การสืบทอด ของปราสาทขอมในศิลปะไทย
หลังความรุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แล้ว อาณาจักรขอมก็เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว สันนิษฐานว่าโดยส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นั้น มีการเกณฑ์แรงงาน และการอุทิศถวาย เพื่อการพระศาสนาจนทำให้ประชาชนเกิดความเหนื่อยล้า และอาณาจักรเสื่อมลงในที่สุด หลังจากนั้นกษัตริย์ขอมในรัชกาลต่อมา ก็ได้ทรงปรับเปลี่ยนศาสนามาเป็นศาสนาฮินดูอีกครั้งหนึ่ง จากการที่อำนาจของเขมรเสื่อมลงนี้เอง ทำให้กลุ่มชนที่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของเขมร เริ่มสถาปนาเป็นอาณาจักรได้แก่ อาณาจักรสุโขทัย (ประมาณ พ.ศ. ๑๗๙๒) และอาณาจักรอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓) ต่อมา เมื่ออยุธยามีอำนาจมากขึ้น จึงเข้าไปยึดครองอาณาจักรเขมรและได้ปกครองระยะเวลาหนึ่ง
พัฒนาการของปราสาทขอมในประเทศไทยที่สำคัญคือ การปรับเปลี่ยนตัวปราสาทขอม อันเนื่องในศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ทั้งทางด้านรูปแบบ และคติการใช้งานมาเป็น "พระ ปรางค์" ซึ่งมักใช้ในความหมายของเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งเป็นตัวแทน ของพระพุทธเจ้า โดยการเพิ่มชั้นฐานให้สูงขึ้น และชั้นหลังคาเป็นทรงสูงมากขึ้น จนทำให้มีลักษณะคล้ายฝักข้าวโพดบางทีจึงเรียกว่า ปรางค์ทรงฝักข้าวโพด
งานสืบทอดปราสาทขอมในสมัยแรก ได้แก่ พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรีเมื่อพิจารณาจากรูปแบบแผนผัง องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และลวดลายประดับ นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าเป็นงานที่สร้างขึ้นภายหลังจากที่ขอม หมดอำนาจไปแล้ว และสร้างขึ้นก่อนการสถาปนาอาณาจักรอยุธยาประมาณ ๑๐๐ ปี ดังนั้นพระปรางค์แห่งนี้ จึงมีอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และถือเป็นปรางค์ต้นแบบให้แก่สมัยอยุธยาตอนต้น
พระปรางค์วัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๙๖๗
มีการเพิ่มชั้นฐานให้สูงขึ้น ส่วนชั้นหลังคาเป็นทางสูงมากขึ้นและมีรูปร่างลักษณะคล้ายฝักข้าวโพด
เจดีย์ทรงปรางค์ที่ได้พัฒนามาจากปราสาทขอมนั้น ถือเป็นรูปแบบเฉพาะที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น และมักปรากฏในวัดสำคัญๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น วัดมหาธาตุ วัดพุทไธสวรรย์ วัดพระราม วัดราชบูรณะ ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนกลาง การสร้างปรางค์เริ่มลดน้อยลง เนื่องจากกระแสอิทธิพลศิลปะสุโขทัยเข้ามามีบทบาทอย่างมาก เจดีย์สำคัญในสมัยนี้ จึงนิยมสร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆังเป็นส่วนใหญ่
เจดีย์ทรงปรางค์ได้กลับมานิยมอีกครั้งหนึ่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่น ที่วัดไชยวัฒนาราม ซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นซึ่งนิยมสร้าง เจดีย์ทรงปรางค์อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๓ พบว่า มีการสร้างปรางค์เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือ พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม พระปรางค์ในรัชกาลที่ ๓ นี้ มีพัฒนาการไปไกลจากรูปแบบดั้งเดิมของขอม และสมัยอยุธยาตอนต้นอย่างมาก กล่าวคือ พระปรางค์มีทรงสูงชะลูดมากขึ้นจนมีลักษณะเป็นแท่ง มีการเพิ่มมุมและชั้นฐานมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มจำนวนชั้นหลังคามากขึ้นด้วย
การสร้างเจดีย์ทรงปรางค์นี้คงหมดไปภายหลังรัชกาลที่ ๓ เพราะในรัชกาลที่ ๔ ได้มีพระราชนิยมสร้างเจดีย์ทรงระฆังขึ้นแทน