เล่มที่ 28
ประชุมจารึก วัดพระเชตุพน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
คุณค่าของจารึกวัดพระเชตุพน

            ๑. เป็นแหล่งรวมสรรพวิชาอันบ่งบอก ถึงภูมิปัญญาของชาวสยามประเทศ มิเพียงแต่จะต้องจำกัดว่า เป็นของชาวรัตนโกสินทร์เท่านั้น หากย้อนกลับไปถึงอยุธยา ซึ่งเป็นต้นเค้าที่บ่งบอกถึงมาตรฐานการศึกษาของคนไทยแต่โบราณ วิชาการนั้นอาจแบ่งได้ดังนี้
สาขาวิชาอักษรศาสตร์ ได้แก่ การแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ซึ่งเป็นพื้นฐานของร้อยกรอง ที่คนไทยพึงรู้และแต่งได้ ส่วนร้อยกรองในระดับสูงก็คือ โคลงกลบท โคลงกลบทอักษร กลอนกลบท และกลอนกลอักษร ในด้านร้อยแก้วก็มีวรรณคดี ที่มีคติสอนใจ ทั้งทางโลกและทางธรรม
            สาขาแพทยศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันถือว่า เป็นแพทยศาสตร์โบราณ ว่าด้วยตำรายาแก้โรค และตำราหมอนวด ความรู้เหล่านี้ ได้ผ่านการเลือกสรร และตรวจสอบเป็นอย่างดี เพื่ออำนวยประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้ การใช้ภาพเขียนหรือสาธิตประกอบ รวมทั้งรูปหล่อของฤาษี ล้วนแต่เป็นการเสริมความเข้าใจของผู้ศึกษา กล่าวกันว่า แม้กระทั่งพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่มีสรรพคุณในการรักษาโรค ก็มีการนำมาปลูกไว้ในวัดพระเชตุพนฯ
สาขาช่าง ภาพจิตรกรรมฝาผนัง รวมทั้งศิลปะช่างในแขนงอื่นๆ เช่น การหล่อ การปั้น การสลัก ล้วนแต่เป็นศิลปะชั้นครูทั้งสิ้น


ตุ๊กตาหินฝรั่งซึ่งเป็นอับเฉามาจากเมืองจีน

            ๒. เป็นสถานศึกษาของปวงชนชาวไทย แต่เดิมการศึกษาของชาวไทยจำกัดอยู่ในวงแคบ คือ ผู้ใกล้ชิดกับราชสำนัก ไม่ว่าจะเป็นเชื้อพระวงศ์ หรือขุนนาง อีกทั้งเนื้อหาของสรรพวิชาทั้งปวงได้บันทึกไว้ในสมุดไทย หรือใบลาน แต่เนื่องจากการเผยแพร่สมุดไทย หรือใบลาน ในยุคที่การพิมพ์ยังไม่เกิดขึ้นก็คือ การคัดลอก ซึ่งเป็นวิธีที่จำกัดการเผยแพร่ความรู้ ประกอบกับพื้นอุปนิสัยของคนไทยโบราณ มักหวงแหนความรู้ ซึ่งถือว่า ได้สะสมถ่ายทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ผู้มีโอกาสเรียนรู้ ก็จะเป็นบุคคลในราชสกุลเท่านั้น ด้วยสาเหตุดังกล่าวนี้ จึงน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษาของไทยไม่พัฒนาเท่าที่ควร ดังนั้น การที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะให้วัดพระเชตุพนเป็นสถานศึกษารวมของมหาชน ซึ่งในสมัยหลังเรียกว่า มหาวิทยาลัยนั้น นับเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อวงการศึกษาของไทย

            ๓. เป็นหลักฐานที่แสดงมาตรฐานการศึกษา และโลกทัศน์ของชาวไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการแสดงถึงความชาญฉลาด ความรอบรู้ในวิชาการ รวมทั้งความรู้ในเรื่องชนชาติต่างๆ ที่เข้ามามีสัมพันธไมตรีกับคนไทยในสมัยนั้น เช่น โคลงภาพคนต่างภาษา

            ๔. ภาษา และอักขรวิธี ที่ปรากฏในจารึก แต่ละหลัก เป็นหลักฐานที่แม่นยำ ชัดเจน ที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษาภาษาไทย ทั้งการสะกดคำ เครื่องหมาย ภาษาที่ใช้ รวมทั้งลายจารึก หรือนัยหนึ่งลายมือที่งดงามประณีต บ่งบอกถึงความเป็นผู้มีวัฒนธรรม และการศึกษาอย่างสูง

            ๕. เป็นหลักฐานสำคัญ ที่แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ที่มีต่อปวงชนชาวไทย ในด้านการศึกษา เพราะการศึกษาย่อมก่อเกิดให้ประชาชนได้มีพัฒนาการในด้านสติปัญญา มีความรู้ ความสามารถ ที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญ ประเทศใดที่มีประชาชนที่มีคุณภาพ ประเทศนั้นก็จะเจริญ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ได้บ่งบอกให้เราทราบว่า ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวต่างชาติเริ่มเข้ามามีบทบาทในการติดต่อ และมีความสัมพันธ์กับประเทศไทย และได้นำความเจริญทางด้านหนังสือ และเทคโนโลยี มาเผยแพร่ให้แก่ชาวไทย ซึ่งการที่จะรู้ “เท่าทัน” ชาวต่างชาติได้นั้น ก็คงไม่มีวิธีใดที่ดีไปกว่าการเตรียมประชาชนในประเทศ ให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด พร้อมที่จะเลือกสรรภูมิความรู้ ที่เหมาะสมกับประเทศมาใช้


ต้นไม้ที่มีสรรพคุณรักษาโรคในตำรายาไทย