หมวดวรรณคดีร้อยแก้ว
เรื่องรามเกียรติ์ ศิลาจารึกเรื่องรามเกียรติ์นี้ ได้จารึกประกอบภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ ไว้ที่ผนังศาลาทิศพระมณฑป ทั้ง ๔ หลัง แต่ปัจจุบันจารึกหลุดหายเป็นจำนวนมาก เหลือเพียง ๑๓ แผ่นเท่านั้น เนื้อเรื่องคงเริ่มตั้งแต่กำเนิดของเทวดา และอสุรวงศ์ มาจนถึงพระชนกไถได้นางสีดา จึงพากันกลับเข้าเมืองมิถิลา ในศิลาจารึกหลักที่ ๕๕ ซึ่งเป็นหลักสุดท้าย ได้แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ ที่วัดพระเชตุพน กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามไว้ดังนี้
“ว่าพระชนกดาบศคิดจะลาพรต จึงภานายโสมผู้ศิษย์ออกไปบริเวณพระไทรย ขุดหาพระราชบุตรีซึ่งฝังไว้ไม่ภพ พระดาบศ จึ่งให้นายโสมเข้าไปในเมืองมิถิลา บอกอำมาตย์ให้จัดคู่โคและกระบือออกมาจะไถหานางกุมารีซึ่งฝังไว้ เรื่องรามเกียรติ์ที่จะต่อไป จงไปดูที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้านประตูข้างเหนือโน้นเถิด”
มหาวงษ์ มหาวงษ์เป็นพงศาวดารที่ว่าด้วยเรื่องของพระพุทธศาสนา ตั้งแต่การตั้งศากยวงศ์ พระพุทธเจ้าปรินิพพาน และเหตุการณ์หลังจากนั้น ผนวกกับการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป และความเป็นมาของราชวงศ์กษัตริย์องค์สำคัญๆ ของลังกา โดยเฉพาะผู้ที่ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก เช่น พระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าทุษฐคามิณี คัมภีร์มหาวงษ์เป็นคัมภีร์สำคัญอย่างยิ่ง ในการศึกษาความเป็นมาของพระพุทธศาสนาในอินเดีย และลังกา โดยเฉพาะลังกา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา หลังจากการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๓ ในอินเดีย
ในประเทศไทย คัมภีร์มหาวงษ์ก็เข้ามา เป็นที่รู้จักตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้แปลคัมภีร์นี้เป็นภาษาไทย ๓๘ ปริเฉท เนื้อเรื่องของมหาวงษ์ที่จารึกไว้นั้น ย่อมาจากฉบับแปลในรัชกาลที่ ๑ กล่าวถึงกำเนิดของสีหะภาหุผู้สร้างเมืองสีหะปุระ (ลังกา) จนถึงเรื่องของพระเจ้าอภัยทุฐ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จารึกมีทั้งหมด ๓๒ แผ่น ประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารพระพุทธไสยาสน์
นิทานสิบสองเหลี่ยม นิทานเรื่องนี้จารึกไว้ที่คอสอง เฉลียงศาลาล้อมพระมณฑปทิศตะวันตก (ปัจจุบันศาลานี้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บของมีค่าของวัด) นิทานสิบสองเหลี่ยม เป็นเรื่องว่าด้วยพระเจ้ามามูน แห่งเมืองบัดดาด ได้ไปนมัสการพระมณฑปที่ไว้พระศพของพระเจ้าเนาวสว่าน ผู้ทรงธรรมจนเป็นที่เลื่องลือ ภายในพระมณฑปมีจารึกอักษรในแผ่นทอง เป็นข้อบัญญัติ และนิทานสุภาษิต อยู่รอบทั้ง ๑๒ เหลี่ยม เรียกกันว่า นิทานอิหร่านราชธรรม อันเป็นนิทานว่าด้วยพระกรณียกิจที่ชอบธรรม ซึ่งพระราชาในอดีต ได้บำเพ็ญมา ส่งผลให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง
