เล่มที่ 4
ภูมิอากาศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ลักษณะภูมิอากาศทั่วไป

            ภูมิอากาศของประเทศไทยขึ้นอยู่กับลมมรสุมซึ่งพัด ตามฤดูกาลต่างๆ ดังนี้

ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

คือ ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม จะมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดในมหาสมุทรอินเดีย ลมนี้เป็นลมที่ร้อน และชุ่มชื้น (มีไอน้ำมาก) เมื่อพัดเข้าสู่ประเทศไทยจะทำให้มีเมฆมาก และมีฝนตกเกือบทั่วไป โดยเฉพาะตามบริเวณชายฝั่ง และเทือกเขาด้านรับลมจะมีฝนมากกว่าบริเวณอื่น

ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ

            คือ เริ่มประมาณกลางเดือนตุลาคมไป จนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้าสู่ประเทศไทย ลมนี้มีแหล่งกำเนิดในประเทศจีน มีคุณสมบัติหนาวเย็น และค่อนข้างแห้ง (มีไอน้ำน้อย) ดังนั้นเมื่อพัดเข้าสู่ประเทศไทย จึงทำให้อากาศในระยะนี้ หนาวเย็นเกือบทั่วไป และท้องฟ้าจะค่อนข้างโปร่งเป็นส่วนมาก เว้นแต่ทางฝั่งตะวันออกของภาคใต้ ท้องฟ้าจะมีเมฆมาก เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือนี้ เมื่อผ่านน่านน้ำในบริเวณอ่าวไทยก็จะรับเอาไอน้ำไว้ จึงทำให้อากาศมีความชุ่มชื้นมาก และเมื่อลมนี้พัดเข้าสู่ฝั่งตะวันออกของภาคใต้ อากาศจะลอยสูงขึ้น และเย็นลง ทำให้เกิดเมฆ และฝนขึ้น

            การเริ่มต้นและการสิ้นสุดของลมมรสุมทั้งสองดังกล่าวข้างต้นนี้ ในแต่ละปีจะ เปลี่ยนแปลงได้เป็นระยะพอสมควร ระยะเริ่มต้นของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้นั้น เมื่อคิดเฉลี่ยแล้วจะตกประมาณกลางเดือนพฤษภาคม และสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนระยะเริ่มต้นของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มประมาณกลางเดือนตุลาคม และสิ้นสุดประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือนี้อาจพัดเข้าสู่ประเทศไทยได้เป็นครั้งคราว ในเดือนมีนาคมหรือเดือนเมษายน ซึ่งจะทำให้เกิด พายุฤดูร้อนขึ้นได้อย่างรุนแรงในบางแห่งบางตำบลของประเทศไทยตอนบน (ประเทศไทยตอนบน หมายถึงบริเวณตั้งแต่ก้นอ่าวไทยขึ้นไปทางเหนือ หรือประมาณละติจูด ๑๓° ๓๐' เหนือ ถึงละติจูด ๒๐° ๓๐' เหนือ)