เล่มที่ 27
ไฮโดรพอนิกส์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เทคนิคการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรพอนิกส์

        ปัจจุบัน เทคนิคการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรพอนิกส์ ได้รับการพัฒนาขึ้นหลากหลายรูปแบบ โดยใช้วิธีปลูก วัสดุปลูก การจ่ายและใช้สารละลายธาตุอาหารพืช ฯลฯ ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม มีเทคนิคที่นำมาใช้เป็นเชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวางเพียง ๕ - ๖ แบบ เท่านั้น คือ


๑. เทคนิคการให้อากาศ (Liquid Culture, Non-circulating System)

        เป็นเทคนิคเก่าแก่ ใช้ภาชนะปลูกเป็นกระบะ (ไม้ โฟม พลาสติก ฯลฯ ) มีฝากระบะเป็นโฟม ที่เจาะเป็นรูกลมๆ ให้มีขนาดพอดี สำหรับวางต้น (ที่โคนต้น จะห่อหุ้มด้วยฟองน้ำ) หรือถ้วยปลูกขนาดเล็ก วางฝากระบะให้ห่างผิวน้ำประมาณ ๑ เซนติเมตร เพื่อให้มีออกซิเจนหน้าผิวน้ำ เทคนิคนี้เป็นระบบเปิด (open system) มีทั้งแบบที่ใช้น้ำลึก และน้ำตื้น น้ำลึกมีระดับน้ำสูงประมาณ ๑๘ - ๒๐ เซนติเมตร ส่วนน้ำตื้นมีระดับน้ำสูง ๕ - ๑๐ เซนติเมตร มีการให้อากาศด้วยเครื่องเป่าลม/อากาศ การเติมออกซิเจนลงละลายในน้ำ จะอยู่ในรูปของฟองอากาศที่แทรกอยู่ในน้ำ คล้ายๆกับการให้อากาศในตู้เลี้ยงปลา สำหรับเทคนิคนี้ น้ำหรือสารละลายไม่มีการไหลหมุนเวียน แบบน้ำลึกต้องการออกซิเจน มากกว่าแบบน้ำตื้น แต่เมื่ออากาศร้อนจัดจะรักษาอุณหภูมิของน้ำมิให้สูงขึ้นรวดเร็วได้ดีกว่าน้ำตื้น


๒. เทคนิคน้ำหมุนเวียน (Liquid Culture, Circulating System)

        เทคนิคนี้มีโครงสร้าง และหลักการคล้ายๆ การให้อากาศ จะแตกต่างกันคือ การเติมออกซิเจนลงในน้ำ อาศัยการไหลหมุนเวียนของน้ำ หรือสารละลายธาตุอาหารพืช เทคนิคนี้เป็นระบบปิด (closed system) การไหลหมุนเวียนของน้ำ เกิดจากน้ำล้นเหนือระดับควบคุม ปริมาณน้ำที่ไหล จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความสูงของระดับควบคุม และอัตราเร็วของน้ำ ที่ปลดปล่อย มีทั้งแบบน้ำลึก และน้ำตื้น แบบน้ำลึกจะขาดออกซิเจน ง่ายกว่าแบบน้ำตื้น ในทำนองเดียวกัน อัตราการไหลของน้ำที่ช้าจะขาดออกซิเจนได้ง่ายกว่าอัตราการไหลที่เร็ว ดังนั้น เทคนิคน้ำลึก และอัตราการไหลที่ช้า จะขาดออกซิเจนง่ายกว่าเทคนิคน้ำตื้น และอัตราการไหลที่เร็ว ในกรณีที่ขาดออกซิเจน สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธียกระดับน้ำตก (waterfall) ให้สูงขึ้นที่ท่อจ่ายหรือถังรับน้ำ หรือเพิ่มอัตราความเร็ว ของน้ำที่ไหล แต่ถ้าน้ำไหลเร็วมากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อรากพืช ดังนั้น ส่วนใหญ่จะใช้วิธีติดท่อดูดอากาศช่วย เทคนิคน้ำหรือสารละลายไหลหมุนเวียนได้ถูกพัฒนาขึ้นอีกหลายรูปแบบ เช่น เทคนิคทำให้เปียกและระบายทิ้ง (Soak and Drain) เทคนิคสารละลายหมุนเวียนแบบน้ำตื้น (Semi-Deep Nutrient Flow Technique) เทคนิค M-System และเทคนิคไฮโปนิกา เป็นต้น เทคนิคไฮโปนิกาเป็นเทคนิคที่บริษัทเกียววะ ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาขึ้น และนำมาสาธิตในงาน Science World Fair Expo 85 ที่เมืองสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น ผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นต้นมะเขือเทศมหัศจรรย์ ที่มีลำต้นขนาด ใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางของทรงพุ่มยาวถึง ๖ เมตร มีผลตามขนาดที่ตลาดต้องการถึง ๑๒,๐๐๐ ผลต่อต้น ส่วนต้นพริกหวานมีผลถึง ๔๐๐ ผลต่อต้น

