เล่มที่ 28
แผ่นดินไหว
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แผ่นดินไหวในประเทศไทย

            ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เป็นย่านแผ่นดินไหวที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยมีแผ่นเปลือกโลกใกล้เคียงกันรวม ๔ แผ่น ได้แก่ แผ่นยูเรเชีย แผ่นแปซิฟิก แผ่นออสเตรเลีย และแผ่นฟิลิปปินส์ อีกทั้งเป็นที่บรรจบกันของแนวแผ่นดินไหว ๒ แนวคือ แนวล้อมมหาสมุทรแปซิฟิก และแนวแอลป์หิมาลัย จึงทำให้เกิดแผ่นดินไหวเป็นจำนวนมาก

            ประเทศไทยตั้งอยู่บนแผ่นยูเรเชีย ใกล้รอยต่อระหว่างแผ่นยูเรเชียกับแผ่นอินเดีย และแผ่นออสเตรเลีย มีรอยเลื่อน (fault) อยู่ทางภาคตะวันตกและภาคเหนือ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตประเทศพม่า และทะเลอันดามัน รอยเลื่อนที่สำคัญในประเทศไทยมีดังนี้

ก. รอยเลื่อนในภาคตะวันตก

            ได้แก่
  •  รอยเลื่อนตองจี
  • รอยเลื่อนพานหลวง
  • รอยเลื่อนเมย - อุทัยธานี
  • รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์
  • รอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์
  • รอยเลื่อนระนอง - คลองมารุย
  • รอยเลื่อนเมย - วังเจ้า
ข. รอยเลื่อนในภาคเหนือ

            ได้แก่
  • รอยเลื่อนแม่ทา
  • รอยเลื่อนเชียงราย
  • รอยเลื่อนแพร่
  • รอยเลื่อนเถิน
  • รอยเลื่อนแอ่งแพร่
  • รอยเลื่อนพะเยา
  • รอยเลื่อนลอง
  • รอยเลื่อนปัว
  • รอยเลื่อนน้ำปาด


รอยเลื่อนในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย

            บริเวณประเทศไทยมีประวัติการเกิดแผ่นดินไหวมาแต่ในอดีต พงศาวดารโยนกกล่าวว่า อาณาจักรโยนก ซึ่งเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ได้เกิดแผ่นดินไหวหลายครั้ง ครั้งที่รุนแรงที่สุดทำให้อาณาจักรถึงกับล่มสลาย อาณาจักรโยนกนี้ตั้งอยู่บริเวณละติจูด ๒๐.๒๕ องศาเหนือ และลองจิจูด ๑๐๐.๐๘ องศาตะวันออก อยู่ในเขตอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในปัจจุบัน โดยพงศาวดารโยนกได้บันทึกการเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ เดือน ๗ แรม ๗ ค่ำ พ.ศ. ๑๐๐๓ เวลากลางคืน ว่า

            “...สุริยอาทิตย์ก็ตกไปแล้ว ก็ได้ยินเสียง เหมือนตั้งแผ่นดินดังสนั่นหวั่นไหว ประดุจว่า เวียงโยนกนครหลวงที่นี้ จักเกลื่อนจักพังไปนั้นแล แล้วก็หายไปครั้งหนึ่ง ครั้นถึงมัชฌิมยาม ก็ดังซ้ำเข้ามาเป็นคำรบสอง แล้วก็หายนั้นแล ถึงปัจฉิมยาม ก็ซ้ำดังมาอีกเป็นคำรบสาม หนที่สามนี้ดังยิ่งกว่าทุกครั้งทุกคราวที่ได้ยินมาแล้ว กาลนั้นเวียงโยนกนครหลวงที่นั้น ก็ยุบจมลง เกิดเป็นหนองอันใหญ่ ยามนั้นคนทั้งหลายอันมีในเวียงที่นั้น มีพระมหากษัตริย์เป็นประธาน ก็วินาศฉิบหายตกไปในน้ำที่นั้นสิ้น...”

            ปัจจุบันบริเวณที่ตั้งอาณาจักรโยนกได้กลายเป็นหนองน้ำในอำเภอเชียงแสน

            ในศิลาจารึกของอาณาจักรสุโขทัยได้บันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวไว้ ๒ ครั้ง พงศาวดารของกรุงศรีอยุธยาได้มีการบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวไว้ ๗ ครั้ง และพงศาวดารของเชียงใหม่ได้บันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวไว้ ๔ ครั้ง แผ่นดินไหวครั้งสำคัญ ที่เชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๐๘๘ ได้ทำให้ส่วนยอดของเจดีย์ ที่วัดเจดีย์หลวงหักโค่นลงมา ซึ่งเจดีย์องค์นั้นแต่เดิมสูงถึง ๘๖ เมตร หลังจากส่วนยอดได้หักโค่นลงมา จึงเหลือความสูงเพียง ๕๐ เมตร