เล่มที่ 26
การใช้สื่อประสมส่งเสริมการศึกษา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สื่อประสม เพื่อการศึกษาที่มีการพัฒนาขึ้นมาใช้ในวงการการศึกษามีหลายประเภท ดังนี้

สื่อประสมเพื่อการศึกษาที่มุ่งหมายสอนเนื้อหาสาระ (Content)

            เรียกกันโดนทั่วไปว่า tutorial เนื่องจากโปรแกรมประเภทนี้ เน้นสาระสำคัญของเนื้อหา และข้อความต่างๆ จำนวนมาก ดังนั้น จึงยากที่จะออกแบบให้มีความสนุกสนานได้ โปรแกรมชนิดนี้ มักจะสอนเนื้อหาความรู้ต่างๆ โดยเสนอเนื้อหา และมีการตั้งคำถาม โปรแกรมจะอธิบายเนื้อหาที่ต้องการสอน แล้วตั้งคำถามให้ผู้เรียนตอบ ต่อจากนั้น โปรแกรมจะวิเคราะห์คำตอบ แล้วตัดสินใจว่า ผู้เรียนควรจะเรียนในระดับที่สูงขึ้น เรียนซ้ำของเดิม หรือย้อนกลับไปเรียนในระดับที่ต่ำกว่า เป็นต้น แต่ในบางกรณี โปรแกรมอาจจะแสดงคำอธิบายเนื้อหาเพิ่มเติมก็ได้ ดังนั้น โปรแกรมจึงมีเนื้อหา และคำถามซ้อนกันอยู่หลายชั้น ผู้ออกแบบโปรแกรมบางคน อาจใช้วิธีแนะแนวการคิดคำตอบให้แก่ผู้เรียนทีละขั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการแนะแนวทางให้ผู้เรียนคิดหาคำตอบ


สื่อประสมเพื่อการศึกษาประเภทการฝึกฝนปฏิบัติซ้ำๆ หรือฝึกทักษะ

            โปรแกรมประเภทนี้ มุ่งหมายให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ได้อย่างถูกต้อง คล่องแคล่ว รวดเร็ว และแม่นยำ โดยการผ่านการฝึกฝนวิชาความรู้นั้นๆ เป็นเวลานาน โปรแกรมประเภทฝึกทักษะมีอยู่เป็นจำนวนมาก ในท้องตลาด โดยเฉพาะโปรแกรมฝึกทักษะภาษาต่างประเทศ และโปรแกรมฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์

            โปรแกรมการฝึกทักษะ เน้นการฝึกเฉพาะทาง โดยกำหนดจุดมุ่งหมายที่แน่นอน เช่น การฝึกทักษะในการคำนวณ การฝึกใช้คำศัพท์ การฝึกใช้ไวยากรณ์ภาษาต่างประเทศ เป็นต้น ในโปรแกรมการฝึกแต่ละโปรแกรม จะมีการกำหนดลำดับหัวข้อการฝึกไว้อย่างแน่นอน แต่ผู้เรียนก็สามารถเลือกรายการฝึกตามต้องการได้เช่นเดียวกัน

สื่อประสมเพื่อการศึกษาประเภทสร้างสถานการณ์จำลอง

            มีการเรียนรู้จำนวนมาก ที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ โดยการเข้าไปอยู่ในเงื่อนไข หรือสถานการณ์อย่างหนึ่ง จึงจะสามารถได้รับความรู้ในเรื่องนั้นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้เด่นชัดคือ การเรียนรู้วิธีบังคับเครื่องจักร และเครื่องยนต์กลไกต่างๆ การเรียนรู้ขั้นตอน และกระบวนการทำงานของเครื่องมือต่างๆ การเรียนรู้แก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ในการทำงาน เป็นต้น การเรียนรู้เหล่านี้ ไม่สามารถได้รับความรู้จากการอ่าน จินตนาการ หรือดูด้วยตา แต่ต้องลงมือกระทำในเงื่อนไขที่กำหนดนั้นๆ การสอนวิชาเหล่านี้ด้วยการบรรยาย และจดบันทึก เป็นวิธีการที่ได้รับสัมฤทธิผลทางการศึกษาต่ำ


สื่อประสมที่เน้นหรือออกแบบเป็นเกม

            สื่อประสมเพื่อการศึกษา ที่ออกแบบในรูปของเกม ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะการออกแบบ จะเน้นให้เกิดความสนุกสนานแก่ผู้เรียน

            สื่อประสมเพื่อการศึกษาประเภทเกม ถูกออกแบบให้ใช้ได้ง่าย สนุกสนาน และดึงดูดความสนใจของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี โปรแกรมเกม อาจออกแบบมาเป็นเกมฝึกทักษะ หรือเกมประเภทแก้ไขปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีภาพเคลื่อนไหวด้วย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสนุกสนานยิ่งขึ้น


สื่อประสมเพื่อการศึกษาที่เน้นการสาธิต

            เป็นสื่อประสมเพื่อการศึกษา ที่มุ่งเน้นแสดงขั้นตอนกระบวนการต่างๆ สำหรับวิชาด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องการให้ผู้เรียนเข้าใจความรู้ อย่างมีลำดับขั้นตอนโดยละเอียดนั้น การอธิบายด้วยคำพูด หรือการอธิบายบนกระดาน อาจจะน่าเบื่อหน่าย และไม่น่าติดตาม รวมทั้งการอธิบายอาจช้าหรือเร็ว เกินกว่าที่ผู้เรียนจะเข้าใจได้ชัดเจน การสาธิตความรู้ทีละขั้นตามลำดับ ช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปได้ดี และเป็นแบบ “รายบุคคล” อย่างแท้จริง


สื่อประสมเพื่อการศึกษาประเภทให้ความรู้ทั่วไปและความรู้อ้างอิง

            สื่อประสมประเภทนี้ บรรจุข้อความภาพ และเสียงเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ โดยจัดหัวข้อเป็นหมวดหมู่ ที่สามารถเทียบเคียงได้กับหนังสื่อประเภทสารานุกรม แต่การใช้งานสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะความสามารถในการแสดงข้อมูล เกี่ยวกับภาพเคลื่อนไหวและเสียง จึงทำให้ผู้ใช้ได้เห็นภาพ และได้ยินเสียง ที่เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ

            การค้นหาสาระจากสื่อประสมประเภทนี้ ใช้วิธีการขยายเชื่อมโยงจากคำหรือภาพ ที่ปรากฏบนจอ ที่เรียกว่า ไฮเปอร์เท็กซ์ จากคำหรือภาพหนึ่งภาพ เชื่อมโยงไปสู่คำอธิบายภาพหรือเสียง โดยการแสดงผล หลังจากการกดเมาส์ ที่คำหรือภาพนั้น การเชื่อมโยงนี้อาจมีซ้อนๆ กันหลายชั้น แล้วแต่โปรแกรมหรือสื่อนั้นๆ ได้ออกแบบไว้