอมในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ที่ปรากฏในภาคกลางของประเทศไทย ได้แก่

๑. พระปรางค์สามยอด เมืองลพบุรี

            พระปรางค์สามยอดควรจะเรียกเป็นปราสาทมากกว่าพระปรางค์ แต่ที่เรียกเป็นพระปรางค์เนื่องจากศาสนสถานแห่งนี้ ได้รับการดัดแปลงให้เป็นวัด ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงเรียกชื่อตามสถาปัตยกรรมไทยที่นิยมกันการเรียกชื่อปรางค์แขกในจังหวัดลพบุรีก็ เนื่องด้วยเหตุผลนี้เช่นกัน

            พระปรางค์สามยอดเป็นศาสนสถานที่ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูนและประดับด้วยลาย ปูนปั้น ประกอบด้วยตัวปราสาท ๓ หลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันโดยมีลักษณะพิเศษกว่าปราสาท ๓ หลังอื่นๆ คือ มีฉนวนเชื่อมต่อกันเรียกว่า มุขกระสัน อันเป็นลักษณะที่ปรากฏในศิลปะแบบบายน ตัวปราสาทประกอบด้วยฐานบัวซ้อนกัน  ๒ ฐาน รองรับส่วนของเรือนธาตุที่มีมุขยื่นออกมาทั้ง ๔ ด้าน โดยมีมุขกระสันเชื่อมต่อเข้าด้วยกันส่วนยอดเป็นหลังคาทรงปราสาทแบบเรือนชั้น มีชั้นบัวเชิงบาตร ๒ ชั้นชั้นหลังคาแต่ละชั้นประดับด้วยบันแถลง ตามแบบปราสาทขอมโดยทั่วไป ส่วนยอดเป็นกลศที่มีรูปแบบคล้ายหม้อน้ำเทพมนตร์

            จากรูปแบบของปราสาทและลวดลายประดับสามารถจัดเป็นศิลปะขอมแบบบายน โดยมีลักษณะบางอย่าง เช่น การทำชั้นบัวเชิงบาตร ๒ชั้น ยอดปราสาทสอบเข้าและสูงขึ้น รวมทั้งลวดลายปูนปั้นบางลาย แสดงให้เห็นฝีมือช่างท้องถิ่นปนอยู่ด้วยลักษณะเฉพาะของงานศิลปกรรมบางอย่างที่เกิด ขึ้นที่นี่ ทำให้นักวิชาการกำหนดเรียกชื่อศิลปะแบบนี้ว่า "ศิลปะ ลพบุรี"


พระปรางค์สามยอด อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี ศิลปะขอมแบบบายน (พุทธศตวรรษที่ ๑๘) เป็นต้นแบบให้แก่เจดีย์ทรงปรางค์ของไทยในระยะเวลาต่อมา


ทับหลังกำแพงประดับพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว วัดมหาธาตุ จ.ราชบุรี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร

            พระปรางค์สามยอดจัดเป็นศาสนสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะขอมแบบบายน ที่ปรากฏในภาคกลางของประเทศไทย ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และเมืองลพบุรีน่าจะมีความสำคัญ ในฐานะศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองของเขมรในภาคกลางในช่วงระยะเวลานี้ รูปแบบของพระปรางค์สามยอดนี้ ได้เป็นต้นแบบให้แก่เจดีย์ทรงปรางค์ของไทยในระยะเวลาต่อมา เช่น พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี พระปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนต้น

