เล่มที่ 26
ส้ม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ลักษณะทั่วไปของส้ม

            ส่วนต่างๆ ที่สำคัญของส้ม ได้แก่ ลำต้น กิ่งก้าน ใบและก้านใบ หนาม ดอก ผล เมล็ด และราก ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน เพื่ออธิบายลักษณะของส้มแต่ละชนิดแต่ละพันธุ์ และใช้จำแนกความแตกต่าง ตลอดจนใช้ประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์


๑. ลำต้น

            ส้มชนิดที่ปลูกกันโดยทั่วไป เป็นไม้ยืนต้น หรือไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงประมาณ ๔ - ๘ เมตร ส้มโอที่มีอายุมากอาจมีความสูงได้ถึง ๑๐ - ๑๕ เมตร ความสูงของต้นส้ม จะแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด ส้มมีทรงต้นโปร่ง มีการแตกกิ่งก้านแผ่เป็นพุ่ม รัศมีของทรงพุ่มประมาณ ๒ - ๕ เมตร มีใบ ตาข้าง ดอกและผลเกิดอยู่บนกิ่ง หนามจะอยู่ด้านข้างของตา การจัดเรียงตัวของใบส้ม (phyllotaxy) ทั่วไปมีค่าเท่ากับ ๓ / ๘


๒. ใบ

            ใบส้มจัดเป็นใบเดี่ยว แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า แผ่นใบ หรือตัวใบ แผ่นใบมีรูปร่างกลมมน เรียวยาว รูปไข่ยาว หรือรูปโล่ ปลายใบแหลมหรือป้าน ขอบใบอาจเรียบหรือหยัก สีของใบมีตั้งแต่สีเขียวอมเหลืองถึงสีเขียวอมดำ ส่วนที่สองคือ ก้านใบ ซึ่งมีส่วนของก้านใบที่เรียกว่า หูใบ (wing) มีลักษณะเป็นปีก รูปทรงคล้ายรูปหัวใจ อาจเล็กแคบ หรือมีขนาดใหญ่เกือบเท่าตัวใบ ลักษณะของแผ่นใบ สี ขนาด และหูใบ สามารถนำมาใช้จำแนกชนิดและพันธุ์ส้มได้ บนแผ่นใบมีต่อมน้ำมัน (oil gland) ขนาดเล็กหรือใหญ่ กระจายอยู่ทั่วไป น้ำมันส้มมีกลิ่นเฉพาะแตกต่างกัน ตามชนิดและสายพันธุ์


๓. ดอก

            ดอกส้มเกิดที่ปลายยอดอ่อน หรือที่มุมใบ อาจเกิดเป็นดอกเดี่ยว (solitary) หรือช่อดอก (inflorescence) เป็นดอกสมบูรณ์เพศ (perfect flower) อยู่บนฐานรองดอก (receptacle) ซึ่งเป็นส่วนของก้านดอก (peduncle) ส่วนของดอกประกอบด้วยชั้นต่างๆ ๔ วง เรียงจากวงนอกสุด คือ กลีบเลี้ยง (calyx หรือ sepal) กลีบดอก (corolla หรือ petal) เกสรตัวผู้ (androecium หรือ stamen) และเกสรตัวเมีย (gynaecium หรือ pistil) กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก และมีสีเขียว หรือสีเขียวอ่อน กลีบดอกมีจำนวน ๕ กลีบ มีสีขาว แต่อาจมีสีอมเขียว หรือมีสีม่วงแต้มในส้มบางชนิด ที่กลีบดอกมักมีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ เกสรตัวผู้มีจำนวน ๒๐ - ๔๐ อัน มีก้าน (filament) สีขาว ยาว ส่วนปลายเป็นอับเกสร (anther) สีเหลือง ภายในมีละอองเกสร (pollen) จำนวนมาก ชั้นในสุด คือ เกสรตัวเมีย ประกอบด้วย รังไข่ (ovary) รูปร่างกลม สีเขียว ตั้งอยู่บนจาน ซึ่งเป็นส่วนของต่อมน้ำหวาน ส่วนปลายของรังไข่เป็นก้านชูเกสรตัวเมีย (style) และที่รับละอองเกสร (stigma) เมื่อดอกส้มบานจะมีกลิ่นหอมมาก

