เล่มที่ 27
ไฮโดรพอนิกส์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความเป็นมาของไฮโดรพอนิกส์ 

            การปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรพอนิกส์ เริ่มมีขึ้นเมื่อประมาณ ๔๐๐ ปีก่อน โดยใน ค.ศ. ๑๖๐๐ แจน แบบติสตา แวน เฮลมอนต์ (Jan Baptista Van Helmont) นักวิทยาศาสตร์ชาวเบลเยียม ได้ทดลองปลูกต้นวิลโลในดินที่บรรจุไว้ในท่อ ที่รดด้วยน้ำฝน เป็นเวลานานถึง ๕ ปี ผลปรากฏว่า ต้นวิลโลมีน้ำหนัก เพิ่มจาก ๕ ปอนด์ เป็น ๑๖๙ ปอนด์ ในขณะที่ดินปลูกมีน้ำหนักหายไปเพียงเล็กน้อย เขาสรุปว่า พืชได้รับอาหารจากน้ำในการเจริญเติบโต ต่อมาใน ค.ศ. ๑๖๙๙ จอห์น วูดวาร์ด (John Woodward) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษได้ทดลองปลูกพืชในน้ำ โดยอาศัยธาตุอาหารจากดินในแหล่งต่างๆนำมาละลายลงในน้ำ ใน ค.ศ. ๑๘๐๔ นิโคลาส เทโอดอร์ เดอ โซซูร์ (Nicolas Theo dore de Saussure) นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสกล่าวถึงความต้องการธาตุอาหารของพืชเพื่อ ใช้ในการเจริญเติบโต ต่อมาในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ฌ็อง บัปติสต์ บูแซงโกลต์ (Jean Baptiste Bousingault) นักวิทยาศาสตร์ ชาวฝรั่งเศสได้แนะนำการปลูกพืชในทรายโดยใช้สารละลายธาตุอาหารพืช แต่การวิจัยในสมัยนั้นยังไม่รู้จักการใช้ธาตุอาหารเสริมอย่างปัจจุบัน และก็มีการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรพอนิกส์เฉพาะในห้องปฏิบัติการเท่านั้น และใน ค.ศ. ๑๘๖๐ จูเลียส ฟอน ซัคส์ (Julius von Sachs) นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันนับเป็นคนแรก ที่ได้คิดค้นสารละลายธาตุอาหารมาตรฐานขึ้น หลังจากนั้นจึงได้มีการคิดค้นสารละลายธาตุอาหารสูตรต่างๆ ขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิลเฮลม์ คน็อป (Wilhelm Knop) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ซึ่งสูตรสารละลายธาตุอาหาร ที่เขาคิดค้นขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๖๕ ก็ยังนำมาใช้อยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่เพิ่มธาตุอาหารเสริมเข้าไป จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๒๕ ศาสตราจารย์วิลเลียม เอฟ. เกอริก (William F. Gericke) ชาวอเมริกัน แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ก็ได้พัฒนาเทคนิคการเติมอากาศ/ลมลงในน้ำ และ/หรือสารละลายธาตุอาหารพืช จนสามารถนำการปลูกพืช ด้วยวิธีไฮโดรพอนิกส์ไปใช้ในเชิงธุรกิจได้ ทำให้ศาสตราจารย์ผู้นี้ได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งเทคโนโลยีไฮโดรพอนิกส์สมัยให



            ในทวีปเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ที่นำเทคโนโลยีการปลูกพืช ด้วยวิธีไฮโดรพอนิกส์มาใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยเริ่มต้นหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง กองทัพของสหรัฐอเมริกา ที่เข้าไปยึดครองประเทศญี่ปุ่นได้นำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ปลูกผักอนามัยเลี้ยงทหารใน ค.ศ. ๑๙๔๖ ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๖๐ สถานีวิจัยพืชสวนกระทรวงเกษตรและป่าไม้ของญี่ปุ่น ได้พัฒนาเทคนิคการปลูกพืชด้วยกรวด (gravel culture) ขึ้น ซึ่งเป็นระบบไฮโดรพอนิกส์ดั้งเดิมของญี่ปุ่น

            สำหรับการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรพอนิกส์ในประเทศไทยนั้น ได้เริ่มมีการวิจัยการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรพอนิกส์ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์