ถึงแม้จารึกเรื่องนิทานอิหร่านราชธรรม จะมีเหลือเพียงไม่กี่แผ่น (ผู้สนใจอาจศึกษาได้จากฉบับเต็มที่มีชื่อว่า นิทานอิหร่านราชธรรมฉบับหอสมุดแห่งชาติ) แต่ก็นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงถึงธรรมะของผู้ครอง แผ่นดิน
ภาพมงคล ๑๐๘ ประการ ที่ฝ่าพระบาทพระพุทธไสยาสน์ ในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์
หมวดอักษรศาสตร์
ในบรรดาผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการจารึกสรรพวิชาลงในจารึกวัดพระเชตุพน นั้นก็คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้ทรงเป็นรัตนกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระนิพนธ์ในพระองค์ ได้รับการยกย่องว่า เป็นเลิศทางวรรณศิลป์ ไพเราะด้วยภาษาที่ถูกต้องตามแบบแผน อีกทั้งฉันทลักษณ์ที่ใช้ ก็เป็นแบบฉบับ ที่เป็นมาตรฐาน ทั้งนี้หมวดอักษรศาสตร์ และหมวดวรรณคดีนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงรับเป็น ธุระในการเลือกสรรเรื่องที่จะจารึก ซึ่งได้แก่ ตำราฉันท์วรรณพฤติ ๕๐ แบบ และกลบท การที่ทรงเลือกฉันท์และกลบทมาเป็นแบบอย่างนั้น ก็เพื่อที่จะได้ทะนุบำรุงความรู้ทางอักษรศาสตร์ให้เฟื่องฟู มิให้มีสภาพถดถอย ดังความที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภไว้ว่า
ด้วยก่อนเก่าเหล่าลูกตระกูลปราชญ์
ทั้งเชื้อชาติชนผู้ดีมียศศักดิ์
ย่อมหัดฝึกสึกสาข้างอาลักษณ์
ล้วนรู้หลักพากย์พจน์กลบทกลอน
ทุกวันนี้มีแต่พาลสันดานหยาบ
ประพฤทบาปไปเสียสิ้นแผ่นดินกระฉ่อน
จะหาปราชญ์เจียนจะขาดพระนคร
จึงขอพรพุทธาไตรญาคุณ
(คัดลอกตามต้นฉบับ)
ฉันท์วรรณพฤติ ฉันท์เป็นชื่อของคำประพันธ์ประเภทหนึ่ง ซึ่งกำหนดจำนวน ของคำแต่ละพยางค์ ประกอบด้วย สระที่มีเสียงสั้น (ลหุ) และสระเสียงยาว (ครุ) ฉันท์ตามคัมภีร์วุตโตทัยมีอยู่ ๑๐๘ ฉันท์ ในชั้นแรก แต่งเป็นภาษาสันสกฤต ในสมัยหลัง พระสังฆรักขิตเถระได้แปลเป็นภาษาบาลี เมื่อไทยรับอิทธิพลทางด้านอักษรศาสตร์จากอินเดีย ฉันท์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไทยรับเอาแบบอย่างมาด้วย ในสมัยอยุธยาเข้าใจว่า พระมหาราชครูคงเป็นบุคคลแรก ที่ดัดแปลงฉันท์ภาษาบาลีมาแต่งเป็นฉันท์ ในภาษาไทยคือ เรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ ฉันท์ที่พระมหาราชครูแปลงมี ๖ ประเภท
ในสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงแปลงฉันท์วรรณพฤติ ต่อจากโบราณาจารย์อีก ๔๔ ฉันท์ เพื่อเป็นแบบฉบับที่สมบูรณ์ ๕๐ ฉันท์ ดังความที่พระองค์ได้ทรงปรารภไว้เบื้องต้นว่า
ตูผู้ผนวชเสนอนามยศ กรมนุชิตชิโนรส รจิตประดิษฐ์แสดงสาร
พฤตโตไทยฉันทตำนาน แปลเปลี่ยนโวหาร มคธคัมภีร์ภาษา
แปลเป็นสยามพากย์พจนา ต่อเติมโบรา- ณะแบบบัญญัติฉัฏฐฉันท์
