การ กระจายตัวของสวนพฤกษศาสตร์
๑. กำเนิดของสวนพฤกษศาสตร์ระยะแรกในทวีปยุโรป
ในทวีปยุโรป สวนพฤกษศาสตร์ในระยะแรกๆ เริ่มมีขึ้น เนื่องจากความต้องการในการปลูกพืชสมุนไพร เพื่อใช้ฝึกอบรมนักศึกษาแพทย์ และเพื่อผลิตยารักษาโรค เช่น สวนสมุนไพร Giardino de Semplici ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลีซึ่งสังกัดอยู่ในคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เกิดขึ้นตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ และปัจจุบันยังคงใช้ชื่อนี้อยู่ประเทศอิตาลีได้ชื่อว่า เป็นแหล่งกำเนิดของสวนพฤกษศาสตร์ในระยะแรกๆ ของทวีปยุโรป ที่เก่าแก่ที่สุด คือ สวนพฤกษศาสตร์เมืองปิซา สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๐๘๖ ตามมาด้วยสวนพฤกษศาสตร์เมืองปาดัว สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๘ สวนพฤกษศาสตร์เมืองฟลอเรนซ์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๘และสวนพฤกษศาสตร์เมืองโบโลนญา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๐ จากนั้นก็เป็นสวนพฤกษศาสตร์ในประเทศอื่นๆ ได้แก่ สวนพฤกษศาสตร์เมืองซูริกประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๓ สวนพฤกษศาสตร์เมืองไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๐ สวนพฤกษศาสตร์กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๒ สวนพฤกษศาสตร์เมืองไลป์ซิก ประเทศเยอรมนี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๐ สวนพฤกษศาสตร์เมืองมองต์เปลีเย(Montpellier) ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๑ สวนพฤกษศาสตร์เมืองออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๕สวนพฤกษศาสตร์เมืองอัปป์ซาลา ประเทศสวีเดน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๙๘ สวนพฤกษศาสตร์เมืองเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๑๓สวนพฤกษศาสตร์กรุงเบอร์ลิน ประเทศ เยอรมนี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๑๕ และสวน พฤกษศาสตร์กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศ เนเธอร์แลนด์ สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๒๒๒
สวนพฤกษศาสตร์ที่กล่าวมานี้ ส่วนใหญ่ยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้แม้ว่าสวนบางแห่งอาจย้ายไปที่ อื่นบ้างแล้วก็ตาม สวนประเภทนี้มักเป็นสวนขนาดเล็ก มีพื้นที่เพียง ไม่กี่ไร่ตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมือง แวดล้อมด้วยอาคารบ้านเรือน และมีภาวะมลพิษสูง ถึงกระนั้นสวนเหล่านี้ ก็เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของยุโรป แม้ว่าสวนพฤกษศาสตร์ในระยะแรกๆ เหล่านี้ เน้นพืชที่มีสรรพคุณทางยาเป็นหลัก แต่ต่อมา ก็ค่อยๆ นำพืชอื่นๆที่ไม่ได้มีสรรพคุณทางยาเข้ามาปลูกด้วย และกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ สำหรับสวนพฤกษศาสตร์ ที่จะมีการศึกษาพืช ในทางวิทยาศาสตร์โดยศึกษาหลากหลายประเภท และหลายแง่มุมเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
