เล่มที่ 26
ส้ม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของส้ม

            ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของส้ม มีอยู่มากมายหลายอย่างด้วยกัน ปัจจัยสำคัญๆ ที่ควรทราบ ได้แก่


๑. ธาตุอาหาร

            ส้มต้องการธาตุอาหาร จำนวน ๑๖ ธาตุ เช่นเดียวกันกับพืชชั้นสูงทั่วๆ ไป ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน โบรอน ทองแดง เหล็ก แมงกานีส โมลิบดีนัม สังกะสี และคลอรีน ธาตุอาหารแต่ละชนิด มีบทบาท และหน้าที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของส้ม ที่แตกต่างกันไป

๒. ดิน

            ดินคือ แหล่งธาตุอาหารที่สำคัญที่สุดของพืช ลักษณะดินที่เหมาะสมต่อการปลูกส้ม ควรเป็นดินที่มีสมบัติทางกายภาพดี เช่น สามารถอุ้มน้ำได้มากพอ และสามารถระบายน้ำส่วนเกินออกไปได้ดี มีออกซิเจนเพียงพอ มีระดับน้ำใต้ดินไม่สูงจนเกินไป หรือมีวิธีการในการควบคุมได้ ตลอดจนควรเป็นดิน ที่สนองธาตุอาหารที่จำเป็นต่อส้มครบทุกธาตุ โดยให้แต่ละธาตุเพียงพอ และมีความสมดุลกัน ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ดี จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของส้มอย่างมาก นอกจากนี้ การจัดการดินสำหรับดินแต่ละประเภทอย่างถูกต้อง จะมีบทบาทสำคัญโดยตรง ต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตส้ม

๓. น้ำและคุณภาพของน้ำ

            น้ำมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างมาก โดยจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ ที่สำคัญ เช่น

            ๓.๑ ทำหน้าที่ช่วยลำเลียงธาตุอาหารจากดินขึ้นสู่ต้นพืช และลำเลียงธาตุอาหารจากใบไปยังส่วนอื่นๆ
            ๓.๒ เป็นส่วนร่วมในการทำปฏิกิริยาทางเคมีของต้นพืชเกือบทุกกรณี
            ๓.๓ เป็นวัตถุดิบในกระบวนการสังเคราะห์แสง
            ๓.๔ ทำหน้าที่ช่วยระบายความร้อนออกจากใบพืช โดยกระบวนการคายน้ำ
            ๓.๕ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญภายในเซลล์พืช


๔. แสงแดด

            อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ลม ปริมาณน้ำฝน ปัจจัยด้านสภาพลมฟ้าอากาศ ได้แก่ แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ลม และปริมาณน้ำฝน ทั้งในกรณีที่มากหรือน้อยกว่าปริมาณ ที่ต้นส้มต้องการ จัดเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการผลิตส้ม การเจริญเติบโต ความแข็งแรงของต้น การติดผล และคุณภาพของผลเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ส้มที่ปลูกในภาคเหนือ ซึ่งมีอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างกลางวันกับกลางคืน จะทำให้ผลส้ม มีการสร้างเม็ดสีที่ผิวเปลือก ได้ดีกว่าส้มที่ปลูกในภาคกลาง หรือภาคใต้

๕. พันธุ์ส้มและความสมบูรณ์ของต้น

            การเจริญเติบโตของต้นส้ม และผลส้ม จะแตกต่างกันไปตามพันธุ์หรือชนิดของส้ม ส้มบางพันธุ์มีขนาดต้นเตี้ย หรือมีการเจริญเติบโตช้า บางพันธุ์มีขนาดทรงพุ่มใหญ่ หรือมีการเจริญเติบโตเร็ว การออกดอก และการติดผลของส้มแต่ละพันธุ์ จะมีความแตกต่างเช่นเดียวกัน ส้มบางพันธุ์ออกดอกง่าย และจำนวนมาก มีการติดผลดี เช่นเดียวกันกับความสมบูรณ์ของต้น ซึ่งเกิดจากการจัดการ หรือการดูแลของเกษตรกร ที่จะมีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของส้มและผลผลิตส้ม

๖. โรคและแมลงศัตรู

            ส้มเป็นพืชที่มีโรคและแมลงศัตรูมากมายหลายชนิดด้วยกัน และเนื่องจากส้ม ที่ปลูกในประเทศไทย จะมีการผลิยอดอ่อนได้เกือบตลอดปี ประกอบกับภูมิอากาศที่ร้อนชื้น จึงส่งเสริมให้โรคและแมลงศัตรูพืชสามารถเกิด และเข้าทำลายส้มได้ตลอดปีเช่นกัน หากส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นส้มถูกโรคหรือแมลงศัตรูเข้ารบกวนทำลาย จะเกิดผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ทำให้เกิดอาการผิดปกติ และทำให้ผลผลิตเกิดความเสียหายได้อย่างมาก

๗. การปลูกและการดูแลปฏิบัติ

            ส้มเป็นไม้ผลยืนต้นที่มีอายุยืนนานหลายปีดังนั้น การปลูกและการดูแลปฏิบัติ ตั้งแต่การเลือกพื้นที่ปลูก การจัดการดินและแปลงปลูก การเลือกใช้ชนิดต้นพันธุ์ ชนิดของต้นตอ วิธีการปลูก การตัดแต่ง และจัดการทรงพุ่ม การให้ปุ๋ยและแร่ธาตุอาหาร การให้น้ำ การจัดการ หรือการบริหารศัตรูพืช ตลอดจนการจัดการฟาร์ม ฯลฯ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ และปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อให้ต้นส้มมีการเจริญเติบโตอย่างปกติ สมบูรณ์แข็งแรง สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามสายพันธุ์ หรือเป็นที่ต้องการของตลาด