ฉันท์วรรณพฤติ ๔๔ ฉันท์ ที่ทรงนิพนธ์นี้ นอกจากจะมีความไพเราะเป็นเลิศแล้ว ยังถือเป็นต้นแบบของการแต่งฉันท์ ซึ่งเป็นคำประพันธ์ชั้นสูงที่ได้รับการยกย่องจาก นักปราชญ์ราชบัณฑิตว่า ต้องใช้ฝีมือในการประพันธ์ หากแต่เนื้อเรื่องในแต่ละตอนที่ทรงเลือกสรรมานั้นเป็นพระพุทโธวาท ที่สั่งสอนให้พุทธศาสนิกชน หลีกเลี่ยงสาเหตุของความประพฤติ ที่ไม่สมควร เช่น โทษของการดื่มสุรา การเที่ยวกลางคืน การเที่ยวดูมหรสพ การเป็นนักเลง อาจกล่าวได้ว่า งานพระนิพนธ์มีความสมบูรณ์ทั้งรสคำ และรสความ มีคุณค่าเปี่ยมล้นทางวรรณศิลป์ และข้อคิดเตือนใจ
นอกจากนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงแปลงฉันท์มาตราพฤติที่มีอยู่ ๒๗ ฉันท์ ออกเป็นฉันท์ไทยอีก ๘ ฉันท์ ดังความที่ว่า
อีกมาตราพฤติเพียรนิพนธ์ อัษฎาพิธดล ตำหรับแต่ปางไม่มี
สฤษฎิไว้ในโลกเฉลิมศรี อยุทธเยศธานี ทำนุกพระเกียรติกระษัตรา
จงยืนอยู่ชั่วกลปา วสานสืบสา ธุชนเชี่ยวเฉลียวเชลง
เพลงยาวกลบท และกลอักษร ว่าด้วยการแต่งกลอนกลบท และกลอนกลอักษร ซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูง ในการแต่งคำประพันธ์ กลอนกลบทคือ กลอนซึ่งเพิ่มเติมลักษณะพิเศษในการเล่นคำ สัมผัส หรือวรรณยุกต์ ให้แปลกจากบัญญัติเดิมโดยจินตนาการของผู้แต่ง ส่วนกลอนกลอักษรคือ กลอนที่มีวิธีการเขียนยักเยื้องไปต่างๆ ผู้ที่อ่านกลอนกลอักษรได้ ต้องเข้าใจชั้นเชิงของผู้แต่ง จึงจะสามารถอ่านได้ถูกต้อง เพลงยาวกลบทมี ๔๐ บท ส่วนเพลงยาวกลอักษรมีจำนวนน้อยกว่า คือ มีเพียง ๑๐ บท กลบท และกลอักษรหลายบท มีลักษณะตรงกับในกลบท เรื่องศิริวิบุลยกิตต์ วรรณกรรมในรัชกาลที่ ๑ ผู้นิพนธ์ประกอบไปด้วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นไกรสรวิชิต หลวงลิขิตปรีชา หลวงนายชาญภูเบศร์ จ่าจิตร์นุกูล ขุนธนสิทธิ์ เพลงยาวนี้เป็นตัวอย่างที่ดี ที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ผู้นิพนธ์จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญอย่างเลิศ ในการสร้างสรรค์ งานนิพนธ์ ซึ่งงดงาม และไพเราะทางด้านวรรณศิลป์เช่นนี้ และที่ควรสังเกตก็คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีส่วนในการพระราชนิพนธ์ถึง ๑๖ บท

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
หมวดเวชศาสตร์
ตำรายา ว่าด้วยตำรายาที่มีสรรพคุณแก้โรคทั้งปวง แต่ก่อนที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวยา ก็มีการอธิบายว่าด้วยลักษณะของโรค เช่น ไข้ (ซึ่งในจารึกว่า ไข้วิปริต) ๑๘ ประการ ลักษณะตานซาง ลักษณะ และการเกิดของซาง ลักษณะ และการเกิดของลม ในร่างกาย ซึ่งโบราณถือว่า เป็นสมุหฐานสำคัญของการเกิดโรคมี ๑๘ ประการ ริดสีดวง ๑๘ ประการ ลักษณะของกระษัยโรค ๑๘ ประการ ลักษณะของเกลื้อนกลาก และคุดทะราด ยาน้ำมันต่างๆ จากนั้นก็จะให้วิธีแก้ คือตัวยา ดังเช่น
