เล่มที่ 4
การศาสนา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ศาสนาขงจื๊อ

            ศาสนาขงจื๊อเกิดในประเทศจีน และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งแห่งสังคม และความคิดของคนจีนทั้งมวลอย่างแยกไม่ออกทีเดียว คัมภีร์ของขงจื๊อจึงมิได้ถือว่า เป็นคัมภีร์ของนิกายใดนิกายหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ถือว่า เป็นมรดกทางวรรณกรรม ของประชาชนชาวจีนทั้งมวล
ศาสนาขงจื๊อ
ศาสนาขงจื๊อ
            ขงจื๊อเกิดเมื่อ พ.ศ. ๘ ในแคว้นหลู่ซึ่งเป็นแคว้นเล็กๆ ปัจจุบันอยู่ในมณฑลชานตุง บิดาชื่อ คุงฉุเหลียงฮี หรือ ขงสกเลี่ยงขึก มารดา ชื่อ จิน ไจ ท่านเกิดในระหว่างที่บ้านเมืองกำลังยุ่งเหยิง บรรพบุรุษของท่านเป็นผู้ดีเก่าซึ่งมิได้มั่งมีมากนัก หลังจากที่ท่านเกิดแล้ว ตระกูลของท่านก็ตกต่ำยากจนลง บิดาของท่านถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็กอยู่มาก ท่านจึงต้องต่อสู้ดิ้นรน เพื่อแก้ปัญหา เรื่องการศึกษา และการดำรงชีวิตอยู่ในโลกตามลำพัง

            ในตอนแรกท่านได้เข้ารับราชการเป็นผู้ว่าการฉางหลวง มีหน้าที่เก็บภาษีข้าวเปลือก ที่ชาวนาจะนำขึ้นฉางหลวงของกษัตริย์ แห่งแคว้นหลู่ ท่านเป็นผู้มีความรอบรู้ในจารีตประเพณีดีกว่าผู้ใดทั้งสิ้น จนกลายเป็นอาจารย์ของคนทั้งหลายไปโดยปริยาย การที่ท่านได้เข้ารับราชการนี้ ทำให้ท่านได้เห็นความเหลวแหลกเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา

            ขงจื๊อได้รับราชการมาด้วยความสามารถสูง จึงได้รับเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเป็นผู้ว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านได้วางกำหนดข้อบังคับให้เป็นข้อประพฤติ ปฏิบัติของประชาชน ในไม่ช้าบ้านเมืองก็ไม่มีคดีอาญาเลย โจรผู้ร้ายก็สงบราบคาบ ใน ที่สุดท่านก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้รักษาการประธานมนตรีของแคว้นหลู่ ทำให้แคว้นหลู่ รุ่งเรื่องเป็นรัฐชั้นนำรัฐหนึ่ง จนเป็นเหตุให้เจ้าผู้ครองรัฐอื่นๆ อิจฉา หาอุบายทำให้เจ้า ครองแคว้นหลู่กับขงจื๊อต้องผิดใจกัน ในที่สุดขงจื๊อก็ต้องออกจากตำแหน่ง แล้วก็พา สานุศิษย์ท่องเที่ยวไปยังรัฐต่างๆ โดยหวังจะชักชวนเจ้าครองนครทั้งหลายให้ปฏิบัติตาม คำแนะนำของตน แต่ท่านต้องได้รับความผิดหวังตลอดมา บางครั้งถึงกับทำให้ท่านต้อง อดอาหาร และไม่มีร่มไม้ชายคาเป็นที่พักอาศัย ในระหว่างเดินทางก็มีอยู่บ่อยๆ

            เมื่อท่านแก่ตัวลง มีอายุได้ ๖๘ ปี ก็เดินทางกลับมายังแคว้นหลู่อีก ใช้เวลาในบั้น ปลายชีวิตชำระรวบรวมวรรณกรรมต่างๆ ผลงานที่ขงจื๊อได้จัดทำนี้มีชื่อว่า "วูกิง" หรือ คัมภีร์ทั้ง ๕ อันได้แก่

(๑) ซือกง หรือ คัมภีร์คีตคาถา
(๒) ซูกิง หรือ คัมภีร์ประวัติศาสตร์
(๓) ชุนชิว หรือ คัมภีร์บันทึกเหตุการณ์ฤดูวสันต์และฤดูสารท
(๔) โลยเกง หรือ คัมภีร์ จารีตพิธี และ
(๕) เอียะเกง หรือ คัมภีร์เรื่องการเปลี่ยนแปลง