สวนพฤกษศาสตร์ที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรปถือว่า เป็นแรงผลักดัน ที่ทำให้การสำรวจพืชพันธุ์กระจายไปในส่วนต่างๆ ของโลกและทำให้พืชพันธุ์ ที่ปลูกตามสวนพฤกษศาสตร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามพืชพันธุ์ใหม่ๆ ที่ค้นพบปัจจุบันสวนพฤกษศาสตร์แห่งหนึ่งๆ อาจปลูกพืชที่ค้นพบใหม่ไว้นับหมื่นชนิด ในขณะเดียวกันความสนใจหลักก็เริ่มหันเหออกจากการปลูกพืช เพื่อใช้ทำยามาเป็นการศึกษา การจำแนกพืช ซึ่งเป็นผลมาจากการค้นพบพืชพันธุ์ชนิดใหม่ๆ จากทั่วทุกมุมโลกอย่างไม่จบสิ้น สวนพฤกษศาสตร์หลายแห่งแม้ว่ามีการสร้างสวนพืชสมุนไพรขนาดใหญ่ไว้ด้วย แต่กลับเป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นศูนย์ศึกษา การจำแนกประเภทพืชมากกว่าเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชสมุนไพร

สวนพฤกษศาสตร์ Jardin D'Omement ประเทศฝรั่งเศส
๒. กำเนิดของสวนพฤกษศาสตร์ พืชเมืองร้อน
สวนพฤกษศาสตร์พืชเมืองร้อนเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ในระยะแรกๆ ส่วนมากได้รับแรงผลักดันจากอำนาจทางการเมือง สมัยอาณานิคมที่มีต่อสถานที่ ที่เป็นเส้นทางการค้า หรือดินแดนที่เป็นอาณานิคมหรือเป็นสถานีการค้า สวนพฤกษศาสตร์ส่วนมากจะใช้เป็นเครื่องมือในการขยายอาณานิคม โดยมีบทบาทในการสำรวจพันธุ์พืชพื้นเมือง และนำไปปลูก เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของอาณานิคมนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ สวนพฤกษศาสตร์พืชเมืองร้อนประเภทนี้ จึงเป็นเสมือนแปลงอนุบาลพืช เพื่อการค้า หรือเป็นสถานที่ปลูกพืชชนิดใหม่ มากกว่าจะเป็นสถาบันเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น สวนพฤกษศาสตร์กัลกัตตา ซึ่ง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สวนพฤกษศาสตร์อินเดีย (The Indian Botanic Garden) ที่ พันเอก คิด (Colonel Kyd) ได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ เพื่อให้เป็นสถานที่ปลูกต้นไม้ทางด้านพืชสวน จึงมิใช่สวนพฤกษศาสตร์ตามความหมายที่แท้จริง เพราะสร้างขึ้น เพื่อแจกจ่ายพันธุ์พืช ที่จะเป็นประโยชน์ต่อคน ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น รวมทั้งคนเชื้อสายอังกฤษ โดยมุ่งหวัง เพื่อการขยายตัวทางการค้า และความมั่งคั่งร่ำรวยของประเทศเป็นสำคัญ

สวนพฤกษศาสตร์ The Berlin-Dahlem Botanic Garden กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
สวนพฤกษศาสตร์พืชเมืองร้อนที่เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกคือ Jardin des Pamplemousses บนเกาะมอริเชียส ในมหาสมุทรอินเดีย สร้างขึ้นโดยชาวฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๒๘๘ เพื่อขยายพันธุ์ผักและผลไม้ให้เป็นอาหารสำหรับคนในอาณานิคม และลูกเรือที่แวะมาจอดที่ท่า ต่อมาได้มีการนำพืชเครื่องเทศมาปลูกกันมากขึ้น เช่น ลูกจันทน์เทศ และกานพลู ส่วนพืชที่ปลูกเพื่อเป็นอาหารก็มีมันสำปะหลัง ซึ่งปลูกไว้ใช้เลี้ยงทาส ต่อมาชาวเนเธอร์แลนด์ได้สร้างสวนพฤกษศาสตร์ที่สำคัญขึ้น ที่เมืองโบกอร์ ในอินโดนีเซีย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ และนำปาล์มน้ำมันจากทวีปแอฟริกา มาทดลองปลูก ใน พ.