ส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมพลาสติก
การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกโดยทั่วไป ไม่นิยมนำเรซินบริสุทธิ์มาขึ้นรูปโดยตรง จะต้องใช้วัสดุ และสารเคมีอย่างอื่น มาผสม เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น ของผสมที่ได้จากการเจือวัสดุ และสารเคมีลงในเรซินนี้ ในอุตสาหกรรมพลาสติกเรียกว่า คอมพาวนด์ (Compound) ส่วนประกอบที่สำคัญของคอมพาวนด์ อาจแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
เรซิน (Resins)
เป็นพลาสติกเริ่มต้น มีลักษณะเป็นเม็ด เป็นผง หรือเป็นของเหลว เลือกใช้ตามความเหมาะสมกับคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ อาจเป็นเรซินชนิดเดียว หรือเรซิน หลายชนิดผสมกันก็ได้
พลาสติไซเซอร์ (Plasticizers)
เป็นสารที่เติมลงไปผสมกับเรซิน เพื่อทำให้พลาสติกนิ่ม เป็นการเพิ่มคุณสมบัติในทางอ่อนตัว เพิ่มความเหนียว เพิ่มความทนทานต่อความร้อน เพิ่มความต้านทานการสึกหรอ และทำให้สามารถเติมฟิลเลอร์ได้เป็นปริมาณมากขึ้น แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. พลาสติไซเซอร์ปฐมภูมิ (Primary Plasticizers) เป็นพลาสติไซเซอร์ที่มีคุณภาพสูง ใช้ได้โดยตรง แต่มักมีราคาแพง
๒. พลาสติไซเซอร์ทุติยภูมิ (Secondary Plasticizers) เป็นพลาสติไซเซอร์ที่มีคุณภาพ ค่อนข้างต่ำกว่าประเภทแรก นำไปใช้โดยตรงไม่ได้ จะต้องใช้ควบคู่กับพลาสติไซเซอร์ปฐมภูมิ แต่พลาสติไซเซอร์ทุติยภูมิ จะเพิ่มคุณสมบัติเฉพาะอย่างได้ดีกว่า
สเตบิไลเซอร์ (Stabilizers)
เป็นสารที่เติมลงไป เพื่อช่วยให้พลาสติกมีความอยู่ตัว ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ไม่เสื่อมสลายง่าย นอกจากนี้ ยังช่วยให้พลาสติกมีความทนทานต่อความร้อนเพิ่มขึ้นด้วย
ฟิลเลอร์ (Fillers)
เป็นวัสดุที่เติมลงไปเพื่อเพิ่มปริมาณพลาสติกให้มากขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง จะเห็นว่า ฟิลเลอร์ที่เติมลงไปส่วนใหญ่ เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง แต่ฟิลเลอร์บางชนิด ก็อาจทำให้คุณภาพของพลาสติกเปลี่ยนไปด้วย เช่น ทำให้พลาสติกทึบแสงขึ้น มีความแข็งเพิ่มขึ้น มีความทนทานสูงขึ้น เป็นต้น
สารหล่อลื่น (Lubricants)
เป็นสารที่ช่วยลดความฝืดในเครื่องจักร ทำให้ทำการผสมง่ายขึ้น ตลอดจนทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่ติดแม่พิมพ์ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. สารหล่อลื่นภายนอก (External Lubricants) เป็นสารที่เติมลงไป เพื่อลดความฝืดระหว่างผิวของพลาสติกกับผิวของโลหะ หรือวัสดุที่ใช้ทำเครื่องจักร และแม่พิมพ์
๒. สารหล่อลื่นภายใน (Internal Lubricants) เป็นสารที่ช่วยลดความฝืดภายในเนื้อพลาสติก กล่าวคือ เป็นตัวช่วยลดความฝืดระหว่างโมเลกุลของพอลิเมอร์
สารหล่อลื่นบางชนิดมีคุณสมบัติอย่างอื่นอยู่ด้วย เช่น ใช้เป็นสารเพิ่มความคงตัวให้พลาสติก หรือเป็นพลาสติไซเซอร์ได้ด้วย สารหล่อลื่นมีอยู่ ๔ กลุ่มใหญ่ๆ คือ
๑. สารไฮโดรคาร์บอน
๒. กรดไขมันและอนุพันธ์ของกรดไขมัน
๓. กลีเซอรอล และแอลกอฮอล์
๔. ไขข้นธรรมชาติ
เรซินบางชนิดมีคุณสมบัติในการหล่อลื่นตัวเอง เรียกว่า Self lubricants
สี (Dyes and Pigments)
เป็นสารที่เติมลงไปในพลาสติก เพื่อให้เกิดสีสันตามความต้องการ เป็นการเพิ่มคุณค่าและความสวยงามให้แก่ผลิตภัณฑ์
โพรเซสซิงเอด (Processing Aids)
เป็นสารที่เติมลงไปในพลาสติก ช่วยเพิ่มคุณสมบัติบางประการของพลาสติก เช่น เพิ่มความโปร่งใสให้แก่เนื้อพลาสติก ป้องกันไม่ให้พลาสติกเกิดริ้วรอย หรือเป็นลายในเนื้อพลาสติก
โมดิฟายเออร์ (Modifiers)
เป็นสารที่เติมลงไปในพลาสติกเพื่อเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติบางอย่างของพลาสติก