เล่มที่ 25
โครงข่ายประสาทเทียม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สถาปัตยกรรมโครงข่ายประสาทเทียม

            การเชื่อมโยงเซลล์ประสาทเทียมจำนวนหนึ่งเข้าด้วยกัน เป็นโครงข่ายประสาทเทียมนั้น สามารถเชื่อมโยงแบบใดก็ได้ อย่างไม่ขอบเขตจำกัด อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว เทคนิคการเรียนรู้ของโครงข่ายประสาทเทียม มักจะถูกออกแบบมา ให้ใช้งานได้กับสถาปัตยกรรมโครงข่ายประสาทเทียม ที่มีลักษณะเฉพาะเท่านั้น สถาปัตยกรรมโครงข่ายประสาทเทียมที่พบทั่วไปจะมีลักษณะหลักๆ คือ มีการจัดเซลล์ประสาทเทียมเป็นชั้นๆ (layer) ชั้นที่รับข้อมูลเข้าเรียกว่า ชั้นอินพุท (input layer) ชั้นที่ผลิตผลตอบของโครงข่ายเรียกว่า ชั้นเอาท์พุท (output layer) ส่วนชั้นอื่นๆ ที่มีส่วนในการช่วยทำการประมวลผลอยู่ภายในเรียกว่า ชั้นซ่อน (hidden layer) ในโครงข่ายประสาทเทียมอาจมีชั้นซ่อนได้หลายชั้นโครงสร้างพื้นฐานจะมีลักษณะเป็นการประกอบกันของรูปแบบ ดังต่อไปนี้


แบบป้อนไปข้างหน้า (feedforward)

            อาจจัดได้เป็นสองแบบย่อยคือ แบบมีชั้นของเซลล์ประสาทชั้นเดียว และแบบมีชั้นของเซลล์ประสาทหลายชั้น โดยปกติแล้ว การเชื่อมโยงจะถูกกำหนดขึ้น ระหว่างชั้นที่ติดกัน โดยจะมีการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทเทียมทุกตัว จากชั้นหนึ่งๆ ไปยังเซลล์ประสาทเทียมทุกตัว ในชั้นต่อไป ในบางสถาปัตยกรรมอาจมีการเชื่อมโยงข้ามชั้นก็ได้

แบบมีการป้อนไปเวียนกลับ (recurrent)

            ในสถาปัตยกรรมบางแบบ โครงข่ายประสาทเทียมอาจมีการเชื่อมโยง ที่ถูกำหนดขึ้น ระหว่างเซลล์ประสาทเทียมในชั้นหนึ่งๆ ย้อนกลับไปยังชั้นอื่นๆ ก่อนหน้านั้น หรือแม้แต่ภายในชั้นเดียวกันเอง