ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
๑. วัตถุประสงค์
การกำหนดมาตรการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อดูแลความปลอดภัย ดังนี้
๑) ความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นโดยรอบ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในโรงไฟฟ้า
๒) ความปลอดภัยต่อระบบนิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อม
๓) ความปลอดภัยต่อระบบการทำงาน ของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ในโรงไฟฟ้า
๒. มาตรฐานความปลอดภัย
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงมาก ทั้งนี้เพราะมีมาตรการ และกระบวนการตรวจสอบต่างๆ ที่เข้มงวด และรัดกุมหลายขั้นตอน ทั้งด้านนามธรรม และรูปธรรม
๑. ด้านนามธรรม ได้แก่ แนวคิดในการออกแบบให้ปฏิกรณ์มีความปลอดภัยในตัวเอง คือ
ก. ใช้เม็ดเชื้อเพลิงทนความร้อนได้สูงมาก โดยมีจุดหลอมเหลวที่ประมาณ ๒,๘๐๐ องศาเซลเซียส
ข. ใช้ยูเรเนียม-๒๓๕ ในเชื้อเพลิงมีสัดส่วนต่ำประมาณร้อยละ ๐.๗ - ๓ เท่านั้น
ค. เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์สามารถ หยุดยั้งปฏิกิริยาแตกตัวได้ด้วยตัวเอง เมื่อเกิดเหตุผิดปกติขึ้นในระบบ
ง. ระบบถ่ายเทความร้อนในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เป็นระบบปิด ไม่มีส่วนใดสัมผัสกับเครื่องมืออุปกรณ์ภายนอก
จ. เครื่องมืออุปกรณ์ที่สัมผัสและปนเปื้อนรังสี จะติดตั้งรวมไว้ภายในอาคารคลุมปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อความสะดวกในการควบคุม ตลอดจนปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และสิ่งแวดล้อม
๒. ด้านรูปธรรม ได้แก่ กฎระเบียบ อุปกรณ์ และระบบความปลอดภัยต่างๆ หลากหลายชนิด และซ้อนกันหลายระบบประกอบด้วย
ก. รายงานการวิเคราะห์ความปลอดภัย รายงานนี้ต้องจัดทำขึ้น ก่อนการลงมือก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประกอบด้วยการศึกษาวิเคราะห์ในด้านต่างๆ
ข. การประกันคุณภาพ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของมาตรฐานความปลอดภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ มาตรการประกันคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ ๕ ขั้นตอน การเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า การออกแบบโรงไฟฟ้า การผลิตเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้า การเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า การกำกับดูแลความปลอดภัยโรงไฟฟ้า
ค. เกราะป้องกันรังสีหลายชั้น คือ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ หลายชั้น ที่ใช้กักกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหล หรือแพร่กระจายจากเนื้อเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ออกไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกโรงไฟฟ้า เกราะป้องกันรังสีหลายชั้น เป็น ๑ ในหัวข้อสำคัญของมาตรการความปลอดภัย ที่เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย
- เกราะชั้นที่ ๑ เม็ดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ (fuel pellet)
- เกราะชั้นที่ ๒ ท่อหุ้มเม็ดเชื้อเพลิง นิวเคลียร์ (fuel clad)
- เกราะชั้นที่ ๓ น้ำระบายความร้อน (coolant)
- เกราะชั้นที่ ๔ ถังปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (reactor vessel)
- เกราะชั้นที่ ๕ กำแพงคอนกรีตกำบังรังสี (biological concrete shield)
- เกราะชั้นที่ ๖ แผ่นเหล็กกรุผนังด้านในอาคารคลุมปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (steel liner)
- เกราะชั้นที่ ๗ อาคารคลุมปฏิกรณ์ นิวเคลียร์ (reactor containment)
ง. ระบบความปลอดภัยทางวิศวกรรม คือ ชุดเครื่องมืออุปกรณ์หลายระบบ ระบบละหลายชุด ที่ติดตั้ง เพื่อตรวจวัด และตรวจสอบการทำงาน ของเครื่องปฏิกรณ์ โดยอัตโนมัติ ซึ่งแยกต่างหากจากระบบควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ชุดปกติ แต่จะทำงานควบคู่กันไป ในกรณีที่มีเหตุผิดปกติเกิดขึ้น ระบบความปลอดภัยทางวิศวกรรม จะเข้ามาแก้ไขเหตุการณ์ทันท่วงที ก่อนที่เหตุการณ์รุนแรงจะเกิดขึ้น ประกอบด้วยชุดเครื่องมือ/อุปกรณ์หลายระบบ
จ. ระบบเสริมความปลอดภัยอื่นๆ คือ ชุดเครื่องมืออุปกรณ์ ที่ทำหน้าที่เสริมการทำงานให้แก่ระบบความปลอดภัยต่างๆ เพื่อให้การทำงานของระบบต่างๆ มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ฉ. มาตรการหลังเกิดเหตุฉุกเฉิน ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ การแจ้งข่าวสารโดยเร็ว การจัดหาสถานที่ที่ปลอดภัย และเตรียมการอพยพ การจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันรังสี การตรวจวัดระดับรังสี การควบคุมเส้นทางเข้าออกโรงไฟฟ้า การชำระล้างสิ่งเปรอะเปื้อนกัมมันตรังสี การจัดเตรียมบริการทางการแพทย์ การจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม การควบคุมผลิตผลทางการเกษตร และการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณชน
จากมาตรฐาน และมาตรการต่างๆ ที่ได้กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก ส่วนมากมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงมาก โดยเฉพาะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นใหม่ๆ ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า ๔๐ ปี ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูงมากขึ้น ยกเว้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บางแห่งของบางประเทศ ที่ไม่ได้มาตรฐานสากล เนื่องจากในอดีตไม่ได้มีการควบคุม และตรวจสอบ จากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ แต่โรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งในโลก กำลังจะหมดไปในไม่ช้า
หัวข้อก่อนหน้า
การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง และคำนึงถึงสภาพแวดล้อมด้านต่างๆ ด้วย