๓. เทคนิคเอ็นเอฟที (Nutrient Flow Technique or NFT)

        เป็นเทคนิคที่มีน้ำหรือสารละลายไหลหมุนเวียนแบบหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เทคนิคนี้มีหลักการว่า รากพืชจะต้องแช่อยู่ในลำรางแบนๆ ที่มีความลาดเอียงร้อยละ ๑ - ๓ มีน้ำหรือสารละลายธาตุอาหารพืชไหลผ่านเป็นชั้นแผ่นผิวบางๆ ตามช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อช่วยให้รากพืชได้รับความชื้นและออกซิเจนเพียงพอ แอลเลน คูเปอร์ (Allen Cooper) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เป็นผู้พัฒนาเทคนิคนี้ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๗๖


๔. เทคนิคฉีดพ่นราก (Aeroponics)

        เป็นเทคนิคแบบน้ำหมุนเวียน แต่มีหลักการแตกต่างจากเทคนิคน้ำหมุนเวียน ตามที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด คือ รากพืชมิได้แช่อยู่ในน้ำหรือสารละลาย แต่ยกให้ลอยขึ้นภายในตู้ปลูกที่เป็นห้องมืด (ตู้ปลูกที่ใช้จะมีรูปแบบสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม หรือสามเหลี่ยมหัวตัดก็ได้) และจะรักษาความชื้น ด้วยละอองน้ำจากหัวฉีดที่วางเป็นระยะๆ เพื่อให้รากพืชคงความชุ่มชื้นระหว่างร้อยละ ๙๕ -๑๐๐ ของอัตราความชื้นสัมพัทธ์ ข้อดีของระบบนี้คือ รากพืชจะไม่ขาดออกซิเจน แต่มี ข้อเสียที่ตู้ปลูกมักจะมีอุณหภูมิสูงเนื่องจากเมืองไทยมีอากาศร้อน การลดอุณหภูมิภายในตู้ปลูก อาจกระทำได้ ด้วยการใช้พัดลมขนาดเล็กดูด หรือเป่าขับไล่ความร้อนออก แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ในการดูดหรือเป่าขับไล่ความร้อน ความชื้นสัมพัทธ์จะถูกขับไล่ไปกับความร้อนด้วย ทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ภายในตู้ลดลงอาจเป็นอันตรายต่อรากพืชได้

๕. เทคนิคไฮโดรพอนิกส์สำหรับปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ (Hydroponics Green - Fed Production หรือ Agriponic)

        เป็นเทคนิคการปลูกธัญพืช สำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโอต ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง เพื่อให้มีคุณค่าทางอาหารสูง การปลูกจะกระทำในตู้ปลูก ที่ควบคุมสภาพแวดล้อม โดยมีการให้น้ำหรือสารละลายธาตุอาหารพืช ด้วยน้ำหมุนเวียน ด้วยการฉีดพ่นเป็นละอองฝอยให้ทั่วกระบะ หรือใช้วิธีน้ำหยดทางหัวด้านกระบะ ปล่อยให้น้ำหรือสารละลายไหลตามลาดเอียง ของกระบะหรือถาดเมล็ดธัญพืช สามารถผลิตต้นพืชอ่อนให้สัตว์กินได้ตลอดปี ทั้งสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย แพะ แกะ และสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ ในหลักการจะนำเมล็ดธัญพืชแช่น้ำไว้ ๑ วัน หลังจากนั้นนำเมล็ดไปโรยให้เต็มกระบะหรือถาด แล้วให้น้ำหรือสารละลายเป็นระยะๆ ตามความเหมาะสม ในช่วงที่เมล็ดยังไม่งอกจะไม่มีการให้แสง แต่ควบคุมเฉพาะความชื้น และอุณหภูมิ ต่อเมื่อเมล็ดงอกแล้ว จึงมีการให้แสงช่วยในการเจริญเติบโตของต้นกล้า ส่วนใหญ่จะใช้แสงอินฟลูออเรสเซนต์ หลัง ๕ - ๖ วัน ต้นพืชจะโตมีความสูง ๑๐ - ๑๕ เซนติเมตร ซึ่งพร้อมที่จะใช้เลี้ยงสัตว์ได้ เทคนิคนี้ยังนิยมใช้ในการเพาะถั่วงอก และผักงอกชนิดต่างๆ เพื่อใช้เป็นอาหารของมนุษย์ด้วย

๖. เทคนิควัสดุปลูก (Substrate Culture)

        เป็นเทคนิคที่น่าสนใจ และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถเลือกกระทำได้หลายรูปแบบ ทั้งรูปร่าง ขนาด และชนิดของภาชนะปลูก มีการลงทุนต่ำกว่า ดูแลง่ายกว่า และสามารถปลูกพืช ที่มีอายุยาวได้ดีกว่าการปลูกด้วยเทคนิค ที่ใช้น้ำหรือสารละลาย (water culture)