๔. ผล

            ผลส้ม คือ ส่วนที่เจริญและพัฒนามาจากส่วนของรังไข่ เกิดขึ้นภายหลังจากการถ่ายละอองเกสร (pollination) โดยลมหรือแมลง และเกิดการปฏิสนธิ (fertilization) ผลส้มโดยทั่วไปมีกลีบผลอยู่จำนวน ๑๐ กลีบ อาจมีจำนวนกลีบมากหรือน้อยกว่าในแต่ละสายพันธุ์ กลีบเชื่อมติดกันเป็นวงกลมล้อมรอบแกนกลางของผล เมื่อส้มเริ่มติดผลและพัฒนา จนเป็นผลที่สมบูรณ์ส ่วนของผนังรังไข่ (ovary wall) จะพัฒนาเปลี่ยนไปเป็นส่วนหนึ่งของผล คือ ส่วนเปลือกชั้นนอกสุด ที่มีสีเขียว หรืออาจเปลี่ยนเป็นสีอื่น เมื่อสุก เปลือกส่วนกลาง ที่มีลักษณะนุ่ม มีสีขาว อาจเป็นชั้นที่บางมาก เช่นที่พบในส้มเขียวหวาน และส่วนในสุด ที่เป็นเยื่อหุ้มกลีบ ผนังด้านในของส่วนในสุดนี้ จะแบ่งเซลล์และขยายตัวออกกลายเป็นถุง (juice sac) ทำหน้าที่เก็บสะสมน้ำ น้ำตาล และสารอาหารต่างๆ

๕. เมล็ด

            เมล็ดส้มมีการเจริญและพัฒนามาจากไข่ (oval) รูปร่างคล้ายหยดน้ำ ด้านแหลมเป็นด้านที่รากงอกออกมา และด้านตรงข้ามซึ่งมีลักษณะป้าน รูปร่าง ขนาดของเมล็ด และสีของด้านป้าน สามารถนำมาใช้เป็นลักษณะ ในการจำแนกชนิดและพันธุ์ส้มได้ เมล็ดประกอบด้วยส่วนสำคัญต่างๆ คือ เปลือกหุ้มเมล็ด (seed coat) ซึ่งมี ๒ ชั้น ชั้นนอกมีสีเหลืองฟางข้าว ส่วนชั้นในมีลักษณะเป็นเยื่อบางสีน้ำตาล ต้นอ่อน หรือที่เรียกว่า เอ็มบริโอ (embryo) คือ ส่วนที่จะเจริญพัฒนากลายเป็นต้น และส่วนที่สะสมอาหารซึ่งเรียกว่า ใบเลี้ยง (cotyledon)

๖. ราก

            เมื่อเมล็ดเริ่มงอก ส่วนของรากปฐมภูมิ (primary root) จะเจริญออกมาก่อน และมีการพัฒนากลายเป็นรากแก้ว (tap root) โดยปกติจะมีเพียงรากเดียว และมีการแตกแขนงออกไปเรียกว่า รากทุติยภูมิ (secondary root) รากที่มีขนาดใหญ่เรียกว่า ไพโอเนียร์รูต (pioneer root) และที่มีลักษณะเป็นรากขนาดเล็กเป็นกระจุก เจริญมาจากรากแก้วเรียกว่า รากฝอย (fibrous root) โดยทั่วไปรากส้มจะอยู่ในดินระดับค่อนข้างตื้นประมาณ ๕๐ เซนติเมตร รากจะทำหน้าที่หยั่งยึดลำต้นกับพื้นดิน ดูดแร่ธาตุอาหารและน้ำ