ศ. ๒๓๙๑ โดยได้ต้นพันธุ์ที่เพาะไว้ ๒ ต้น จากสวนพฤกษศาสตร์ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ (สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้เคยประสบผลสำเร็จในการเป็นสถานที่เพาะพันธุ์ กาแฟมาแล้ว) มาขยายพันธุ์ออกไป อย่างกว้างขวาง จนเกิดการปลูกปาล์มน้ำมันสายพันธุ์นี้ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพื่อประโยชน์ ทางการค้าขึ้นเป็นครั้งแรก ชาวอังกฤษนับว่า เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในการก่อตั้งสวนพฤกษศาสตร์ในเขตเมืองร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียใต้ ในทวีปออสเตรเลีย และหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของการนำสายพันธุ์ดีๆ ของพืชที่มีคุณค่าในทางการค้า มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สวนพฤกษศาสตร์แห่งแรกในเขตร้อนของโลกใหม่ (New World Tropics) ตั้งอยู่ที่เกาะเซนต์วินเซนต์ ในทะเลแคริบเบียน ได้รับการเกื้อหนุนจาก ราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน (The Royal Society of London) และมีส่วนในการนำพันธุ์ต้นสาเก รวมทั้งต้นจันทน์เทศและฝ้ายมาปลูกในภูมิภาคนี้ จากการดำเนินงานของโครงข่ายสวนพฤกษศาสตร์ที่ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ ๑๙ โดยมีสวนพฤกษศาสตร์คิว เป็นหน่วยประสานงาน ทำให้ประเทศอังกฤษสามารถถ่ายโอนพันธุ์พืชจำนวนมาก จากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลกหนึ่ง เพื่อให้เกษตรกรรมแบบอาณานิคมรุ่งเรืองขึ้นได้ ดังนั้น ถ้าหากพิจารณารูปแบบของการพัฒนาการเกษตร ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว จะเห็นได้ว่าถูกกำหนดโดยพืชทางการค้าที่นำเข้ามาปลูก เช่น กาแฟ ชา ยาง ปาล์มน้ำมัน อ้อย และพวกเครื่องเทศต่างๆ เช่น อบเชย กระวาน กานพลู และพริกไทย นอกจากรัฐบาลแล้ว ยังมีบริษัทเอกชน และสมาคมต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมนี้ เช่น The Royal Horticultural Society ของอังกฤษ

สวนพฤกษศาสตร์ The Berlin-Dahlem Botanic Garden กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
๓. กำเนิดของสวนพฤกษศาสตร์ในทวีปอเมริกาเหนือ
สวนพฤกษศาสตร์ในทวีปอเมริกาเหนือเกิดขึ้นเป็นแห่งแรกเมื่อ นายจอห์น บาร์ทรัม (John Bartram) ก่อตั้งสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๒๗๑ ที่บริเวณใกล้กับเมืองฟิลาเดลเฟีย ในอาณานิคมเพนซิลเวเนียของอังกฤษ ต่อมาในปีเดียวกัน สวนพฤกษศาสตร์ลินเนียน ในเมืองฟิลาเดลเฟีย ได้ตั้งขึ้นเป็นแห่งที่ ๒ แต่สวนพฤกษศาสตร์สมัยแรกทั้ง ๒ แห่งนี้ ถูกทำลายลงระหว่างเกิดสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกัน เนื่องจาก ถูกมองว่า เป็นสัญลักษณ์ของอาณานิคมอังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๔๐๒ นายเฮนรี ชอว์ (Henry Shaw) ได้ก่อตั้งสวนพฤกษศาสตร์มิสซูรี ขึ้นที่เมืองเซนต์หลุยส์ ในรัฐมิสซูรี ในระยะแรกเป็นสวนส่วนตัว แต่ต่อมาได้เปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้ ถือได้ว่า เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา และในปัจจุบันได้กลายเป็นสถาบันชั้นนำของโลกทางด้านการวิจัยพืช เมืองร้อน โดยร่วมมือกับคณะพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ที่เมืองเซนต์หลุยส์ นอกจากนี้ มีสวนพฤกษศาสตร์อื่นๆที่ตั้งขึ้น เช่น สวนพฤกษศาสตร์อาร์โนลด์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองบอสตัน สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ และสวนพฤกษศาสตร์นิวยอร์ก ในนครนิวยอร์ก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