อุณหภูมิ
ประเทศไทยอาจแบ่งออกเป็น ๒ อาณาเขตอย่างกว้างๆ คือ ประเทศไทยตอนบน ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่วนอีกอาณาเขตหนึ่งคือ ประเทศไทยตอนล่าง ได้แก่ ภาคใต้ทั้งหมด
ในประเทศไทยตอนบน
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นผืนแผ่นดิน มีส่วนที่ติดกับฝั่งทะเลบ้างเล็กน้อยทางตอนใต้ และเนื่องจากเป็นอาณาเขตที่อยู่ในเขตโซนร้อน ดังนั้น อุณหภูมิของอากาศจึงอยู่ในเกณฑ์สูงเกือบทั่วไป เว้นแต่ทางบริเวณที่อยู่ใกล้ทะเล ระดับอุณหภูมิในตอนบ่ายจะลดลงบ้าง เนื่องจาก มีลมทะเลพัดเข้ามา ระดับอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในตอนบ่ายสำหรับประเทศไทยตอนบนนั้น จะเปลี่ยนอยู่ในระหว่าง ๓๓° ซ. ถึง ๓๘°ซ. แต่ในเดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในรอบปีนั้น อุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ในระดับสูงมาก เช่น เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๐๓ อุณหภูมิสูงสุดที่จังหวัดอุตรดิตถ์ขึ้นถึง ๔๔.๕°ซ. แต่ที่ กรุงเทพมหานคร อุณหภูมิสูงสุดวัดได้ ๓๙.๙° ซ. เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๔๘๔ ส่วนพิสัยประจำวัน (ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิต่ำที่สุด และสูงที่สุด) ของประเทศไทยตอนบนในช่วงฤดูร้อน จะอยู่ระหว่าง ๘°ซ. ถึง ๑๒°ซ. ดังนั้นอุณหภูมิต่ำสุดจึงมีค่าประมาณ ดังนี้
- ภาคเหนือ ๒๑.๐°ซ.
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒๓.๐°ซ.
- ภาคกลาง ๒๔.๐°ซ.
- ภาคตะวันออก ๒๓.๔°ซ.
สำหรับในฤดูหนาว ซึ่งมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้าสู่ประเทศไทยนั้น อุณหภูมิของประเทศไทยตอนบนจะลดลงทั่วไป และเป็นฤดูกาลที่เหมาะกับการท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศ ซึ่งจะอยู่ระหว่างกลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ พิสัยของอุณหภูมิในระยะนี้จะมีค่าค่อนข้างสูงมาก เฉลี่ยประมาณ ๑๓°ซ. ถึง ๒๐°ซ. และมีระดับอุณหภูมิสูงสุดในตอนบ่ายประมาณ ๓๑.๐°ซ. ส่วนระดับอุณหภูมิต่ำสุดจะมีค่าประมาณ ๑๕°ซ. อย่างไรก็ตาม กระแสอากาศที่หนาวเย็นจากประเทศจีน อาจแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนอย่างฉับพลันได้เป็นครั้งคราว ลักษณะเช่นนี้ จะทำให้ระดับอุณหภูมิลดลงฮวบฮาบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ รวมทั้งภาคกลางด้วย เช่น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ในเดือนมกราคม ปรากฏว่า ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีกำลังแรงมากได้พัดเข้ามาสู่ประเทศไทย ทำให้ระดับอุณหภูมิของประเทศไทยตอนบนลดลงอย่างผิดปกติทั่วทุกภาค กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๙๘ ปรากฏว่าอุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ ๐.๑°ซ. ที่จังหวัดเลย และนับว่าเป็นสถิติต่ำที่สุดของประเทศไทย สำหรับกรุงเทพมหานคร อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ ๙.๙°ซ. เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๙๘ นับว่าเป็นสถิติต่ำที่สุดของจังหวัดนี้
ในประเทศไทยตอนล่างหรือภาคใต้
ระดับอุณหภูมิตลอดทั้งปีไม่สู้จะมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นบริเวณที่ติดกับทะเลทั้งสองฝั่ง ระดับอุณหภูมิที่สูงเกินไป หรือต่ำเกินไปนั้นไม่ค่อยปรากฏ ความแตกต่างประจำวันของอุณหภูมิต่ำที่สุด และสูงที่สุดของบริเวณนี้ มีค่าประมาณ ๑๑.๐°ซ. กล่าวคือ อุณหภูมิต่ำสุดในตอนเช้าจะมีประมาณ ๒๒.๐°ซ. และอุณหภูมิสูงสุดในตอนบ่ายจะมีค่าประมาณ ๓๒.๐°ซ. สำหรับอุณหภูมิที่สูงที่สุดนั้นเคยขึ้นสูงถึง ๓๙.๐°ซ. ที่อำเภอบ้านดอน สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๙๒ และอุณหภูมิต่ำที่สุดวัดได้ ๑๓.๐°ซ. ที่จังหวัดชุมพรเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๖
แสดงอุณหภูมิเฉลี่ยของสถานีอุตุนิยมวิทยาบางแห่ง
สำหรับความแตกต่างระหว่างระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวที่สุด (ธันวาคม หรือมกราคม) กับของเดือนที่ร้อนที่สุด (เมษายน หรือพฤษภาคม) นั้นมีการเปลี่ยน แปลงไม่มากนัก กล่าวคือ มีค่าประมาณ ๓.๐°ซ. แต่ถ้าเป็นอาณาเขตที่อยู่ทางตอนใต้ของภาค ความแตกต่างจะมีค่าประมาณ ๒.๐°ซ. เท่านั้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าบริเวณ ภาคใต้นี้มีอากาศอบอุ่นตลอดปี