“ในที่นี้จะกล่าวแต่เกลื้อนอันบังเกิดแต่ กองอาโปธาตุ วาโยธาตุนั้นก่อนเป็นปฐม คือเกิดเสโทเป็นต้นเหตุ เมื่อแรกขึ้นมีสีอันขาวเป็นนวล และวงแว่นเล็กก็มี แว่นใหญ่ก็มี ผุดเป็นแห่งๆ เรี่ยรายไปตามผิวเนื้อ ถ้าเสโท ตกมากและเกลื้อนนั้นก็ผุดขึ้นมามาก แล้วกระทำให้คันเป็นกำลัง จึงได้ชื่อว่าเกลื้อนนวลแตงจำพวก ๑ และเกลื้อนบังเกิดแต่กองวาโยธาตุนั้น เกิดแต่อังควาตให้เป็นเหตุ เมื่อแรกขึ้นมีสีอันขาวพร้อยๆเป็นช่อๆกระทำ ให้คันยิบไปดังตัวไร จึงได้ชื่อว่าเกลื้อนดอกหมากจำพวก ๑
อันเกลื้อน ๒ จำพวกนี้ สรรพยาแก้ได้ดุจกันตามอาจารย์กล่าวไว้นี้ ขนานหนึ่งเอาใบลำโพงแดง ใบชุมเห็ดเทศเอาสิ่งละ ๑ ส่วน ขมิ้นอ้อย ๒ ส่วน สานหยวก ๓ ส่วน ทำเป็นจุณเอาสุราเป็นกระสาย บดทำแท่งไว้ละลายน้ำมะนาว แก้เกลื้อนนวลแตง และเกลื้อนดอกหมากให้หายสิ้น วิเศษนัก”
ในตอนท้ายของตำรายา มีความกล่าวไว้ว่า
“- สรรพยา ๓ ขนานนี้ ของข้าพระพุทธเจ้า หมื่นเวชาแพทยาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ขอเดชะได้ใช้แล้ว”
“- สรรพยา ๓ ขนานนี้ ของข้าพระพุทธเจ้า หลวงทิพย์รักษาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ขอเดชะได้ใช้แล้ว”
“- สรรพยา ๔ ขนานนี้ ของข้าพระพุทธเจ้า ขุนราชโอสถทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ขอเดชะได้ใช้แล้ว”
ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันว่า ส่วนผสม และสรรพคุณของยาตำรับนี้ เคยทดลองใช้มาแล้ว และไม่มีการปิดบังตัวยา เพราะแต่เดิมมานั้น การสงวนวิชาซึ่งจำกัดแต่เฉพาะหมู่เหล่าเดียวกัน เป็นเรื่องธรรมดาในหมู่คนไทย มีเรื่องเล่ากันว่า ผู้มอบตำรายานั้นถึงกับต้องแสดงความซื่อสัตย์ ไม่ปกปิดข้อมูล ด้วยการสาบานก่อน
มีข้อสังเกตว่า ตำรายาบางตำราได้อ้างแหล่งที่มาด้วย เช่น อ้างว่าได้มาจากฤาษีบางรูป เช่น “สิทธิการิยะ จะกล่าวลักษณะกำเนิดแห่งลม อันจะบังเกิดแก่บุคคลทั้งหลาย ในโลกนี้ อันพระมหาฤษีเจ้าสำแดงไว้ในคัมภีร์ฉันทวาตปฏิสนธิ ๔๖ จำพวกนั้น” (ศาลา ๔), “จึงพระฤาษีธรรมเทวดาให้แต่งยานี้แก้” (ศาลา ๔), “ลำดับนี้จะกล่าวด้วยนัยหนึ่งใหม่ ว่าด้วยลักษณะไข้วิปริตปฐมเหตุ อันบังเกิดในอหิวาตกภัยมีประเภท ๑๐ ประการ อันพระดาบสทั้ง ๔ พระองค์ เธอรจนาลงไว้ แล้วให้นามบัญญัติชื่อว่า คัมภีร์ตักกสิลา” (ศาลา ๔) ทั้งนี้คงเป็นการเพิ่มความสำคัญของตำรายา
โคลงภาพฤาษีดัดตน นอกเหนือจากตำรายา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จารึกเป็นโอสถทานแล้ว รูปภาพฤาษีดัดตน ๘๐ รูป ซึ่งหล่อด้วย ดีบุก และสังกะสี ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่เสริมสร้างสุขพลานามัยของชาวราษฎร ให้แข็งแรง ท่าดัดตนทั้ง ๘๐ ท่านั้น ส่วนใหญ่จะแก้การปวดเมื่อยของอวัยวะ เลือดลมเดินไม่สะดวก เช่น ท่าแก้เข่าขัด แก้เอว แก้ซ่นเท้า แก้ลมปวดศีรษะ แก้ลมในขา ในโคลงบรรยายภาพฤาษีดัดตนนั้น ผู้แต่งจะเลือกสรรฤาษีต่างๆ ๘๐ รูป มาเป็นผู้แสดงท่า