ความ หมาย ที่มา และคติการสร้างพระพุทธรูป
พระพุทธรูป หรือ “พระ พุทธปฏิมา” ตามภาษาบาลี หมายถึง พระรูปที่ใช้แทนองค์พระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระศาสดาในพระพุทธศาสนา

พระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ศิลปะอินเดีย สมัยคันธารราฐ พุทธศตวรรษที่ ๗
มูลเหตุที่เกิดการสร้างพระพุทธรูปขึ้น นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง “ตำนาน พระพุทธเจดีย์” ประทานความเห็นว่า การสร้างพระพุทธรูปนั้น ปรากฏอยู่ในตำนานพระแก่นจันทน์ ซึ่งได้กล่าวถึงพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปเทศนา โปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และทรงค้างอยู่ที่ดาวดึงส์สวรรค์นั้น ๑ พรรษา พระเจ้าปเสนทิแห่งกรุงโกศลเมื่อมิได้เห็นพระพุทธองค์มาช้านาน ก็มีความรำลึกถึง จึงทรงรับสั่งให้ช่างทำพระพุทธรูปด้วยไม้แก่นจันทน์แดงขึ้น ประดิษฐานไว้เหนืออาสนะที่พระพุทธองค์เคยประทับ ครั้นเมื่อพระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์มาถึงที่ประทับ พระแก่นจันทน์ลุกขึ้นปฏิสันถารกับพระพุทธองค์ด้วยปาฏิหาริย์ แต่พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้พระแก่นจันทน์กลับไปยังที่ประทับ เพื่อรักษาไว้เป็นตัวอย่างพระพุทธรูป ซึ่งสาธุชนจะได้ใช้เป็นแบบอย่างสร้างพระพุทธรูป เมื่อพระพุทธองค์ทรงล่วงลับไปแล้ว ความที่กล่าวไว้ในตำนานประสงค์ที่จะอ้างว่า พระพุทธรูปแก่นจันทน์องค์นั้น เป็นแบบอย่างของพระพุทธรูป ซึ่งสร้างกันต่อมาภายหลัง หรืออีกนัยหนึ่งคือ อ้างว่า พระพุทธรูปมีขึ้น โดยพระบรมพุทธานุญาต และเหมือนพระพุทธองค์ เพราะตัวอย่างสร้างขึ้นตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวนี้เป็นเพียงตำนานที่น่าจะเขียนขึ้นภายหลัง เมื่อมีการสร้างพระพุทธรูปกันแพร่หลายแล้ว

พระพุทธรูปปางทรงแสดงธรรม ศิลปะอินเดีย สมัยคันธารราฐ พุทธศตวรรษที่ ๗
จากหลักฐานทางศิลปกรรม การสร้างรูปเคารพของพระพุทธเจ้าที่เป็นรูปมนุษย์ ปรากฏเป็นครั้งแรกในศิลปะอินเดีย สมัยคันธารราฐ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖ - ๗ หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จสู่ปรินิพพานแล้วประมาณ ๗๐๐ ปี โดยปรากฏหลักฐานว่า ในอินเดียโบราณสมัยก่อนหน้านั้น ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓ - ๖ ในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ยังไม่มีการสร้างรูปเคารพของพระพุทธเจ้าในรูปที่เป็นมนุษย์ แต่จะใช้รูปที่เป็นสัญลักษณ์แทน โดยเฉพาะพุทธประวัติที่ปรากฏอยู่ตามศาสนสถาน เช่น ที่สถูปสาญจีและตามเจติยสถานต่างๆ หากเป็นรูปตอนประสูติจะแสดงด้วยรูปพระนางสิริมหามายาทรงยืนเหนี่ยว กิ่งไม้ รูปตอนตรัสรู้แสดงด้วยต้นโพธิ์ และบัลลังก์ และรูปตอนปฐมเทศนาแสดงด้วยธรรมจักรกับกวางหมอบ แสดงให้เห็นว่า ยังไม่มีประเพณีการสร้างพระพุทธรูป หรืออาจยังเป็นข้อห้ามอยู่
หลักฐานการสร้างพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดียปรากฏขึ้นราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๗ โดยเกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์กุษาณะ ที่แคว้นคันธารราฐ ราวๆ พ.ศ. ๖๖๓ - ๗๐๕ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรมาซิโดเนียทางตอนเหนือของประเทศกรีซ ได้สร้างจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ ครอบคลุมคาบสมุทรบอลข่าน อียิปต์ ตุรกี และเปอร์เซีย จนมาถึงดินแดนภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ที่แคว้นคันธารราฐ ในพุทธศตวรรษที่ ๓ คติการสร้างรูปเคารพเป็นพระพุทธรูปจึงน่าจะได้แรงบันดาลใจจากอิทธิพล ของชาวกรีก ที่แพร่หลายตั้งแต่ในครั้งนั้น และนำเอาคติ ความเชื่อต่างๆ เข้ามาผสมผสานกับความเชื่อเดิมของชาวพื้นเมือง ส่งผลให้นำความนิยม ในการสร้างรูปเคารพเทพเจ้าของชาวกรีกมา สร้างเป็นพระพุทธรูปขึ้น ดังนั้น พระพุทธรูป สมัยคันธารราฐ ซึ่งเป็นสมัยแรกสุดที่มีการสร้างพระพุทธรูป จึงมีลักษณะเป็นแบบชาวกรีกค่อนข้างมาก ทั้งรูปร่าง หน้าตา และลักษณะการครองจีวร
การสร้างพระพุทธรูปไม่ใช่การสร้างรูปเหมือนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นสัญลักษณ์ แทนพระพุทธองค์ ดังนั้น ลักษณะของพระพุทธรูปในแต่ละสกุลช่าง และแต่ละสมัยจึงแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพระพุทธรูปจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ในการสร้างพระพุทธรูป จะมีสัญลักษณ์สำคัญ ที่บ่งบอกว่า รูปนั้นเป็นพระพุทธองค์ เรียกว่า มหาปุริสลักษณะ หรือลักษณะของมหาบุรุษรวม ๓๒ ประการ เช่น มีขนระหว่างคิ้ว เรียกว่า อุณาโลม มีส่วนบนของศีรษะนูนสูงขึ้นคล้ายสวมมงกุฎ เรียกว่า อุณหิส หรือ อุษณีษะ หรือพระเกตุมาลา นอกจากนี้ ยังมีพระรัศมีที่เปล่งออกมาจากพระเศียรของ พระพุทธรูป ทำเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม หรือชูสูงขึ้นคล้ายเปลวไฟ