๒. ปราสาทวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี

            ศาสนสถานแห่งนี้ประกอบด้วยปราสาทประธาน ๓ หลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ด้านหน้ามีอาคารทรงปราสาท ที่มีทางเดินทะลุถึงกันได้ ซึ่งน่าจะหมายถึง โคปุระ และมีปราสาทอีก ๒ หลัง ตั้งอยู่ด้านหลังปราสาทประธาน ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงของศาสนสถาน อาคารทั้งหมดก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูนและปั้นปูนประดับ แต่ลวดลายส่วนใหญ่ได้ชำรุดสูญหายไปตามกาลเวลา จากรูปแบบของปราสาทที่ก่อด้วยศิลาแลง มีปราสาทประธาน ๓ หลัง จึงน่าจะมีคติการสร้างแบบรัตนตรัยมหายาน ในศิลปะขอมแบบบายน ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ รวมทั้งมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งที่นิยมในช่วงระยะเวลานี้คือ การเจาะช่องหน้าต่างที่สลักลูกกรงลูกมะหวดเพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งปิดทึบ หมายถึง ส่วนของผ้าม่านที่ปิดช่องหน้าต่างเป็นการเลียนแบบของจริง

๓. วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี

            ศาสนสถานแห่งนี้เป็นอีกแห่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะขอม แบบบายนในภาคกลางของประเทศไทย แต่หลักฐานที่เหลืออยู่มีเพียงกำแพงวัดเท่านั้นที่ปรากฏอิทธิพลศิลปะขอม แบบบายน คือ ก่อด้วยศิลาแลง และบนสันของกำแพง ประดับด้วยแนวพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งพระพุทธรูปดังกล่าวจะมีวัตถุเล็กๆ อยู่ในพระหัตถ์ มักตีความว่า เป็นหม้อยา จึงเรียกว่า พระไภษัชยคุรุ ลักษณะการประดับพระพุทธรูปเป็นแนวบนกำแพงเช่นนี้ เป็นรูปแบบของปราสาทศิลปะแบบบายน ทั้งในประเทศกัมพูชา เช่น ที่ปราสาทตาพรม และปราสาทพระขรรค์ และในประเทศไทยในสมัยเดียวกัน ส่วนของปราสาทประธานหลังเดิม ถ้ามีอาจพังทลายไป หรือบูรณะขึ้นใหม่ในภายหลัง เพราะที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนต้นแล้ว

๔. ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี

            ศาสนสถานแห่งนี้จัดเป็นปราสาทขอมที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะแบบ บายนในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่แผ่มาถึงตะวันตกสุดของประเทศไทย และสันนิษฐานว่า เป็นเมืองหนึ่งที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์คือ "ศรีชัยสิงหปุรี"

            ปราสาทเมืองสิงห์ก่อด้วยศิลาแลง เคยพังทลายอย่างมาก ก่อนที่จะได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในปัจจุบัน ประกอบด้วยปราสาทประธานหลังเดียว ล้อมรอบด้วยระเบียงคด และมีโคปุระทั้ง ๔ ด้าน หลักฐานสำคัญที่กำหนดว่า ปราสาทแห่งนี้มีอิทธิพลของศิลปะขอมแบบบายนคือ การพบรูปเคารพ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานิกายมหายานจำนวนมาก โดยเฉพาะพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี และนางปรัชญาปารมิตา ที่มีลักษณะรูปแบบเช่นเดียวกับที่พบในประเทศกัมพูชาและแหล่งอื่นๆ ในประเทศไทยในสมัยเดียวกัน

๕. ปราสาทวัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย

            วัดพระพายหลวงมีปราสาท ๓ หลังอยู่บนฐานเดียวกัน ปัจจุบันเหลือเพียงหลังเดียวด้านทิศเหนือ รูปแบบปราสาทและคติการสร้างมีความสัมพันธ์กับพระปรางค์สามยอดที่เมือง ลพบุรี ซึ่งเกี่ยวข้องกับคติของรัตนตรัยมหายานดังกล่าวแล้ว แสดงให้เห็นถึงร่องรอยศิลปะขอมแบบบายนในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ก่อนที่จะเข้าสู่สมัยสุโขทัย นอกจากนี้ยังได้พบปราสาทหลังอื่นอีกได้แก่ ศาลตาผาแดง ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และปราสาทวัดเจ้าจันทร์ อำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะขอมแบบ บายนที่ขึ้นไปเหนือสุด ณ ที่แห่งนั้น