๑. เงินดอกจันทน์
ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๘ เมื่ออาณาจักรศรีวิชัยมีอำนาจปกครองเกาะสุมาตรา และคาบสมุทรมลายู ได้ผลิตเงินตราขนาดเล็กทำด้วยทอง เงินและทองแดง มีลักษณะกลม ประทับตราลายประจำยาม หรือดอกจันทน์ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งประทับอักษรสันสกฤตแปลว่า “ประเสริฐ” เงินดอกจันทน์นี้มีพบทางภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป
๒. เงินนะโม
ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินของแคว้นนครศรีธรรมราช ทรงพระนามว่า ศรีธรรมาโศกราช สามารถแผ่อำนาจออกไปปกครองเมือง ๑๒ แห่ง ในแหลมมลายู และโปรดให้เรียกว่า เมืองนักษัตร พระองค์ทรงผลิตเงินตราขึ้นใช้ มีลักษณะเหมือนเงินพดด้วงขนาดเล็ก แต่ตอกตราเป็นอักษรสันสกฤตตัว “น” ไว้ด้านบน เป็นเงินตราที่ผลิตขึ้นจากโลหะเงินผสมเรียกกันว่า “เงินนะโม” มีอยู่หลายขนาด
๓. เงินตราขอม
เป็นเงินตราของขอมซึ่งผลิตขึ้นจากดีบุก ตอกตราเป็นรูปครุฑกับนาค บัวแปดกลีบ และกวาง มีพบอยู่ในดินแดนภาคใต้หลายแห่ง เนื่องจากขอมเคยเข้ามาอาศัย และปกครองบ้านเมืองในคาบสมุทรมลายูด้วย
๔. เงินตราปัตตานี
บริเวณเมืองปัตตานีเคยเป็นที่ตั้งแคว้นลังกาสุกะมาก่อน จึงมีความเจริญจากการค้ากับต่างชาติ ที่ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยอยุธยา ได้มีการผลิตเหรียญทองขึ้นใช้เรียกว่า “เหรียญคูปัง” มีขนาด ๙ - ๑๐ มิลลิเมตร แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด ได้แก่
- เหรียญวัว เป็นเหรียญทอง ด้านหนึ่งเป็นรูปวัวหางชี้ขึ้นท้องฟ้าระหว่างพระอาทิตย์ และพระจันทร์ ล้อมด้วยจุดไข่ปลา ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นอักษรอารบิก อ่านว่า “มาริดอัลอาดีล” หมายถึง รายาผู้ยุติธรรม คำว่า “อัลอาดีล” หมายถึง “ความยุติธรรม” เมืองปัตตานีมีตราประจำเมืองเป็นรูปวัว ซึ่งใช้มาตั้งแต่ครั้งปัตตานีเป็น ๑ ในเมืองนักษัตรของแคว้นนครศรีธรรมราช
- เหรียญพระอาทิตย์ เรียกกันว่า “เหรียญดินาร์มาตาฮารี” เป็นเหรียญทอง ด้านหนึ่งเป็นรูปพระอาทิตย์ มีรัศมี ๔ - ๘ เส้น คล้ายรูปดอกไม้ อีกด้านหนึ่งมีอักษรอารบิก ที่มีข้อความเหมือนกับเหรียญวัว
- เหรียญอักษรอารบิก เป็นเหรียญทองที่มีชื่อรายาผู้ครองนครด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งมีอักษรอารบิก ที่มีข้อความเหมือนกับเหรียญวัว
๕. เงินตรา
เมืองนครฯ เมืองนครศรีธรรมราชเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรตามพรลิงค์ เคยเป็นแคว้นนครศรีธรรมราช แม้ในสมัยที่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา ก็ยังมีฐานะเป็นเมืองสำคัญ มีการทำเงินตราขึ้นใช้เอง โดยทำด้วยดีบุก มีการประทับตราอักษรสันสกฤตตัว “น” เช่นเดียวกับเงินนะโม ยกเว้นในบางครั้ง ที่อำนาจการปกครองจากกรุงศรีอยุธยามีอยู่สูง ก็จะประทับตราประจำรัชกาล ของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาไว้แทน
๖. เชี้ยม
เป็นเงินตราที่เหมืองแร่ในภาคใต้ทำขึ้นจากไม้ไผ่ หวายผ่าซีก หรือสังกะสี ประทับตราเหมืองและทาสีแดง สีเขียว และสีขาว บอกชนิดราคาไว้ใช้เป็นเงินปลีก ในเหมืองแร่แต่ละแห่ง
๗. เงินอีแปะ
ในสมัยรัตนโกสินทร์หัวเมืองทางใต้ เช่น ภูเก็ต สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช มีการผลิตเงินตราขึ้นใช้เองด้วยดีบุก ซึ่งเป็นโลหะมีค่าและมีมากในท้องถิ่น เหรียญดีบุกดังกล่าวนี้มีอักษรภาษาไทย จีน และอารบิก บอกชื่อเมืองไว้บนหน้าเหรียญ เรียกกันว่า “เงินอีแปะ”
นอกจากเหรียญกษาปณ์ดีบุกของทางการแล้ว บรรดาบริษัทที่ทำ เหมืองดีบุกในภาคใต้ ต่างก็ผลิตเหรียญดีบุกขนาดใหญ่ ขึ้นใช้ซื้อ-ขายจ่ายทอน ด้วย โดยด้านหนึ่งระบุชื่อบริษัทผู้ทำเหรียญ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นชื่อเมืองที่บริษัทตั้งอยู่ เช่น กาญจนดิษฐ์ นครศรีธรรมราช ปากพนัง และภูเก็ต เหรียญดีบุกเหล่านี้ มีมูลค่าตามน้ำหนักของดีบุกที่ใช้ทำเหรียญนั้น