            เมื่อขงจื๊อถึงแก่กรรมแล้ว บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายได้รวบรวมบรรดาสุภาษิต และคำสั่งสอนของท่านซึ่งมีอยู่มากมาย ขึ้นเรียกว่า คัมภีร์ลุ่นยื้อ เมื่อท่านถึงแก่กรรมแล้วประมาณ ๑๐๐ ปี ก็มีศิษย์รุ่นใหม่ ของท่านชื่อเม่งจื๊อ เป็นผู้เผยแผ่คำสั่งสอนของขงจื๊อ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

            คำสอนของขงจื๊อมีอยู่มากมาย อย่างเช่น ในเรื่องการศึกษา ท่านได้กล่าวไว้ว่า "เมื่อเดินอยู่ด้วยกันสามคน ข้าพเจ้ามักมีครูเสมอ ข้าพเจ้าสามารถเลือกคุณสมบัติที่ดีๆ ของคนคนหนึ่ง เอามาประพฤติเลียนแบบได้ และเลือกเอาคุณสมบัติที่เลวๆ ของอีกคนหนึ่ง มาแก้ไขตัวข้าพเจ้าเองได้" และท่านได้สอนไว้อีกว่า "เรียนแต่ไม่คิด ก็เป็นการเสียเปล่า คิดแต่ไม่เรียน ก็เป็นอันตราย" เพราะผู้ที่เรียนไปแล้ว ถ้าไม่รู้จักนำเอาความรู้นั้น ไปพิจารณา หรือคิดทำอะไรต่างๆ ให้งอกเงยขึ้นมา ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เสียเงินเสียเวลาเปล่าๆ แต่พวกที่ชอบคิด โดยไม่ได้เรียนให้รู้เสียก่อนนั้น มักก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่สังคมมาก จึงนับว่า เป็นอันตรายทั้งแก่ตัวเองและสังคม

            ขงจื๊อได้สอนในเรื่องมนุษยธรรมไว้ว่า "ให้เอาใจเขามาใส่ใจเราดูบ้าง เราไม่ชอบให้ใครทำอะไรต่อเรา เราก็ไม่ควรทำสิ่งนั้นต่อเขา เราอยากให้เขารักเรา เราก็ต้องรักเขา"

            ท่านได้สอนให้บุตรธิดามีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ สำคัญที่สุด การแสดงความกตัญญูนั้น ไม่ใช่เพียงให้อาหาร ที่อยู่อาศัย เป็นต้น แก่บิดา มารดาเท่านั้น เพราะแม้สุนัข แมว ที่เราเลี้ยงมันไว้ เรายังให้อาหารมันเลย ข้อสำคัญก็คือเรา จะต้องมีความรู้สึกเคารพนับถือบิดามารดาด้วยใจจริง ถ้าหากเราไม่ให้ท่านด้วยความเคารพ นับถือแล้ว ก็คงไม่ผิดอะไรกับที่เราให้อาหารสัตว์ที่เราเลี้ยงไว้เป็นแน่ ถ้าเห็นบิดามารดา ประพฤติผิด บุตรธิดาอาจทัดทานท่านได้ แต่ต้องทำด้วยกิริยาอาการที่สุภาพ แม้ท่านจะไม่เชื่อก็อย่าเพิ่งเลิกล้มความตั้งใจเสีย

            นอกจากนั้นท่านยังได้แนะนำในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองบ้านเมืองกับ ประชาชนพลเมือง ระหว่างบิดามารดากับบุตรธิดา ระหว่างสามีกับภรรยา ระหว่างผู้ใหญ่ กับผู้น้อย และระหว่างเพื่อนไว้ด้วย ถ้าหากทุกคนปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ได้แล้ว คนทั้งหลายในโลกก็จะอยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุข

            ในประเทศไทย ชาวจีนทั่วๆ ไปที่นับถือพระพุทธศาสนา ก็มักจะนับถือศาสนา ขงจื๊อควบคู่ไปด้วย มีผู้ที่นับถือศาสนาขงจื๊อจริงๆ ประมาณไม่ถึง ๕๐๐,๐๐๐ คน คิด เป็นร้อยละก็ประมาณ ๑.๗๕ ของพลเมืองของประเทศ